ปัญหามุสลิมกับปัญหาชาวยิว : มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น

ในขณะนี้เกิดปัญหามุสลิมแพร่ระบาดในยุโรปและสหรัฐ รุนแรงถึงขั้นเป็น “อาการกลัวอิสลาม” ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อน แก้ไขยาก ทั้งยังอาจรุนแรงกว่านี้อีก

ในอดีต ในยุคเรืองปัญญาหรือยุคแสงสว่างทางปัญญา (ราวศตวรรษที่ 18 ที่ยุโรปได้ออกจากสมัยกลางหรือยุคมืด) ยุโรปได้เผชิญกับปัญหาทำนองคล้ายกันนี้ เรียกว่า “ปัญหาชาวยิว” พัฒนาไปสู่ความเกลียดชังต่อต้านชาวยิว จนถึงขั้นเกิดกรณีฮอโลคอสหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เป็นความน่าอับอายในประวัติศาสตร์ยุโรปที่กล่าวว่า ตนได้ก้าวสู่ยุคเรืองปัญญาและยุคของเหตุผลแล้ว

หวังว่าโลกตะวันตกคงจะไม่กระทำผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ซ้ำอีกในกรณีปัญหามุสลิม

ที่จะเกิดโศกนาฏกรรมใหญ่กว่าปัญหาชาวยิวเป็นอันมาก

ปัญหามุสลิมใหญ่สามประการ

ปัญหามุสลิมในสายตาของยุโรป-สหรัฐและโลกตะวันตกโดยรวมมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ได้แก่

ก) การปะทะกันทางวัฒนธรรมตะวันตกที่เป็นแบบโลกาภิวัตน์ มหานครโลกมุสลิมที่เป็นลัทธิชนเผ่า

ข) การทำยุโรป-สหรัฐ ให้เป็นอิสลาม โดยการอพยพ เพิ่มสัดส่วนผู้ถืออิสลามให้สูงกว่าชาวคริสต์ นำเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมอิสลาม มาครอบงำเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมตะวันตก

ค) ความรุนแรง การก่อการร้าย อาชญากรรมสงคราม

จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

1)การปะทะกันทางวัฒนธรรม ปัญหานี้ตั้งเค้าในยุโรปมานานแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยตะวันตกเห็นว่า ตนเป็นตัวแทนยุคแสงสว่างทางปัญญา ยุคแห่งเหตุผลและวิทยาศาสตร์ ขณะที่มุสลิมอยู่ในโลกของศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ปฏิเสธวิทยาศาสตร์และปรัชญา

ในที่นี้จะยกตัวอย่างทัศนะของนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนที่มีอิทธิพลของฝรั่งเศสคนหนึ่งคือ เออร์เนสต์ เรอนอง (1823-1892) ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของความคิดเสรีนิยมก้าวหน้าของฝรั่งเศสและยุโรปในสมัยนั้น

งานส่วนใหญ่ของเรอนองว่าด้วยเรื่องศาสนาคริสต์ พระเยซู ชาวยิว และความคิดเรื่องรัฐชาติเชิงอัตวิสัยที่เน้นเรื่องเชื้อชาติ

เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อต้านชาวยิว เห็นว่าชนชาติยิวนั้นอ่อนด้อยกว่าชาวอารยัน

จิตใจของชนชาติยิวนั้นเป็นแบบลัทธิคัมภีร์ ขาดความรู้สึกของการเป็นมหานครที่มีอารยธรรม

ชนชาติยิวเป็นชนชาติที่ยังพัฒนาไปไม่สมบูรณ์

ที่เรอนองสนใจเรื่องชาวยิวมากเนื่องจากปัญหาชาวยิวกำลังขึ้นสู่กระแสสูง จำต้องเร่งแก้ไข

แต่กับชาวมุสลิมเขาก็คิดไม่ต่างกันนักเพียงแต่พูดถึงน้อย กระนั้นก็ก่อให้เกิดกระแสคลื่นการวิพากษ์วิจารณ์มาจนถึงทุกวันนี้

ในปาฐกถาที่ซอร์บอนน์ ปี 1883 ชื่อ “อิสลามกับวิทยาศาสตร์” เขาได้แสดงทัศนะว่า ศาสนาอิสลามเปรียบเหมือน “สายคาดเหล็ก” ที่ครอบศีรษะของชาวมุสลิมซึ่งป้องกันไม่ให้ความคิดที่เป็นเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาในหัว

เป็นเหตุให้สังคมอิสลามล้าหลังเมื่อเทียบกับสังคมยุโรป

เรอนองกล่าวว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.775 จนถึงกลางทศวรรษที่ 13 ช่วงเวลาราว 500 ปี ได้มีนักวิชาการและนักคิดที่โดดเด่นจำนวนมากในประเทศมุสลิมจนกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นโลกมุสลิมเหนือกว่าโลกชาวคริสต์

แต่ในศตวรรษแรกของศาสนาอิสลามที่ถือกำเนิดในพวกอาหรับนั้นห่างไกลกันมากกับสิ่งที่เรียกว่าปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์

นักขี่ม้าชาวอาหรับที่หันมาถืออิสลามเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อการเข้าพิชิตและปล้นชิงเท่านั้น

พวกเขาอาจเป็นนักรบที่เก่งที่สุดในโลก แต่ก็เป็นคนแห่งปรัชญาน้อยที่สุด

“เมื่ออิสลามอยู่ในอำนาจของชนชาติอาหรับ นั่นคืออยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้ากาหลิบสี่พระองค์แรกและภายใต้ราชวงศ์อุมัยยะห์ (มีกรุงดามัสกัสเป็นนครหลวง) ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ปรากฏกระแสการเคลื่อนไหวเชิงปัญญาแบบโลกวิสัย…(ในสมัยพระเจ้ากาหลิบโอมาร์) หลักการที่พระองค์ใช้ในการพิชิตโลก ในทางเป็นจริงได้ทำลายการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการและการทำงานทางความคิดหลากหลายประการ”

“วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ของของอาหรับ” แต่เป็นผลงานรวมของหลายชนชาติที่เขียนขึ้นในภาษาอาหรับ โดยเฉพาะชาวเปอร์เซียที่เริ่มมีอิทธิพลสูงขึ้นตั้งแต่ปี 750 มีนครแบกแดดเป็นศูนย์กลาง

ที่สำคัญคือวัฒนธรรมกรีก “กรีกเป็นแหล่งความรู้และการคิดที่ถูกต้อง ความเหนือกว่าของซีเรียและแบกแดดต่อโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาละตินมาจากข้อเท็จจริงเดียว ได้แก่ วัฒนธรรมกรีกได้เข้าซึมซาบในหมู่พวกเขามากกว่า”

แต่ตะวันตกก็ค่อยๆ สลัดความอ่อนด้อยของตนโดยอาศัยวิทยาศาสตร์จากมุสลิม

“จากราวปี 1275 ขบวนการเคลื่อนไหวทางปัญญาทั้งสองแห่งเริ่มแสดงตัวชัดเจน ในด้านหนึ่งประเทศมุสลิมจมสู่ความเสื่อมถอยทางปัญญาอย่างน่าเศร้าใจที่สุด ในอีกด้านหนึ่ง ยุโรปตะวันตกได้ปักใจเด็ดเดี่ยวในการก้าวเดินไปบนหนทางการศึกษาวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อค้นหาความจริง”

เรอนองสรุปว่า “วิทยาศาสตร์คือจิตวิญญาณของสังคม เพราะว่าวิทยาศาสตร์เป็นเหตุผล วิทยาศาสตร์สร้างกองทัพที่เหนือกว่า อุตสาหกรรมที่เหนือกว่า และวันหนึ่งในอนาคตจะสร้างสังคมที่เหนือกว่า ผมหมายถึงสังคมที่สามารถสร้างความยุติธรรมได้มากเท่ากับความต้องการจำเป็นของชีวิต”

(ดูปาฐกถาของ Ernest Renan ชื่อ Islam and Science แสดงเมื่อ 29.03.1883 แปลโดย Sally P. Ragep ใน mcgill.ca 2011)

หลังจากที่ปาฐกถาของเรอนองได้ตีพิมพ์ในวารสาร ก็ได้มีปัญญาชนมุสลิมสำคัญรุ่นแรกคนหนึ่งคือ จามาล อุดดีน อัล-อัฟกานี (1839-1897 เรียกกันสั้นๆ ว่า อัล-อัฟกานี) ได้เขียนจดหมายตอบโต้อย่างสุภาพ

เป็นการโต้เถียงทางวิชาการครั้งใหญ่ระหว่างอิสลามกับศาสนาคริสต์และตะวันตกเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้

อัล-อัฟกานี เข้าไปเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านอังกฤษ พื้นเพเป็นชาวเปอร์เซีย ถือนิกายชีอะห์ เป็นนักเคลื่อนไหวและผู้นำทางความคิด มีส่วนในการสร้างลัทธิอิสลามสมัยใหม่ ต้องการรวมนิกายอิสลามทั้งหลายให้เป็นเอกภาพ

ในการตอบโต้อัล-อัฟกานี ชี้ว่าศาสนาอิสลามก็ไม่ต่างอะไรกับศาสนาคริสต์ในศักยภาพที่จะขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางอารยธรรม เหตุผลและวิทยาศาสตร์

มีความบางตอนว่า

“ไม่มีชาติใดที่ในช่วงแรกสุดของการตั้งตัว จะสามารถใช้เหตุผลที่บริสุทธิ์มาชี้นำ จากการตกอยู่ในความน่าสะพรึงกลัว…(มัน) จึงจำเป็นที่มนุษย์จะมองออกไปภายนอก… (ถึงพระเจ้าผู้ดำรงอยู่สูงสุด) เนื่องจากไม่เข้าใจสาเหตุของเหตุการณ์และความลับของสิ่ง (มนุษย์) จึงจำต้องเชื่อฟังคำสอนของครูและปฏิบัติตามคำสั่ง… ถ้าหากเป็นความจริงว่าศาสนามุสลิมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ แต่ใครจะกล้ายืนยันว่าอุปสรรคนี้จะไม่หมดไปในวันหนึ่งข้างหน้า เหตุใดในประเด็นนี้ศาสนามุสลิมจึงต้องต่างกับศาสนาอื่น? ทุกศาสนาก็ล้วนแต่ไม่ยอมทนต่อความเห็นที่ต่างออกไปในทางใดทางหนึ่ง ศาสนาคริสต์… ดูเหมือนรุดหน้าไปสู่ความก้าวหน้าและวิทยาศาสตร์ ขณะที่สังคมมุสลิมยังไม่ปลดปล่อยตนเองจากคำสั่งสอนเดิมของศาสนา อย่างไรก็ตาม ควรจะเห็นความจริงว่า ศาสนาคริสต์เกิดก่อนศาสนามุสลิมหลายศตวรรษ ผมไม่สามารถหมดความหวังว่าสังคมของพระโมฮัมหมัดจะไม่ประสบความสำเร็จในการทำลายอุปสรรคและก้าวเดินไปตามทางแห่งอารยธรรมที่สังคมตะวันตกได้เดินมาก่อนในวันหนึ่ง เพราะว่าแม้ความเชื่อในศาสนาคริสต์ที่มีความเข้มงวดและไม่ยอมทนต่อความเห็นต่างก็ยังถูกพิชิตมาแล้ว”

(ดูบทความของ Nikki R. Keddie ชื่อ Imperialism, Science and Religion : Two Essays by Jamal al-Din al-Afghani, 1883 and 1884 ใน edisciplinas.usp.br 2004)

หลังการถกเถียงทางวิชาการในครั้งนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมโหฬารในความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ มีการพัฒนาในประเทศมุสลิมและศาสนาอิสลามเป็นอันมาก ที่เด่นเช่น

ก) มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (1881-1938) ผู้สร้างตุรกีใหม่ที่ทันสมัยและเป็นแบบโลกวิสัย

ข) เกมาล อับเดล นัสเซอร์ (1915-1970) สร้างลัทธิรวมชาตินิยมอาหรับ เป็นแบบโลกวิสัย ต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมและการรุกรานของอิสราเอลจนกระทั่งถึงแก่กรรม ลัทธิรวมชาตินิยมอาหรับค่อยๆ เสื่อมไปในการต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก

ค) กษัตริย์อิบน์ ซะอุด (1876-1953) ผู้ก่อตั้งประเทศซาอุดีอาระเบีย และรับเอาอิสลามนิกายวะฮาบีที่เคร่งและทรงอิทธิพลมา (นิกายนี้ก่อตั้งโดยนักการศาสนามุฮัมมัด บินอัลดิลวะฮาบ (1703-1792) ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า นิกายซาละฟี ใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองในระบอบราชาธิปไตย และเป็นพันธมิตรยาวนานกับสหรัฐจนถึงปัจจุบัน

ง) หะซัน อัล-บันนา (1906-1949) ผู้สร้างขบวนการภราดรภาพมุสลิม เป็นกลุ่มฟื้นฟูอิสลาม (ก่อตั้งในอียิปต์ ปี 1928) ได้รับอิทธิพลจากนิกายวะฮาบี มีคำขวัญว่า “อัลลอฮ์คือเป้าหมายของเรา และท่านศาสดาคือแบบอย่างของเรา และอัล-กุรอานคือธรรมนูญของเรา การต่อสู้ในหนทางศาสนาคือแนวทางของเรา และการตายในหนทางอัลลอฮ์คือความหวังสูงสุดของเรา” ขบวนการภราดรภาพมุสลิมสามารถยืนยงและปรับตัวท่ามกลางความยากลำบาก และ สถานการณ์ที่ซับซ้อนได้จนถึงทุกวันนี้

จ) รูฮูลลอฮ์ โคมัยนี (1900-1989) ผู้นำการศาสนาของอิหร่าน ทำการปฏิวัติอิสลาม นำกฎหมายอิสลามมาใช้ และพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบอิสลามขึ้น เป็นอริกับสหรัฐและตะวันตกตั้งแต่ทำการปฏิวัติสำเร็จในปี 1979

ฉ) มหาธีร์ โมฮัมหมัด (เกิด 1925) ผู้นำพาประเทศมาเลเซียสู่ระดับโลก ประสานการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยบวกชาติภูมินิยม (นโยบายภูมิบุตร) บวกศาสนาอิสลามที่สร้างความเป็นเอกภาพไม่ใช่ความแตกแยกและต่อสู้กันเอง เขากล่าวปราศรัยในการประชุมสุดยอดอิสลามครั้งที่สิบ ปี 2003 ว่า “ในระยะกว่า 1,400 ปีมานี้ การตีความศาสนาอิสลามโดยผู้รู้ ได้แก่ บรรดาอาจารย์ต่างๆ ได้ตีความศาสนาแล้วตีความอีก ซึ่งคำสอนหนึ่งเดียวที่ประกาศโดยท่านมุฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) แตกต่างกันไปมากมาย จนในปัจจุบันเรามีศาสนานับพัน ซึ่งมักบาดหมางใจกันรุนแรงถึงขั้นที่พวกเราเข้าต่อสู้กันและฆ่ากัน” (ดูเอกสารชื่อ Mahathir”s full speech ใน smh.com.au 22.10.2003) เป็นข้อสังเกตที่ดูเหมือนยิ่งเลวร้ายขึ้น เมื่อในปัจจุบันประเทศมุสลิมทิ้งระเบิดใส่กันเองหลายประเทศ

ช) เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (เกิด 1954 ถึงปัจจุบัน) ผู้นำทางการเมืองของตุรกี ที่จะเปลี่ยนตุรกีแบบโลกวิสัย มาเป็นเคร่งศาสนามากขึ้น เป็นอิสระจากการเมืองของยุโรป ขณะนี้กำลังมึนตึงกับตะวันตก

ในอีกด้านหนึ่งของประเทศตะวันตก แม้มีขบวนการฟื้นฟูศาสนาคริสต์ แต่ผู้คนจำนวนมากพากันเลิกถือศาสนา หรือไม่เชื่อในพระเจ้า หรือถือลัทธิไม่มีใครรู้ได้ จำนวนผู้ไม่นับถือศาสนา (Nones) ในสหรัฐและยุโรปได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นกลุ่มศาสนาใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอเมริกาเหนือและเกือบทุกประเทศในยุโรป

ปัจจุบัน (2015) ประชากรเกือบหนึ่งในสี่ของสหรัฐไม่ถือศาสนาใด ฝรั่งเศสจะกลายเป็นประเทศไม่ถือศาสนาใดในไม่ช้า เช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์และนิวซีแลนด์ ในอังกฤษและออสเตรเลียผู้ที่ถือศาสนาคริสเตียนจะไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ในอีกไม่นาน (ดูบทความของ Gabe Bullard ชื่อ The World”s Newest Major Religion : No Religion ใน news.nationalgeographic.com 22.04.2016)

เรื่องศาสนาก็ไม่ได้เกี่ยวกับความเหนือกว่าของโลกตะวันตกเท่าใดนัก ที่เป็นประเด็นก็คือประเทศมุสลิม ได้พัฒนาความทันสมัยของตนขึ้นมาทั้งทางการทหารและการอุตสาหกรรม บางประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ มีนครระดับโลกหลายแห่ง เช่น เตหะราน อิสตันบูล ไคโร จาการ์ตา ดูไบ กัวลาลัมเปอร์ เป็นศูนย์กลางการบินและการเงินของภูมิภาค นั่นทำให้การปะทะกันทางอารยธรรมตะวันตกและอิสลามยืดเยื้อต่อไป

ฉบับหน้าว่าด้วยการปะทะและไม่ปะทะกันทางอารยธรรม กับปัญหามุสลิมและปัญหาชาวยิวต่อ