ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ก่อนประเทศ ถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับมาได้อีกต่อไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สิบสี่ตุลา 2516 เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ผู้มีอำนาจไม่ยอมประกาศเป็นวันสำคัญของชาติไทย และถึงแม้สิบสี่ตุลาจะถูกพูดถึงมากกว่าเมื่อเทียบกับ 6 ตุลาคม 2519 แต่ในที่สุดก็ไม่มีรัฐบาลไหนยอมรับให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันหยุดแห่งชาติเหมือนวันหยุดทางศาสนาและประเพณีอื่นอยู่ดี

สิบสี่ตุลาคือการรวมตัวของประชาชนเพื่อปิดฉากเผด็จการทหารที่ยึดครองประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2500 นานถึง 16 ปี

และตามข้อมูลที่ปรากฏใน “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ก็คือเป็นระบอบที่ผู้มีอิทธิพลทั้งในและนอกประเทศสมคบกันสร้างและได้ประโยชน์จนการล้มล้างแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ถ้าการยุติระบอบเผด็จการที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดครองประเทศตั้งแต่ปี 2557 นาน 7 ปีแล้วยากฉันใด สิบสี่ตุลาคม 2516 ที่ต่อต้านระบอบเผด็จการซึ่งยึดครองประเทศ 16 ปี ก็ยากขึ้นไปหลายเท่าฉันนั้น เพราะเป็นการต่อต้านเผด็จการที่เครือข่ายแข็งแกร่งกว่าระบอบประยุทธ์ที่แทบไม่มีกองหนุนหลงเหลือเลย

คนที่มีสติสัมปชัญญะปกติทุกคนรู้ดีว่า 14 ตุลาคม 2516 ควรถูกประกาศเป็นวันหยุดราชการเพื่อแสดงความเป็นวันสำคัญของชาติไทย

เพราะถ้าไม่มี 14 ตุลา ประเทศไทยก็อาจเป็นระบอบประธานาธิบดีที่มีพลเอกสักคนเป็นประมุขตามรอย “จอมพลสฤษดิ์” และ “จอมพลถนอม” ที่ผลัดกันเป็นนายกฯ 16 ปี

สิบสี่ตุลา 2516 มีผู้พูดถึงมากกว่า 6 ตุลาคม 2519 เพราะประชาชนชนะเผด็จการ แต่ถึงแม้สิบสี่ตุลาจะเปิดทางให้คนโหนกระแสได้กว่า 6 ตุลา ซึ่งประชาชนถูกกลุ่มผู้มีอำนาจฆ่าโหดขั้นเผาทั้งเป็นและทำร้ายศพ สิบสี่ตุลาก็ยังถูกรัฐกดให้ด้อยกว่าสถาบันจารีตประเพณีจนต้องห้ามเป็นวันหยุดแห่งชาติอยู่ดี

สิบสี่ตุลาเข้าใกล้การเป็นวันสำคัญแห่งชาติที่สุดเมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลจนผลักดันให้เกิดการเดินขบวนฉลองสามสิบปี 14 ตุลา ในวันที่ 14 ตุลาคม 2546 อย่างยิ่งใหญ่กลางเมือง แต่หลังจากนั้นการรำลึกก็ลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นอยู่กับประเทศเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

ประเทศไทยหลังทหารรัฐประหารรัฐบาล ดร.ทักษิณ ปี 2549 จนปัจจุบันคือประเทศที่เผด็จการเป็นใหญ่กว่าประชาธิปไตย เพราะถูกเผด็จการทหารปกครองตรงๆ 7 ปี ถูกปกครองโดยรัฐบาลที่ทหารหนุนหลัง 3 ปี และมีรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งจริงๆ แค่ 4 ปี แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ทหารเขียนขึ้นมาเอง

รัฐประหาร 2549 ทำให้การรำลึกสิบสี่ตุลาเป็นเรื่องน่าพะอืดพะอม เพราะคนที่เคยขับไล่เผด็จการทหารหรือโหนกระแส 14 ตุลาคม 2516 กลายเป็นผู้สนับสนุนหรือไปมีตำแหน่งการเมืองในรัฐประหาร 2549, รัฐบาลที่ทหารหนุนหลังในปี 2553 รวมทั้งรัฐประหารปี 2557 จนปัจจุบัน

ความเฮงซวยของคนเดือนตุลาสายเผด็จการทำให้การรำลึก 14 ตุลา 16 เป็นเรื่องเหม็นเน่าของคนเอาหน้ามากกว่าคนรักประชาธิปไตยจริงๆ

งานสิบสี่ตุลากลายเป็นวันนัดถ่ายรูปของคนหนุ่มสาวปี 16 ซึ่งกลายเป็นคนชราอยากอวดวีรกรรมประชาธิปไตยจากความจริงที่ตัวเองในวัย 60 หนุนเผด็จการ

ยิ่งคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกจากประชาธิปัตย์มาตั้งม็อบ กปปส.แล้วใช้เพลง “สู้ไม่ถอย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การขับไล่เผด็จการทหารปี 2516 ชุมนุมหนุนเผด็จการทหารในปี 2557 ส่วนกองเชียร์ก็พล่านแสดงความเห็นโดยอ้างว่าเป็น “คนเดือนตุลา”

เหตุการณ์สิบสี่ตุลาก็ไม่มีอะไรให้คนอยากเกี่ยวข้องอีกเลย

14 ตุลาคม 2563 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดการรำลึก 14 ตุลาคม 2516 กลางถนนราชดำเนินโดยคนรุ่นที่ไม่เกี่ยวกับการขับไล่เผด็จการเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการรำลึก ระลอกนี้ดำเนินไปโดยไม่มี “คนเดือนตุลา” ตัวท็อปที่ลอยหน้าลอยตาถ่ายรูปทุกครั้งที่มีงานนี้เลย

ด้วยน้ำมือกลุ่มคณะราษฎรปี 2563 ซึ่งจงใจเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ตามผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเป็นกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เคยถูกกลุ่มล้มเลือกตั้งและกองเชียร์เผด็จการยึดไปก็กลับมาเป็นของประชาชนอย่างงดงาม

ตรงข้ามกับ “คนเดือนตุลา” หรือคุณสุเทพที่ใช้ 14 ตุลาคม 2516 ไปอัพเกรดตัวเองหรืออวยเผด็จการ นักศึกษาประชาชนซึ่งรวมตัวเป็น “คณะราษฎร” ใช้ 14 ตุลาคม 2563 เป็นสัญลักษณ์การรวมตัวต่อต้านเผด็จการทหารและนายกที่ประชาชนไม่ได้เลือกจนนำประเทศสู่โฉมหน้าที่ไม่มีใครคิดมาก่อนเลย

การรำลึก 14 ตุลาคม 2516 โดยประกาศชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีสถานะทางประวัติศาสตร์เหมือนจอมพลถนอม ส่วนเครือข่าย คสช.ก็เทียบเท่าระบอบเผด็จการทหารที่จอมพลสฤษดิ์สร้างขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2500 และยึดครองประเทศไว้ 16 ปี

ปัญหาคือสถานการณ์ประเทศไทยวันนี้จะจบแบบวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หรือจบแบบที่ยังไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร

นักวิชาการจำนวนมากยืนยันว่า “กองหนุน” ของเผด็จการทหารยุค 2516 ประกอบด้วยขุมพลังหลายฝ่ายซึ่งรวมตัวโดยต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่ละฝ่ายมีจุดเด่นที่ฝ่ายอื่นไม่มี และทุกฝ่ายก็มีจุดอ่อนซึ่งฝ่ายอื่นไม่มีด้วย ผู้มีอำนาจจึงสัมพันธ์แบบพร้อมจะวงแตกทันทีที่สถานการณ์เปลี่ยนไป

นักศึกษา-ประชาชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อน 14 ตุลาคม 2516 โดยไม่มีใครคาดคิดเรื่องการล่มสลายของเผด็จการสามจอมพล แต่ทันทีที่มีคนยิงประชาชนหน้าสวนจิตรทั้งที่การชุมนุมยุติแล้ว กระแสการโจมตีสามจอมพลก็ยกระดับเป็น “สามทรราช” จนจบที่เผด็จการทหารต้องออกจากประเทศไป

ประเทศไทยปี 2563 ไม่มีสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจแบ่งเป็นฝักฝ่ายจนแต่ละฝ่ายพร้อมจะแยกวงทันทีที่เกิดวิกฤตขึ้นมา แต่เป็นสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจมีเอกภาพในการจรรโลงอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อผลบางอย่าง การผลักดันให้เผด็จการทหารจบแบบปี 2516 จึงต้องอาศัยพลังระดับที่มากกว่า 14 ตุลา

พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ถ้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จบด้วยอวสานของเผด็จการทหารเพราะมี “ตัวช่วย” ในรูปความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกลุ่มต่างๆ สถานการณ์เดือนตุลาคม 2563 ยังไม่มีวี่แววว่าจะมี “ตัวช่วย”

ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการต้องต่อสู้ด้วยลำแข้งของตัวเองโดยลำพัง

โดยผิวเผินแล้วฟังดูเหมือนยากที่คณะราษฎรจะบรรลุเป้าหมายเรื่องไล่รัฐบาลอย่างที่ต้องการ

แต่จุดแข็งที่ขบวนการต้านเผด็จการในปี 2563 มีมากกว่าในปี 2516 คือต้นทุนทางภูมิปัญญาและการเมืองที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะตั้งแต่ปี 2549, 2553, 2557 หรือพลังใหม่ที่เกิดขึ้นเองในยุคปัจจุบัน

ขณะที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นในเวลาที่สังคมไทยไม่มีพื้นที่สาธารณะให้สื่อ, นักวิชาการ, ปัญญาชน, ประชาชน ฯลฯ แสดงความคิดประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2563 เกิดในเวลาที่สังคมไทยเรียกคืนพื้นที่แบบนี้ซึ่งเผด็จการทหารยึดในปี 2557 หรือโซเชียลมีเดียซึ่งแทบเป็นที่มั่นของฝ่ายประชาธิปไตย

หัวใจของการต่อสู้ทางการเมืองในทุกสังคมประกอบด้วยความสามารถในการควบคุมอำนาจรัฐและครองความชอบธรรมทางอุดมการณ์ สถานการณ์ของประเทศไทยในปี 2563 คืออำนาจรัฐมีเอกภาพภายใต้การบังคับบัญชาที่เบ็ดเสร็จ กดปุ่มสั่งได้ แต่ในแง่อุดมการณ์นั้นอ่อนแออย่างไม่เคยเป็น

นักวิชาการและนักวิเคราะห์ทุกคนเห็นตรงกันว่าหนทางจรรโลงอำนาจเผด็จการรอบนี้ต้องใช้กำลัง และถึงแม้ระบอบเผด็จการในสังคมไทยจะประสบความสำเร็จในการใช้กำลังปราบประชาชน แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่การใช้กำลังจะดำเนินไปโดยปราศจากการอ้างความชอบธรรมทางอุดมการณ์

6ตุลาคม 2519 เป็นตัวอย่างของการจรรโลงเผด็จการโดยการใช้กำลังผสมกับอุดมการณ์ แต่ความเป็นจริงของประเทศในปี 2563 จะเปิดทางให้ฆ่านักศึกษาประชาชนแบบ 6 ตุลาคม 2519 ได้อีกหรือ แล้วจากนั้นจะบริหารผลกระทบของโลกต่อชนชั้นนำอย่างไรในเวลาที่ไทยเป็นแค่ลูกไล่สหรัฐและจีน

แม้รัฐไทยจะฆ่าคนเสื้อแดงในปี 2553 โดยอ้างเหตุผลทางอุดมการณ์ แต่ลำพังอุดมการณ์ไม่พอต่อการฆ่าคนไทยในปี 2553 จนรัฐต้องสร้างเรื่องชายชุดดำเพื่อโจมตีคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายที่มีอาวุธ คำถามคือแล้วในปีนี้ รัฐจะออกใบอนุญาตฆ่านักเรียน-นักศึกษาที่ไม่มีเรื่องด่างพร้อยได้อย่างไร

การฆ่าประชาชนเกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย แต่การฆ่าที่ปราศจากความชอบธรรมทางอุดมการณ์คือเงื่อนไขให้ผู้ฆ่าถูกโจมตีเป็นทรราช ระบอบเผด็จการที่แทบไม่เหลือกองหนุนจะกลายเป็นระบอบทรราชที่ไม่มีใครยอมรับในที่สุด

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งใหม่ที่จะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา