เกษียร เตชะพีระ | จะโค่นจอมเผด็จการอย่างไร (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

เอริกา เชอโนเว็ธ ศาสตราจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนและกิจการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอารยะต่อต้าน (civil resistance หรือการต่อต้านอย่างไม่รุนแรง) ให้สัมภาษณ์วิทยุ BBC World Service ในประเด็น “How to topple a dictator” (จะโค่นจอมเผด็จการอย่างไร) เมื่อ 19 กันยายนศกนี้

ผมขอนำมาถ่ายทอดเป็นข้อคิดความรู้ประกอบการประเมินและทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังร้อนแรงปัจจุบันตอนต่อไป :

เดวิด เอ็ดมอนด์ส ผู้ดำเนินรายการ : ยิ่งการชุมนุมแสดงพลังใหญ่โตขึ้นเพียงใด สมาชิกกองกำลังความมั่นคงก็ยิ่งน่าจะมีญาติสนิทมิตรสหายเข้าร่วมชุมนุมด้วยมากขึ้นเพียงนั้น และฉะนั้น พวกเขาจึงย่อมเต็มอกเต็มใจน้อยลงอักโขที่จะใช้กำลังต่อผู้ชุมนุม ดูเหมือนความลังเลที่ว่านั้นจะเป็นเหตุปัจจัยในการประท้วงแบบไม่รุนแรงที่ประสบความสำเร็จในตูนิเซียและเซอร์เบีย

เอริกา เชอโนเว็ธ : เมื่อขบวนการมวลชนขบวนหนึ่งค่อยรวมเอาผู้คนกว้างขวางหลากหลายกลุ่มในสังคมมาไว้ด้วยกัน มันก็จะเริ่มดูเหมือนบรรดาญาติสนิทมิตรสหายของสมาชิกกองกำลังความมั่นคงนั่นเอง พวกเขาอาจกระทั่งพบเจอหน้าค่าตาญาติมิตรของตนอยู่ในขบวนด้วย แล้วก็เลยตัดสินใจว่าไม่อยากยิงคนเหล่านี้แล้วล่ะ

เอ็ดมอนด์ส : ถ้าเช่นนั้นแล้ว การประท้วงจะต้องใหญ่โตแค่ไหนถึงจะทำให้แทบไม่มีทางไม่สำเร็จเลยเล่า? ศาสตราจารย์เชอโนเว็ธได้ตรวจสอบขบวนการประท้วงเป็นพันๆ ขบวนและคิดคำนวณตัวเลขออกมา เธอได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขที่แน่ชัดยิ่งว่า…

เชอโนเว็ธ : กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ขบวนการประท้วงจะไม่ล้มเหลวหลังบรรลุตัวเลขผู้เข้าร่วมถึง 3.5% ของจำนวนประชากร

เอ็ดมอนด์ส : ฟังดูเล็กน้อยมากเลยนะครับ 3.5% เนี่ย

เชอโนเว็ธ : 3.5% คิดสะระตะเป็นยอดจำนวนผู้คนที่ใหญ่โตอย่างยิ่งนะคะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกา เรากำลังพูดถึงผู้คน 11.5 ล้านคน ซึ่งจะมีขนาดประมาณสองเท่าครึ่งหรือสามเท่าของการเดินขบวนประท้วงของผู้หญิงอเมริกันปี ค.ศ.2017 อันเป็นการเดินขบวนวันเดียวที่ใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ฉะนั้น ถึงแม้มันฟังดูจะเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อย แต่เอาเข้าจริงมันเป็นคนจำนวนมากทีเดียว

เอ็ดมอนด์ส : ตัวเลข 3.5% ไม่ใช่กฎเหล็ก อย่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของมวลชนในบาห์เรนก็ล้มเหลวที่จะทำให้รัฐบาลยอมอ่อนข้อ มีงานวิจัยน่าสนเท่ห์ของนักวิชาการอื่นที่พบว่าในบางส่วนของโลก การประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จอำนาจที่ปรากฏขึ้นในเมืองส่งผลดีกว่าการประท้วงจากชนบท

เชอโนเว็ธ : อย่างน้อยในบรรดาประเทศแอฟริกัน การประท้วงในเมืองน่าจะนำไปสู่ขบวนการกู้เอกราชต่อต้านระบอบอาณานิคมที่ประสบความสำเร็จมากกว่าอักโข และมันก็น่าจะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมากกว่าด้วยในระยะยาว ขณะที่การก่อการกำเริบในชนบทน่าจะทำให้ถูกปราบปรามอย่างป่าเถื่อนมากกว่า และหากมันนำไปสู่เอกราชได้ ก็น่าจะทำให้จอมเผด็จการได้ขึ้นกุมอำนาจมากกว่าด้วย

เอ็ดมอนด์ส : พื้นที่เขตเมืองมีแนวโน้มจะเป็นแบบคนชั้นกลางมากกว่าในชนบท แต่เหตุผลหลักที่ทำไมรัฐบาลที่กดขี่ปราบปรามควรจะกลัวเมืองกว่าชนบทนั้น ก็เพราะมันง่ายกว่าที่จะระดมคนจำนวนมากในเมือง

เชอโนเว็ธ : ใช่เลยค่ะ มันง่ายกว่าและสะดวกกว่าที่จะชุมนุมมวลชนในพื้นที่เมือง นอกจากนี้ยังพบมหาวิทยาลัยได้บ่อยกว่าในพื้นที่เมืองด้วยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะบ่อยครั้งนักศึกษาและนักวิชาการนั่นแหละที่เริ่มจัดตั้งขบวนการเหล่านี้ขึ้น ดังนั้น ยิ่งมีมหาวิทยาลัยในท้องที่หนึ่งมากเพียงใด คุณยิ่งน่าจะประสบการเริ่มต้นลุกฮือแบบไม่รุนแรงมากเพียงนั้น

เอ็ดมอนด์ส : ตอนนี้สหรัฐอเมริกายังเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่ แม้เราควรจับตาดูมันไว้ให้ดีก็ตาม แต่ถ้าหากงานวิจัยนั้นถูกต้องแล้ว มันก็บ่งชี้ว่าสถานที่หนึ่งซึ่งจอมเผด็จอำนาจของอเมริกาในอนาคตคนใดพึงหวั่นวิตกก็คือถิ่นฐานบ้านช่องของเอริกา เชอโนเว็ธ นั่นเอง อันเป็นเมืองเดียวกับที่ย้อนหลังไปในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด มันเปิดฉากขบวนการกู้เอกราชของอเมริกาจากอังกฤษ

เชอโนเว็ธ : ดิฉันคิดว่าเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงอยู่ราว 50 แห่งในพื้นที่ขนาดเล็กมาก

เอ็ดมอนด์ส : การปฏิวัติเริ่มต้นขึ้นในเมืองบอสตันเสมอซีครับ

เชอโนเว็ธ : ชาวเมืองบอสตันชอบคิดแบบนั้นแหละค่ะ