วงค์ ตาวัน | แนวร่วมสำคัญของคนรุ่นใหม่

วงค์ ตาวัน

นักคิดทางการเมืองมองว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคที่นำโดยขบวนการนักเรียน-นักศึกษายุคใหม่ และมีคนเสื้อแดงหรือ นปช.เข้าร่วมในการชุมนุมใหญ่ทุกครั้ง โดยมาในฐานะผู้สนับสนุน ร่วมปกป้องดูแลเด็กๆ นั้น

เอาเข้าจริงๆ ทั้งขบวนการเยาวชน นักเรียน นักศึกษา กับขบวนการ นปช. มีจุดเชื่อมต่อกันได้หลายประเด็น

ประการแรก มีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยใกล้เคียงกัน เพียงแต่มีอุดมการณ์ความฝันที่ต่างกันตามลักษณะพื้นฐานของชนชั้น

เสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นคนชนบท ชีวิตยากลำบาก ตื่นตัวในทางการเมืองเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และการมาของพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น

“การเมืองในยุครัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้พรรคการเมืองและการเลือกตั้งสร้างความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนคนรากหญ้าได้ประโยชน์อย่างแท้จริง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย มีนโยบายจับต้องได้ เอื้อประโยชน์ให้กับคนเดินดินอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

ทำให้ประชาชนในภาคอีสานและภาคเหนือ มองการเมืองไทยที่มีอะไรมากกว่าเงินซื้อเสียงของระบบนักการเมืองยุคก่อนเก่า

เป็นการเข้าสู่ยุคที่ไม่ต้องสนใจเงินซื้อเสียงไม่กี่ร้อย เพราะนโยบายของพรรคการเมือง ที่ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้จริง มีบัตร 30 บาทดูแลสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ที่อีกฝ่ายเรียกว่านโยบายประชานิยม ทำลายระบบเศรษฐกิจ แต่สำหรับคนชนบทนี่คือนโยบายที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้จริง

“ทำให้คนอีสานและคนภาคเหนือสนใจการเมือง และเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง!”

ต่อมาเมื่อทักษิณและพรรคไทยรักไทยเผชิญกับการโจมตีและทำลายของกลุ่มอำนาจการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม จึงยิ่งทำให้คนชนบทที่ให้ความนิยมในพรรคนี้เริ่มเห็นกระบวนการใช้อำนาจเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม แค้นเคืองในกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน

“จึงโดดเข้าร่วมการต่อสู้ในฐานะขบวนการคนเสื้อแดง”

แต่เพราะชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง จึงทำให้ นปช.เป็นขบวนการภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อรักษาระบบนี้เอาไว้

ด้วยเป็นระบบการเมืองที่สอดรับกับวิถีของประชาชนชั้นล่างมากที่สุด

เป้าหมายของเสื้อแดงคือสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อรักษาระบบเลือกตั้ง ซึ่งอำนาจการเมืองอยู่ในมือประชาชน ไม่เคยชุมนุมเพื่อเรียกหาทหารให้เข้ามาล้มรัฐบาลประชาธิปไตย

แม้แต่การต่อสู้ที่ทำให้ถูกปราบจนตายไป 99 คนนั้น เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่!

จุดมุ่งหมายของเสื้อแดง ซึ่งอยู่ในแนวทางประชาธิปไตย จึงเป็นจุดที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการนักเรียน-นักศึกษา ซึ่งเป็นคนในวัยที่รักในสิทธิเสรีภาพอย่างสูงสุด เชื่อในกระบวนการศึกษาเรียนรู้ถกเถียง และเห็นว่าระบอบประชาธิไตยเท่านั้นที่ทำให้อำนาจการเมืองไม่มีการผูกขาด เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ เข้าสู่การบริหารประเทศได้ตลอดเวลา

อันจะทำให้บ้านเมืองนั้นพัฒนารุดหน้า ทันสมัย ไม่ล้าหลัง

อุดมการณ์ประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่อาจต่างจากเสื้อแดงตรงที่ คนหนุ่ม-สาวไม่ยึดติดในตัวบุคคล ผู้นำคนไหนก็ได้ ที่อยู่ในวิถีประชาธิปไตย และต้องการคนรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่การเมืองเรื่อยๆ

อีกทั้งประชาธิปไตยในสายตานักเรียน-นักศึกษาที่ลุกฮือกันออกมาในยุคนี้ ต้องเป็นประชาธิปไตยที่เสรีอย่างแท้จริง ไม่มีอำนาจอื่นใดแอบแฝงครอบงำอยู่ทั้งสิ้น

“นักเรียน-นักศึกษาที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้สนใจหรือโหยหาทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ผูกมัดกับพรรคการเมืองใด แม้แต่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ไม่ได้เกี่ยวพัน!”

แต่แน่นอน ชนวนที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวมาลงถนน เพราะในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งที่คนวัยหนุ่ม-สาวตื่นตัวเข้าคูหากันมากที่สุด และเลือกพรรคการเมืองตรงแนวทางของคนรุ่นใหม่ เพราะเห็นในทิศทางที่ทันสมัยสอดคล้องกับความคิด แต่ไม่ได้ยึดติดที่ธนาธร หรือปิยบุตร แสงกนกกุล

“สุดท้ายการถูกทำลายของพรรคการเมืองตัวแทนคนรุ่นใหม่ จึงจุดชนวนให้นักเรียน-นักศึกษาตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง ที่ไม่ให้มีอำนาจอื่นใดครอบงำได้”

กล่าวโดยรวมแล้ว อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่คล้ายกันของพลังคนหนุ่ม-สาวและของขบวนการเสื้อแดง จึงทำให้ทั้งสองส่วนนี้สามารถร่วมกันได้

กลายเป็นแนวร่วมในการต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญใหม่ และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ใช่ตัวแทนจากขุนศึกขุนนาง และเข้ามาสู่อำนาจโดยไม่ผ่านกติกาประชาธิปไตยแท้จริง

“เอา 250 ส.ว.มาอยู่เหนือเสียงประชาชนหลายล้าน คือจุดที่นักเรียน-นักศึกษาไม่อาจยอมรับได้”

การเป็นแนวร่วมของคนรุ่นใหม่กับเสื้อแดง ดูจะไปได้ด้วยดี

แต่แน่นอน นี่เป็นยุคการเคลื่อนไหวที่นำโดยคนหนุ่ม-สาว ไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดอยู่เบื้องหลัง มาชักใย มาเป็นท่อน้ำเลี้ยง

ส่วนเสื้อแดงก็คือมวลชนที่เข้าร่วมสนับสนุน ภายใต้การนำของขบวนการนักเรียน-นักศึกษา

เพราะนี่คือยุคที่คนรุ่นใหม่นำการต่อสู้ ส่วนคนในรุ่นอื่นวัยอื่นที่เห็นพ้องต้องกันคือแนวร่วม คือพันธมิตรที่ใกล้ชิดสนับสนุนกัน

อีกประการ ที่นักคิดทางการเมืองมองว่า ขบวนการนักเรียน-นักศึกษากับขบวนการเสื้อแดง มีจุดชื่อมโยงกันอีกจุดนั่นคือ มีความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ล้อมปราบล้อมฆ่ากลางเมือง 2 เหตุการณ์สำคัญ

โดยเหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนหนุ่ม-สาวคือ 6 ตุลาคม 2519 การล้อมฆ่านักศึกษา-ประชาชนที่ธรรมศาสตร์ เป็นการปราบปรามกวาดล้างหวังหยุดการเติบโตของขบวนการนักศึกษาเมื่อกว่า 40 ปีก่อน แต่ก็ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ศึกษา รู้สึกเจ็บปวดไปด้วย

พร้อมกับรู้ถึงต้นเหตุของความโหดเหี้ยมอำมหิต ซึ่งทำให้เห็นโครงสร้างสังคมการเมืองไทย มองว่าปัญหาเดิมนั้นยังดำรงอยู่ และมีผลต่อเนื่องมาถึงความล้าหลังของบ้านเราเองในวันนี้

“การล้อมฆ่า 6 ตุลาคม จึงอยู่ในใจคนหนุ่ม-สาวทุกยุค”

ดังตัวอย่างเพลงแร็พประเทศกูมี บทเพลงที่สอดคล้องกับอารมณ์ของเด็กในยุคนี้ ก็มีฉากแขวนคอเก้าอี้ฟาด 6 ตุลาฯ เป็นฉากเอกอีกด้วย

ขณะเดียวกันการล้อมฆ่ากลางเมือง ไม่ใช่แค่ปี 2519

“แต่เหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 หรือกรณี 99 ศพ ถือได้ว่าเป็นอีกบทโหดในใจกลางเมือง”

เหตุการณ์ 99 ศพ มีผลกระทบต่อเสื้อแดงโดยตรง ด้วยตกเป็นเหยื่อการล้อมยิงในคราวนั้น อีกทั้งเสื้อแดงส่วนใหญ่ในขณะนี้ ก็อยู่ในบรรยากาศเมื่อปี 2553 ด้วยทั้งสิ้น

ยังไม่ลืม และยังรอเวลาสะสาง ทวงความยุติธรรมให้กับคนตายร่วมร้อยชีวิต

“2 เหตุการณ์ล้อมฆ่ากลางเมืองนี่เอง ที่มีผลสะเทือนต่อขบวนการคนหนุ่ม-สาว และขบวนการภาคประชาชนคนเสื้อแดง”

จนเป็นจุดที่เชื่อมโยงกันได้

ด้วยตายในเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยมาเหมือนๆ กัน

ขณะที่เดือนตุลาคม เป็นเดือนที่มีความหมายของขบวนการนักเรียน-นักศึกษา ดังนั้น จึงถือฤกษ์ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้

โดยมีขบวนการเสื้อแดง ที่หวังในประชาธิปไตยและความเป็นธรรมกับเพื่อนที่ตายไปเข้าเป็นแนวร่วมสนับสนุนที่ใกล้ชิด!