สุทธิชัย หยุ่น | สังคมเจอวิกฤตเมื่อเรา เชื่อเฉพาะสิ่งที่อยากเชื่อ

สุทธิชัย หยุ่น

คนไทยใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในโซเชียลมากขึ้นจนมีคนบอกว่าน่าตื่นตาตื่นใจและน่ากลัวพร้อมๆ กัน

ผลสำรวจบางสำนักบอกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ประชากรไทยอาจจะป้วนเปี้ยนอยู่ในโลกเสมือนจริงเพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือแสดงความเห็นวันละถึง 10 ชั่วโมง

จนเกิดกรณีการเสพข่าวปลอม, ข่าวปล่อย และข่าวสร้างมากมาย

ต่อมาเกิดปรากฏการณ์ของการ “เลือกอ่าน” และ “เลือกเชื่อ” เฉพาะสิ่งที่คนอยากเชื่อ

เหมือนเป็นการสร้างชุมชนเฉพาะกลุ่มที่ป้อนข้อมูลด้านเดียวจนกลายเป็นเรื่องปกติ

ทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะเป็นเรื่องปกติ

อันตรายของการใช้ชีวิตเช่นนี้คือการไม่ยอมรับรู้รับฟังข่าวสารหรือความเห็นที่ตนเองไม่อยากจะเชื่อไม่อยากจะฟัง

เป็นที่มาของความขัดแย้งในสังคมที่เพิ่มอัตราขึ้นอย่างน่ากลัว

ไม่สามารถฟังเสียงจากข้างนอกหรือปฏิเสธที่จะรับรู้เสียงจากข้างนอกใดๆ

คําว่า Echo Chamber มาเคียงคู่กับ Confirmation Bias หรือ “ความเอนเอียงเพื่อยืนยันในความคิดเห็นของตนเอง”

เมื่อฟังแต่เสียงสะท้อนของตนเองก็จะเกิดความลำเอียงที่มีจุดประสงค์สำคัญคือการยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองได้รับทราบมาตลอดนั้นเป็นความจริง

เรื่องถูก-ผิดหรือความชอบธรรมหรือไม่กลายเป็นเรื่องรอง

ความเชื่อของตนหรือกลุ่มตนคือทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตของตน

สังคมวุ่นวาย เกิดการพุ่งชนทางความคิดและการปะทะกันทางกายภาพจนกลายเป็นความรุนแรงได้อย่างง่ายดาย

Confirmation bias เป็นความลำเอียงในข้อมูลที่ยืนยันความคิดหรือทฤษฎีหรือสมมุติฐานฝ่ายตน

เมื่อ “ความลำเอียง” สั่งสมกันเป็นกำแพงหนาเตอะ ใครจะมาน้าวโน้มด้วยข้อมูลและหลักฐานที่อยู่นอกเหนือความเชื่อนั้นก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนความคิดที่ฝังแน่นไว้ได้

เมื่อใครตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ก็ไม่ยากเลยที่จะกระโดดไปเชื่อเค้าลางของเรื่องราวเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง

ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นเพียงข้อมูลที่ยังไม่กระจ่างชัดด้วยซ้ำ

แต่เมื่อ “อยากจะเชื่ออย่างนั้นเสียแล้ว” ความ “ลำเอียง” (bias) นั้นก็จะถูก “ยืนยัน” (confirmed) ในเกือบจะทันที

จึงไม่น่าแปลกใจหากแม้จะมีหลักฐานหรือข้อมูลชุดเดียวกันแต่คนที่อยู่คนละข้างของ “ความลำเอียง” นั้นจะตีความไปตามที่ตนอยากเชื่อ

บางครั้งแม้หลักฐานจะชี้ชัดว่าความเชื่อของเราผิดอย่างโจ่งแจ้ง แต่ “ความลำเอียง” ที่ฝังลึกในความคิดอ่านของเราก็ยังบอกเราว่าเราไม่ผิด อีกฝ่ายต่างหากที่ผิด

นั่นคือที่มาของความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นในสังคมอย่างที่เราเห็นในสังคมไทยในระยะหนึ่ง

และยิ่งวันก็ยิ่งจะมีแนวโน้มไปในทางนั้น

โดยเฉพาะการโต้เถียงระหว่างกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง

เมื่อ “ความเห็น” สามารถเขี่ย “ข้อมูล” ทิ้ง และ “ความลำเอียง” ครอบงำการแลกเปลี่ยนความเห็นของแต่ละฝ่าย การแสวงหา “ข้อยุติ” จึงเกือบจะเป็นไปไม่ได้

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นขณะนี้คือการที่กลุ่มการเมืองบางสังกัดมุ่งใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธห้ำหั่นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย

กลายเป็นการสู้รบบนโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

บางครั้งถึงขั้นใช้อาวุธเช่นนี้ต่อกรกันเพื่อให้ได้อำนาจรัฐด้วยซ้ำ

บ่อยครั้งการประหัตประหารกันบนโลกเสมือนจริงเรื่องความเชื่อและข้อเท็จจริง (ในแง่มุมของตัวผู้นำเสนอเอง) ดุเดือดรุนแรงมากกว่าการขนรถถังและปืนใหญ่ออกมาราวีกันด้วยซ้ำ

ความเห็นของนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะสามารถนำมาวิเคราะห์แนวโน้มในสังคมไทยได้

นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสื่อสาร อย่างพันธุ์ศักดิ์ อาภาขจร พบว่าปัจจัยในการสื่อสารหลักๆ เพียงไม่กี่ข้อทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ห้องเสียงสะท้อน”

ผมอ่านเจออาจารย์พันธุ์ศักดิ์ให้สัมภาษณ์ (ออนไลน์) ก็พอจะเห็นภาพว่าปัจจัยที่ว่าเหล่านี้คืออะไรบ้าง

ข้อแรกเลยคือการสร้างเนื้อหา หรือ content เพื่อสื่อสารกับคนในกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อมีกลุ่มเป้าหมายก็ย่อมสามารถสร้างเนื้อหาป้อนให้บรรลุเป้าหมายได้ไม่ยากนัก

เมื่อสร้างเนื้อหาอันพึงประสงค์ของกลุ่มแล้ว ก็จัดการส่งออกไปตามช่องทางสื่อออนไลน์

แต่ไม่ใช่ส่งออกไปในช่องทางออนไลน์เฉยๆ ต้องมีการเจาะลงไปที่กลุ่มเป้าหมายด้วย

ตรงนี้แหละที่มีการนำ “ระบบอัลกอรึธึ่ม” ที่จัดทำขึ้นมาเข้าไปคัดแยก เพื่อส่งสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุด

ในขั้นตอนนี้มนุษย์กลายเป็น “เหยื่อ” ของเทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด

เพราะเมื่อผู้รับข่าวสารเข้ามากดไลก์ แชร์ หรือแสดงความเห็น “ระบบอัลกอรึธึ่ม” ก็จะทำหน้าที่เหมือน “ตะกร้าคัดกรอง” พร้อมแบ่งแยกกลุ่มบุคคลที่ “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” ออกจากกันทันที

อาจารย์พันธุ์ศักดิ์อธิบายว่า

“ระบบอัลกอรึธึ่มทำให้เกิดการแบ่งขั้วกัน เพราะระบบนี้จะมีการแบ่งแยกความคิดเห็นของคนแต่ละกลุ่มออกจากกันอย่างชัดเจน…”

เดิมระบบอย่างนี้ใช้ในเรื่องธุรกิจการค้า เพื่อแยกแยะกลุ่มเป้าหมายเพื่อการตลาดให้ตรงเป้า

แต่ต่อมามีกลุ่มการเมืองมองเห็นโอกาสที่จะใช้มันเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือคน

คนที่คิดเรื่องนี้มองเห็นเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะอาจใช้ไปตามที่ตนต้องการก็จะสร้างความได้เปรียบของตนเหนือกลุ่มอื่นที่อาจจะยังเข้าไม่ถึง “อาวุธ” เช่นนี้

ทั้งที่จริงๆ แล้วระบบระบบอัลกอรึธึ่มมักจะใช้ในด้านการตลาดทางธุรกิจมากกว่า

เมื่อเรารู้อย่างนี้ เราย่อมเข้าใจถึงอันตรายที่มันจะถูกใช้เพื่อ “ล้างสมอง” คนอื่น

หรือเพื่อจะยัดเยียดชุดความเชื่อให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าถูกกระทำ

อาจารย์พันธุ์ศักดิ์นำเสนอว่า

“เมื่อมีการใช้ระบบอัลกอริธึ่มมาใช้ในทางการเมือง สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการวิเคราะห์ แยกแยะ และบริโภคสื่อด้วยความรู้เท่าทัน…”

ที่ต้อง “รู้เท่าทัน” ก็เพราะข้อมูลจำนวนไม่น้อยสามารถสร้างความเกลียดชังอย่างไร้เหตุผลและไร้ตรรกะได้

แต่หากจะมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

และไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม พฤติกรรมของมนุษย์ก็จะต้องปรับเปลี่ยนตามยุคตามสมัยอย่างปฏิเสธไม่ได้

ทางแก้ไขทางเดียวที่ได้ผลที่สุดก็คือจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้

ที่จะต้องเข้าใจลึกลงไปก็คือเมื่อมีการแบ่งแยกกลุ่มคน “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” ออกจากกัน ก็จะมีการส่งข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อตอกย้ำให้กับกลุ่มเป้าหมาย

วิธีการที่จะทำให้ได้ผลตามจุดประสงค์ของผู้สร้างกลไกเช่นนี้ก็คือการป้อนข้อมูลที่ตรงกับรสนิยมและความคิดความเชื่อของคนกลุ่มนั้น

ผลที่ตามมาก็คือการรับรู้ที่มีความลำเอียงทางข้อมูล หรือที่เรียกว่า Confirmation bias ของผู้ที่ได้รับข่าวสาร

นำไปสู่การปิดประตูกั้นข้อมูล หรือที่เรียกว่า Filter bubble จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ โดยสิ้นเชิง

เหมือนโลกนี้มีข้อมูลเพียงชุดเดียว ส่วนข้อมูลชุดอื่นถูกปิดกั้นไม่ให้เจาะผ่านมาได้เลย

คนที่จะมาตอกตะปูซ้ำก็คือ กลุ่มที่เรียกว่า “ผู้สนับสนุน” หรือ Back up

เป็นกลุ่มคนที่มาตอกย้ำให้ “อคติ” นั้นดูสมจริงสมจังหนักเข้าไปอีก

อาจารย์พันธุ์ศักดิ์ยกตัวอย่างต่างประเทศมาเป็นข้อมูลเสริมว่า

“จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2016 พบว่านักเรียนระดับมัธยมจนถึงระดับนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเนื้อหาข่าวกับเนื้อหาที่มาจากสปอนเซอร์ได้…”

นอกจากนี้ก็ยังไม่สามารถแยกแยะหลักฐานจากแหล่งข่าวหรือแม้แต่การประเมินข้ออ้างต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ได้ ว่าเรื่องไหนเป็นข้อเท็จจริง เรื่องไหนเป็นการตลาด

นั่นหมายความว่าเยาวชนจำนวนมากยังไม่มีความพร้อมในการตั้งคำถาม หรือสอบทานถึงที่มา ความเที่ยงตรง รวมทั้งคุณภาพของข่าวสารบนโลกออนไลน์

มิหนำซ้ำยังเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Filter bubble ที่กลุ่มคนปฏิเสธการรับชุดข้อมูลที่แตกต่างจากความเชื่อของตัวเอง

นำไปสู่ความโกรธแค้นของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย

และต่อยอดไปสู่ความแตกแยกของสังคม

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือการคุกคามทางออนไลน์ที่เรียกว่า Cyber bullying อย่างเป็นระบบตามมา

สังคมไทยวันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตแห่ง “กับดักแห่งข้อมูลถูกปั่น” อย่างรุนแรง

หากไม่มีหนทางแก้ไขอย่างจริงจัง สังคมจะพากัน “ตกนรกอเวจี” กันทั้งหมดได้ทีเดียว