ต่างประเทศ : การเลือกตั้งเมียนมา บททดสอบซูจี

หากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ทรุดหนักลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาก็น่าจะเดินหน้าต่อไปได้ตามคำยืนกรานของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นผู้นำรัฐบาลโดยพฤตินัยของเมียนมาที่ประกาศจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามที่กำหนดไว้นั่นคือในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่จะถึง

การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีการชิงชัยกันมากกว่า 1,000 ที่นั่ง ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภาท้องถิ่นของแต่ละรัฐและภูมิภาค

แน่นอนว่าสองพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นที่จับตามากที่สุดในสมรภูมิเลือกตั้งเมียนมาก็คือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ภายใต้การนำของนางซูจี กับพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ซึ่งรับรู้กันดีว่าเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ใต้ร่มเงาทหาร

 

หากจับกระแสความนิยมในหน้าสื่อ พรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีถือว่ายังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวเมียนมา

ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์ นักสังเกตการณ์ทางการเมือง มองถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างไปในทางเดียวกันว่า โอกาสที่พรรคเอ็นแอลดีจะเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะอีกนั้น มีความเป็นไปได้

แต่การที่พรรคเอ็นแอลดีจะกวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลายเหมือนในการเลือกตั้งปี 2015 ที่ทำให้ซูจีนำพรรคเอ็นแอลดีจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าศตวรรษ นับจากเมียนมาตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจทหารมาอย่างยาวนานนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ สืบเนื่องจากหลายเหตุปัจจัย

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับนางซูจีว่าจะยังคงได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจจากชาวเมียนมาอย่างที่เคยได้รับมาอย่างท่วมท้นก่อนหน้าหรือไม่ ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวเมียนมา จากที่ซูจีได้สร้างความผิดหวังให้กับประชาคมโลกมาแล้วในกรณีการจัดการกับปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่ถูกกองทัพเมียนมาปราบปรามอย่างทารุณ จนต้องอพยพหนีความรุนแรงออกไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ

จนกลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอยู่ในขณะนี้

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดอนาคตของพรรคเอ็นแอลดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ผลงานในตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลเอ็นแอลดีที่ยังไม่สามารถทำให้บรรลุผลอย่างที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งก่อนว่าจะเข้าไปผลักดันให้มีการไขรัฐธรรมนูญฉบับทหารร่างเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ที่ก็ยังคงเกิดการปะทะคุกรุ่นอยู่ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในรัฐยะไข่ที่มีปมปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา

หรือความขัดแย้งกับกลุ่มกบฏในรัฐฉาน โดยที่กระบวนการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ยังชะงักงัน

หรือการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจก็ยังทำไม่ได้ดี เพราะแม้รัฐบาลนางซูจีจะพยายามกระตุ้นดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบที่ล้าหลังไม่เอื้ออำนวย โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ และรัฐบาลนางซูจียังเผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตกที่กำลังครุ่นคิดถึงการจะแซงก์ชั่นตอบโต้ต่อความล้มเหลวของรัฐบาลซูจีในการดูแลเยียวยาชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา

กระทั่งถึงการรับมือกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เมียนมาเผชิญการระบาดซ้ำขึ้นอีก จนต้องมีการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ในเมืองย่างกุ้งและรัฐยะไข่ที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด

 

อีกปัจจัยสำคัญคือบริบทของการเลือกตั้งครั้งนี้ยังแตกต่างไปจากเดิม นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งในปี 2015 พรรคการเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการช่วงชิงที่นั่งในสภาท้องถิ่นมากกว่า ทำให้การแข่งขันช่วงชิงเก้าอี้ในรัฐสภาสหภาพ หรือรัฐบาลกลาง เป็นการต่อสู้ชิงอำนาจกันอย่างดุเดือดระหว่างพรรคเอ็นแอลดีกับพรรคยูเอสดีพี

แต่ครั้งนี้ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ ต่างกำลังเผชิญความท้าทายจากการจับมือเป็นพันธมิตรของพรรคการเมืองที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และความท้าทายจากพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ที่จะเข้ามาแย่งเสียงสนับสนุน ชิงเก้าอี้ในรัฐสภาสหภาพ

ซึ่งนักสังเกตการณ์มองว่าหากไม่มีพรรคใหญ่พรรคไหนคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้มากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ นั่นจะทำให้พรรคการเมืองเล็กอื่นๆ ที่อยู่ในสมรภูมิ จะกลายเป็น “คิงเมกเกอร์” ที่จะชี้ชะตาการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศขึ้นได้

พรรคประชาชน (พีเพิลส์ ปาร์ตี้) พรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดยนายโก โก จี ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาผู้ก่อการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในปี 1988 และกลุ่มพันธมิตรพรรคสหการเมือง (ยูพีพีเอ) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ 9 พรรคการเมืองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เป็นตัวแปรหนึ่งที่น่าจับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้

ส่วนพรรคยูเอสดีพี ที่ยังคงมีกองทัพเมียนมาอันทรงอิทธิพลเป็นแบ๊กอัพหนุนหลัง ก็ยังอาจมองหาพันธมิตรสนับสนุนได้จากพรรคยูบีพี และพรรคดีพีเอ็นพี ซึ่งต่างเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยอดีตนายพลที่มีส่วนร่วมสร้างพรรคยูเอสดีพีขึ้นมาได้เช่นกัน

ส่วนพรรคการเมืองที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หนนี้จะเป็นอีกตัวแปรสำคัญ โดยพรรคของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง มอญ ชิน กะฉิ่น และกะยาห์ ได้จับมือเป็นพันธมิตรในการชิงชัยเพื่อชิงเสียงข้างมากทั้งในรัฐสภาแห่งรัฐ และชิงที่นั่งในรัฐสภาสหภาพ เพื่อมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของชาติพันธุ์ตนเอง

หลังจากเห็นแล้วว่าพรรคเอ็นแอลดีไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์มากพอ

 

การคาดคะเนของสื่อท้องถิ่นเมียนมาสำนักหนึ่งประเมินว่าพรรคเอ็นแอลดีอาจกวาดที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ราว 40 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่พรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์อาจคว้าไปได้ที่ราว 20 เปอร์เซ็นต์

หากมีการเจรจาต่อรองที่สมประโยชน์กัน ก็อาจเปิดทางสู่การจับมือเป็นรัฐบาลผสมเสียงมาก สามารถเตะสกัดพรรคทหารเข้าไปยึดครองอำนาจบริหารประเทศได้

สูตรนี้เป็นเพียงแค่การคาดคะเนถึงสูตรจัดตั้งรัฐบาลที่มองว่าพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีจะคัมแบ๊ก

แต่ก็ต้องรอลุ้นผลการเลือกตั้งต่อไปว่าสุดท้ายจะลงเอยที่สูตรไหน