“ทางออก” ที่เดินยาก

ที่สุดเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ออกมาแล้ว

อัครมหาเศรษฐีที่สุดของประเทศไทยเรา เลือกที่จะออกมาแบบเรียกให้สื่อมวลชนไปนั่งสัมภาษณ์พิเศษทีละสื่อ

ไม่ใช่การเปิดแถลงแล้วเรียกสื่อทั้งหมดไปฟัง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกตีความว่าออกมากดดัน

การให้สื่อค่อยๆ ทยอยนำเสนอ ดูจะนุ่มนวลกว่า ในเนื้อหาที่อยากจะชี้ให้เห็น

เจ้าสัวเลือกที่จะยอมเสียเวลาพูดหลายครั้งในเรื่องเดียวกัน ซึ่งไม่ดูเป็นการกดดันเท่ากับการเปิดแถลงใหญ่

ซึ่งผลพลอยได้ของวิธีการนี้คือ การนำเสนอมีความต่อเนื่อง ทีละสื่อละสื่อ ไม่เปรี้ยงเดียวจบเหมือนการแถลงใหญ่

และยังได้ในเรื่องรายละเอียดจากการตอบคำถามของสื่อที่มีมุมคิดแตกต่าง

ต่างคนต่างมาเล่ากันในมุมเฉพาะของตน

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหลักที่เจ้าสัวธนินท์ชี้ให้เห็นเหมือนกันทุกสื่อโดยสรุปคือ ที่ปิดประเทศเพราะมาตรการควบคุมโควิดมายาวนานนั้นควรหาทางเปิดประเทศได้แล้ว เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจดูท่าจะลงลึกจนเสี่ยงจะสายเกินแก้

หากได้ติดตามเนื้อหาที่เจ้าสัวพยายามชี้ให้เห็น เชื่อว่าคนที่ติดตามทุกคนจะรู้สึกได้ถึงคำเตือนว่า “หากขืนอยู่อย่างนี้ ประเทศจะไปไม่ไหว”

ไม่ใช่คำเตือนโดยตรง แต่รวมๆ ของคำสัมภาษณ์ชี้ไปทางนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

ทว่าภาพของอันตรายจากโควิด-19 ที่ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทำให้ประชาชนเกิดจินตนาการร่วมว่าเป็นมหันตภัยใหญ่หลวงต่อชีวิตของประชาชน จะปล่อยให้เกิดการระบาดไม่ได้ และจินตนาการนี้ได้พลิกกลับมาเป็นอุปสรรคใหญ่หากจะต้องปรับสู่การลดมาตรการป้องกัน

โอกาสที่รัฐบาลจะถูกโจมตีจนไปไม่รอด มีความเป็นไปได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โอนเอนจากการชุมนุมต่อต้านของประชาชนอยู่ในขณะนี้

ยกเว้นเสียแต่ว่าจะหาทางฟื้นคืนเสถียรภาพให้มั่นคงขึ้นมา

หนทางที่จะสร้างเอกภาพได้คือ จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรืออย่างน้อยดึงพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อไม่ต้องกังวลกับแรงกดดันของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่พรรคเพื่อไทยจะเข้าร่วมเป็นรัฐบาล

มีหลายคนมองว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา มีสัญญาณบางอย่างที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ จะเป็นช่องทางให้ชะตากรรมของครอบครัวผู้ก่อตั้งพรรคดี และปลอดภัยขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีคำถามมากมายว่า “พรรคเพื่อไทย” กล้าพอที่จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือ เพราะนั่นจะเป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่งในการตอบคำถามกับฐานเสียง

นิด้าโพลทำการสำรวจเรื่องนี้ แม้ชื่อหัวข้อในการสำรวจจะใช้ว่า “ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย” และเริ่มคำถามแรกด้วย “ความเป็นต่อความเปลี่ยนแปลงในพรรค”

ทว่า 2 คำถามตามมาเป็น “หยั่งความคิดประชาชนหากเพื่อไทยร่วมรัฐบาล”

คือ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่หากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินในเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

และ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยที่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์”

ซึ่งในคำถามแรก คำตอบเห็นด้วยไม่มาก มีแค่ร้อยละ 15.88 ค่อนข้างเห็นด้วยร้อยละ 16.41 ขณะที่ไม่เห็นด้วยเลยร้อยละ 49.09 และไม่ค่อยเห็นด้วยร้อยละ 16.87

ส่วนคำถามหลังที่กัน พล.อ.ประยุทธ์ออกไป ร้อยละ 24.09 เห็นด้วยมาก ร้อยละ 22.11 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 37.54 ส่วนไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 14 ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 14.51

จากคำตอบนี้ หากรัฐบาลคิดหาทางออกด้วยการลดแรงกดดันด้วยการดึงพรรคเพื่อไทยเข้าร่วม แม้พรรคเพื่อไทยจะมองเห็นเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันแก้ปัญหาประเทศชาติ

ทว่าการทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งจะส่งผลต่อการคะแนนนิยมของพรรค ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ

เสถียรภาพที่ปรารถนานำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เสี่ยงต่อความเข้าใจของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มุ่งไปยังความปลอดภัยมากกว่า

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้