วิสัยทัศน์เก่า & จินตนาการเดิม! ลัทธิอาวุธนิยมกับยุทธศาสตร์ทหาร : สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ชัยชนะในการรบ ไม่ใช่หลักประกันของความสำเร็จทั้งทางยุทธศาสตร์และการเมือง”

Colin S. Gray

นักยุทธศาสตร์ร่วมสมัย

หากถือเอาเส้นแบ่งเวลาจากยุคหลังสงครามเย็นที่เริ่มขึ้นในเวทีโลกด้วยปรากฏการณ์สำคัญของการรวมชาติของเยอรมนีและนำไปสู่การทุบกำแพงเบอร์ลินในเดือนพฤศจิกายน 1989 และส่งผลสืบเนื่องเป็นดังการล้มลงของโดมิโนก็คือ การสิ้นสุดของระบบการปกครองแบบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก

และในท้ายที่สุดก็คือ การล้มลงของระบบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต

สัญญาณความเปลี่ยนแปลงจากปลายปี 1989 ต่อเนื่องเข้าปี 1990 ก็คือ ระเบียบโลกแบบเดิมที่ถูกกำหนดจากความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของสองรัฐอภิมหาอำนาจในขณะนั้น คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต

หรือที่เรียกว่า “โลกยุคสงครามเย็น” กำลังเดินทางสู่จุดสิ้นสุด

และนำไปสู่ระเบียบใหม่ ซึ่งก็คือการก้าวสู่ “โลกยุคหลังสงครามเย็น”

ผลจากการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเช่นนี้เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหารของรัฐ เพราะจะเห็นได้ชัดเจนว่าภัยคุกคามได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

กล่าวคือ โลกของยุคสงครามเย็นเป็นสถานการณ์ของการเตรียมรับมือกับ “สงครามใหญ่” (major wars)

และขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่าประสบการณ์ของรัฐในบริบทของความขัดแย้งในเวทีโลก เป็นเรื่องของการสงครามขนาดใหญ่

ดังจะเห็นได้ว่าโลกจากต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงช่วงกลางของศตวรรษนี้ การสู้รบขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ถึง 2 ครั้งคือ สงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) และครั้งที่ 2 (1939-1945)

หรือเรียกในทฤษฎีการสงครามว่า สิ่งที่โลกเผชิญในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ สภาวะของ “สงครามเบ็ดเสร็จ” และเป็นรูปแบบสูงสุดของสงครามตามแบบ

สภาวะเช่นนี้มีส่วนอย่างมากกับการกำหนด “จินตนาการสงคราม” ของบรรดาผู้นำทหารทั้งหลาย

ประสบการณ์จากสงครามโลกทั้งสองครั้งทำให้เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นแล้ว ผู้นำทหารที่ยังดำรงชุดความคิดอยู่กับสถานการณ์เก่าจึงเน้นการเตรียมแผนการยุทธ์สำหรับสงครามใหญ่

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการเตรียมตัวกับสงครามใหญ่ครั้งใหม่

ซึ่งในสภาวะเช่นนี้การเร่งเสริมแสนยานุภาพด้วยการจัดหายุทโธปกรณ์จึงมักจะกลายเป็นแนวทางหลักในยุทธศาสตร์ทหาร

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความเชื่อว่า มิติหลักของการพัฒนากองทัพก็คือการเสริมสร้างระบบอาวุธให้มีความทันสมัย

ซึ่งทัศนะเช่นนี้วางอยู่บนสมมติฐานว่า สงครามชนะด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า

และอำนาจการยิงเช่นนี้มีอาวุธในรูปแบบต่างๆ เป็นตัวแทน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ของอำนาจการยิงที่เหนือกว่าก็คือ การมีอาวุธที่เหนือกว่าในความหมายของการเป็นอาวุธสมัยใหม่ที่มีสมรรถนะสูงจะเป็นเงื่อนไขโดยตรงให้ชนะสงคราม

ทัศนะแบบนี้อาจเรียกว่าเป็นความคิดแบบ “ลัทธิอาวุธนิยม”

และทัศนะเช่นนี้ก็สอดรับโดยตรงกับแนวคิดเรื่อง “สงครามตามแบบ” เนื่องจากสงครามเช่นนี้เป็นสงครามใหญ่และเปิดโอกาสให้รัฐใช้อาวุธได้โดยตรง

แม้จะเชื่อกันว่ายุคสงครามเย็นเป็นสถานการณ์ของสงครามใหญ่ เพราะการเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกขยายตัวไปสู่การรบใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามตะวันออกกลางก็ตาม

แต่สิ่งที่เป็นความจริงของยุคสงครามเย็นก็คือ การรบใดๆ ที่เกิดขึ้นในเวทีโลกนั้นไม่ขยายตัวไปสู่การเป็นสงครามใหญ่ของรัฐอภิมหาอำนาจขณะนั้น

ดังจะเห็นได้ว่าตลอดช่วงระยะเวลาของยุคสงครามเย็น ไม่มีสถานการณ์สงครามระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นจริงแต่ประการใด

แม้จะมีการเผชิญหน้าครั้งใหญ่จนเกือบจะกลายเป็นสงครามก็คือ “วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา” (The Cuban Missile Crisis)

แต่สุดท้ายก็จบลงอย่างสันติ

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์สงครามใหญ่ไม่กลายเป็นความเป็นจริงในทางยุทธศาสตร์ก็คือ ข้อจำกัดของสงครามที่เกิดจากการที่รัฐคู่แข่งขันมีสถานะเป็น “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์”

กล่าวคือ ถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้นและขยายตัวเป็นสงครามใหญ่แล้ว ก็คือการพาโลกเดินเข้าสู่ “สงครามนิวเคลียร์” ครั้งใหม่

แต่หลังจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 ซึ่งอำนาจจากการทำลายที่เกิดขึ้นย่อมจะส่งผลให้เกิดการทำลายล้างในขอบเขตขนาดใหญ่

และยังเห็นได้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่าอำนาจการทำลายของอาวุธนิวเคลียร์ในยุคหลังๆ ย่อมจะมีมากกว่าการระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

ประเด็นสำคัญอีกประการก็คือ ผลสืบเนื่องของการสงคราม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามคือ “การทำลายล้าง”

ฉะนั้น แม้การต่อสู้ในยุคสงครามเย็นจะมีลักษณะของการเผชิญหน้าและเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่

แต่ภายใต้การเผชิญหน้าเช่นนี้ก็เห็นถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมคู่ขนานกัน

การแข่งขันในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นนี้กลายเป็นอีกบริบทสำคัญของการต่อสู้ในสงครามเย็น

กล่าวคือ รัฐคู่แข่งขันทางอุดมการณ์จะต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจของตนเป็นปัจจัยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของประชาชน

มิติของการแข่งขันเช่นนี้อยู่นอกบริบทความเข้าใจของบรรดานักอาวุธนิยม ที่เชื่อว่าการเอาชนะรัฐตรงข้าม คือการเอาชนะด้วยสงคราม

และทั้งเชื่อว่ามาตรการทางทหารเท่านั้นที่จะบีบบังคับให้รัฐเป้าหมายยอมตามความต้องการของรัฐตนได้

โลกความเป็นจริงก็คือ หากเกิดสงครามขึ้นจริงๆ แล้ว ผลที่จะตามมาก็คือการถดถอยของสภาวะทางเศรษฐกิจ

ดังจะเห็นได้ว่าสงครามโลกสองครั้งมีส่วนอย่างมีนัยสำคัญในการทำลายความเข้มแข็งของรัฐมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม

หรือในกรณีความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินาในปัญหาเกาะฟอล์กแลนด์/มัลวีนัส ก็ชัดเจนว่าผลจากการสงครามที่เกิดขึ้นมีส่วนอย่างสำคัญต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามสมัยใหม่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงเกินไปต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การพาประเทศเข้าสู่สงครามในโลกสมัยใหม่จึงเป็นนโยบายที่มีราคาแพงและค่าใช้จ่ายสูง

และในบางกรณีอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายสูงที่รัฐไม่อาจแบกรับได้ จนอาจนำไปสู่การล้มละลายทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่นักอาวุธนิยมมักจะไม่อยากได้ยินก็คือ ข้อสังเกตทางยุทธศาสตร์ที่ว่าสงครามในยุคสงครามเย็น มีลักษณะเป็น “สงครามเล็ก”

หรือในความเป็นจริงก็คือ ปรากฏการณ์การรบในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในรูปแบบของ “สงครามนอกแบบ”

ไม่ว่าจะอยู่ในรูปลักษณ์ของสงครามกองโจร สงครามก่อความไม่สงบ หรือสงครามประชาชน

ซึ่งรูปลักษณ์เช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าสงครามไม่ได้มีขนาดใหญ่และไม่มีสถานะของการเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ ที่รัฐจะสามารถทุ่มทรัพยากรทุกอย่างเพื่อการสงครามหรือปฏิบัติการได้อย่างเต็มรูปแบบโดยไม่มีข้อจำกัดเช่นในอดีตได้แต่อย่างใด

และในความเป็นจริง สงครามเล็กเช่นนี้เรากลับเห็นความพ่ายแพ้ของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

จากความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูและแอลจีเรีย

สู่ความพ่ายแพ้ของสหรัฐในเวียดนาม และตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน…

ความพ่ายแพ้เช่นนี้กลายเป็นคำถามให้แก่บรรดานักอาวุธนิยมโดยตรงว่าทำไมสงครามไม่ถูกตัดสินด้วยอาวุธที่เหนือกว่า…

ทำไมสงครามไม่ชนะด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า

อย่างน้อยบทเรียนจากสนามรบในเวียดนาม แอลจีเรีย และอัฟกานิสถาน อาจจะทำให้นักยุทธศาสตร์ต้องขบคิดมากขึ้น

แต่สำหรับนักอาวุธนิยมแล้วไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเช่นไรก็ตาม ความเชื่อยังคงถูกวางไว้กับสมมติฐานหลักว่า การพัฒนากองทัพขึ้นอยู่กับการได้มาซึ่งยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูง

แม้ในยุคหลังสงครามเย็น นักอาวุธนิยมอาจจะรู้สึกว่ามีข้อโต้แย้งจากรูปธรรมของชัยชนะของสหรัฐในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (1991) สงครามอัฟกานิสถาน (2001) และสงครามอิรัก (2003)

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าชัยชนะในสามสนามรบดังกล่าวมาจากปัจจัยสำคัญของอาวุธสมรรถนะสูงที่กองทัพสหรัฐใช้

แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ก็อาจจะพบว่าชัยชนะไม่ได้มาจากปัจจัยด้านความเหนือกว่าของอาวุธแต่เพียงอย่างเดียว

สงครามทางอากาศในปี 1991 บ่งบอกถึงแนวคิดใหม่ของการใช้กำลังทางอากาศอย่างน่าสนใจ

และว่าที่จริง “แนวคิดการยุทธ์ใหม่” (ในความหมายของ operational doctrine) ต่างหากที่อาจจะต้องถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อชัยชนะ

เพราะเทคโนโลยีแต่เพียงลำพังไม่อาจตัดสินผลลัพธ์แห่งการสงครามได้

แม้นักอาวุธนิยมจะยังคงยึดมั่นอยู่กับความเชื่อหลักว่าสงครามชนะด้วยปัจจัยความเหนือกว่าของอาวุธนั้น

โลกแห่งความเป็นจริงของยุคหลังสงครามเย็นกลับท้าทายชุดความคิดดังกล่าวด้ยการก่อการร้าย

ความรุนแรงขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่พุ่งชนตึกเวิลด์เทรดที่นิวยอร์ก และตึกกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่วอชิงตัน ดี.ซี.

ปรากฏการณ์ในวันที่ 11 กันยายน 2001 เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อแนวคิดของนักอาวุธนิยมเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าในยุคสงครามเย็น เราเห็นรูปแบบใหม่ในลักษณะของสงครามก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายแล้ว

ในยุคหลังสงครามเย็น เราก็เห็นรูปแบบใหม่ในลักษณะของสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) ที่มีรูปธรรมชัดเจนจากการก่อการร้าย

หรืออีกด้านหนึ่งในทางทฤษฎีก็คือ สงครามในแบบเดิมที่เป็นสงครามตามแบบนั้น รัฐเป็นคู่สงครามโดยตรง หรือโดยความหมายก็คือสงครามเป็นการรบระหว่างรัฐกับรัฐ

แต่สงครามก่อความไม่สงบกลับบ่งบอกถึงทิศทางในอีกด้านหนึ่ง

ที่คู่สงครามของรัฐเป็นขบวนติดอาวุธภายในรัฐ หรือเป็นสถานการณ์ที่รัฐรบกับ “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” (non-state actors)

ซึ่งทิศทางเช่นนี้ก็ถูกตอกย้ำอีกครั้งในสงครามอสมมาตรของยุคปัจจุบันที่เป็นเรื่องของการก่อการร้าย

หรืออาจกล่าวได้ว่าการก่อการร้ายร่วมสมัยเป็นสงครามระหว่างรัฐกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มรัฐอิสลาม กลุ่มโบโกฮาราม เป็นต้น

รัฐในสภาวะของสงครามอสมมาตรจึงกลายเป็นความท้าทายทั้งในมิติความมั่นคงและในบริบทของยุทธศาสตร์ทหารอย่างมาก

แม้รัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐจะสามารถใช้กำลังรบโดยตรงเข้าไปจัดการกับปัญหาการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามในอัฟกานิสถาน (2001) ในอิรัก (2003) หรืออย่างปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรียปัจจุบัน เป็นต้น

แต่หากเป็นรัฐเล็กที่ต้องเผชิญกับการโจมตีด้วยการก่อการร้ายแล้ว โอกาสที่จะใช้กำลังรบเข้าตอบโต้โดยตรงในตัวแบบของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จริง

สภาวะเช่นนี้จึงเป็นข้อเรียกร้องโดยตรงให้รัฐต้องใส่ใจและเตรียมรับสงครามที่เป็นอสมมาตร ซึ่งในสงครามเช่นนี้ความเหนือกว่าของอาวุธอาจจะไม่มีคุณค่าในทางยุทธศาสตร์เลยก็ได้

เพราะไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดการสงคราม

ในสถานการณ์สงครามอสมมาตรเช่นนี้

คำถามจึงเกิดขึ้นทั้งในบริบททางยุทธศาสตร์ นโยบาย และการปฏิบัติการ ซึ่งหนึ่งในคำถามพื้นฐานก็คือ รัฐควรจะพัฒนากองทัพอย่างไร

ถ้าสงครามมีความเป็นอสมมาตรมากขึ้น

หรือกองทัพควรจะจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์แบบใดในการรับมือกับภัยคุกคามที่ไม่ใช่เรื่องของสงครามตามแบบ

คำถามดังกล่าวมีความสำคัญเพราะรัฐเล็กไม่มีทรัพยากรมากมายในทางความมั่นคงที่จะทำให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

กล่าวคือ รัฐเล็กจะทำตัวเป็นเศรษฐีของ “ลัทธิบริโภคนิยม” ที่จะจัดซื้อจัดหาตามใจตนเองไม่ได้ เพราะทรัพยากรมีจำกัด

นอกจากนี้ อาจจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งในระดับของผู้กำหนดยุทธศาสตร์และผู้ปฏิบัติว่าภายใต้เงื่อนไขความจำกัดของทรัพยากร การกำหนดแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพทางทหารมีความจำเป็นต้องตอบโจทย์เรื่องของภัยคุกคามให้ได้อย่างเป็นจริง

ดังนั้น ภัยคุกคามจะต้องไม่ถูกกำหนดด้วย “วิสัยทัศน์เก่า-จินตนาการเดิม” ที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปในโลกความมั่นคงแบบเก่า

และที่สำคัญการพัฒนากองทัพจะต้องไม่ผูกโยงอยู่กับ “ความต้องการส่วนตัว” ของผู้นำทหารที่ถูกแปลงออกมาเป็นงบประมาณและโครงการต่างๆ ที่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ถูกจัดซื้อจัดหาไม่ใช่เครื่องมือที่รัฐจะใช้ในการต่อสู้กับปัญหาภัยคุกคามที่รัฐกำลังเผชิญ

และหากอาวุธที่ถูกจัดหาไม่ตอบโจทย์ทางยุทธศาสตร์แล้ว คุณค่าของอาวุธก็จะหมดไปในตัวเองอย่างน่าเสียดาย

เพราะคุณค่าของอาวุธอยู่ที่การตอบสนองต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศต่างหาก

ไม่ใช่การมีไว้โชว์!