คุยกับทูต : มุฮัมมัด ฮุซัยน์ เอ็ม เอ อัลฟัยลากาวี คูเวตในวันที่มี เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ใหม่

เมื่อเอเมียร์เจ้าผู้ครองแห่งนครรัฐคูเวต ชีค ซาบาห์ อัล-อาห์เหม็ด อัล-ซาบาห์ (Sheikh Sabah Al Ahmad Al-Sabah) สวรรคตที่สหรัฐ (30 กันยายน) ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 91 พรรษาโดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุ หลังจาก 2 เดือนก่อนหน้าพระองค์เสด็จด้วยเครื่องบินรบกองทัพอากาศสหรัฐ C-17 เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมโยคลินิกเมืองโรเชสเตอร์ (Rochester) รัฐมินนิโซตา

ชีค ซาบาห์ อัล-อาห์เหม็ด อัล-ซาบาห์ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งคูเวตตั้งแต่ปี 2006 พระองค์ยังได้รับสมัญญาว่าเป็น “เจ้าคณะทูตแห่งอาหรับ” จากความพยายามของพระองค์ในการฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนอิหร่านช่วงสงครามอ่าวเมื่อปี 1990-1991 ซึ่งคูเวตถูกอิรักรุกราน

ระหว่างที่ยังทรงพระชนม์ชีพ เอเมียร์ชีค ซาบาห์ ได้เป็นผู้ผลักดันการแก้ปัญหาในภูมิภาคผ่านทางการทูต เช่น กาตาร์ถูก 4 ชาติอาหรับบอยคอตโดยมีซาอุฯ เป็นผู้นำ และยังเป็นผู้นำจัดการประชุมผู้บริจาคเพื่อช่วยเหลือชาติที่เกิดสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลาง เช่น อิรัก และซีเรีย

มกุฎราชกุมารแห่งคูเวต ชีค นาวาฟ อัล-อาหมัด อัล-จาบีร์ อัล-ซาบาห์ (Sheikh Nawaf al-Ahmad Al-Sabah) วัย 83 พรรษา ทรงเป็นพระอนุชาของเอเมียร์พระองค์เก่า ซึ่งก่อนหน้านี้ชีค นาวาฟ ทรงงานอยู่ในสายความมั่นคงมานานหลายสิบปี มาบัดนี้ ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ครองนครรัฐองค์ต่อไป เมื่อเข้าพิธีสาบานพระองค์เป็นเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 16 ต่อหน้าคณะรัฐบาล ณ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรุงคูเวตซิตี้ รัฐคูเวต

โดยได้ประทานพระดำรัสแรกว่า

“ข้าพเจ้าขอสาบานจะเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศ เพื่อเสรีภาพ ผลประโยชน์ และเศรษฐกิจของประชาชน อีกทั้งเพื่อความมั่นคงและเอกภาพ และเพื่อความเป็นปึกแผ่นของประเทศ”

 

ปัจจุบัน นายมุฮัมมัด ฮุซัยน์ เอ็ม เอ อัลฟัยลากาวี (H.E. Mohammed Hussain Al-Failakawi) รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2019 โดยก่อนหน้ามีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศกานา มาลี และโกตดิวัวร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไอวอรีโคสต์

“ผมเรียนทางด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคูเวต หลังเรียนจบก็ได้เข้าทำงานกระทรวงต่างประเทศรัฐคูเวตปี 1989”

“เนื่องจากในขณะนั้น ผมเป็นผู้แทนของชีค ซาบาห์ อัล-อาห์เหม็ด อัล-ซาบาห์ (His Highness Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah) เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ให้มาประจำการในประเทศไทยเพื่อสานสัมพันธ์ต่อจากทูตคนก่อนโดยมาเป็นลำดับที่ 6 เพื่อการประสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ดีอยู่แล้วทุกด้าน และจะทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป”

“ผมรับใช้เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต เพื่อประสานความสัมพันธ์กับประเทศไทย ไม่ได้มาที่นี่เพียงเพื่อมานั่งโต๊ะทำงานหรือรับแขก แต่มาทำงานในหลายมิติ เพื่อให้ความสัมพันธ์ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ ที่สำคัญ ต้องการให้คำว่า รัฐคูเวต เป็นที่เลื่องลือในด้านดีในราชอาณาจักรไทย”

“เรื่องที่อยู่ในระหว่างช่วงการพิจารณาคือ การมาลงทุนขนาดใหญ่ในไทย (เช่นใน EEC หรือในเรื่องก๊าซธรรมชาติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานทูตกำลังเตรียมติดต่อกับฝ่ายไทยในเรื่องแรงงานคุณภาพเพื่อให้เข้าไปทำงานในรัฐคูเวต”

“ความปรารถนาของผม คือการประสานงานกับหน่วยงานทั้งสองประเทศ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนกันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ เป็นการประสานไมตรีระหว่างกัน หลังจากที่ไม่ได้มีการเยี่ยมเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำระหว่างสองประเทศนี้เกือบสิบปีแล้ว”

 

“ผมมีความยินดีที่จะกล่าวถึง Kuwait 2035 Vision หรือแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศคูเวตปี ค.ศ.2035 (New Kuwait 2035) โดยเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะเปลี่ยนรัฐคูเวตให้กลายเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและในระดับโลกด้วย

“Kuwait 2035 Vision มีความเกี่ยวข้องกับไทย เพราะไทยมีการลงทุนขนาดใหญ่ในภาคใต้ รวมทั้งภาคตะวันออก แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวจะเป็นตัวรวมสิ่งนี้เข้าด้วยกัน หากเรามีท่าเรือน้ำลึกที่ได้มาตรฐาน การส่งออกสินค้าระหว่างกันจะมีมากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น”

“Kuwait 2035 Vision มีความเกี่ยวเนื่องกับเส้นทางสายไหมเพราะเริ่มจากปักกิ่งไปยังตะวันออกกลาง ระหว่างทางก็ต้องเจอกับประเทศไทยอยู่แล้ว ผ่านไปยังสิงคโปร์ และถึงคูเวตในที่สุด อันเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกซึ่งจะกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง นับว่าสถานทูตไทยในคูเวตมีส่วนสำคัญมากในการเชื่อมโยงนี้”

เป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางของยุทธศาสตร์ “New Kuwait” คือ การทำให้ประเทศคูเวตเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งหนึ่งของโลก มีการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เพิ่มขึ้น 300% และมีเงินเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บริการ และพลังงานทดแทนจำนวน 400 ล้านดีนาร์คูเวต หรือประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท

ซึ่งรัฐบาลคูเวตได้เริ่มดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวแล้ว

 

ยุทธศาสตร์ “New Kuwait” มุ่งที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวของคูเวตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับประเทศและสร้างโอกาสใหม่ในตลาดแรงงาน พัฒนาระบบการขนส่งในประเทศ และพัฒนาภาคพลังงานโดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public -Private Partnership)

นอกจากนี้ ยังเน้นบทบาทของเยาวชนในการเป็นผู้นำกระบวนการสรรสร้างรัฐคูเวตที่ทันสมัยซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและอนาคตที่สดใสสำหรับเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าและเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

ยุทธศาสตร์ “New Kuwait” ประกอบไปด้วย 5 หัวข้อ และ 7 เสาหลัก ซึ่งแต่ละเสาหลักจะแยกย่อยเป็นโครงการต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง

ทั้งนี้ หัวข้อและเสาหลักดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการบริหาร/ดำเนินการของรัฐบาล การพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและมีความหลากหลายทางการผลิต การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย การให้บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูง การส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสร้างสรรค์ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน และการเสริมสร้างสถานะของคูเวตในเวทีโลกให้โดดเด่น

อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายของรัฐบางส่วนจะถูกตัดจากการระงับการสร้างหน่วยงานรัฐใหม่และการปรับโครงสร้างของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ท่านทูตเสริมว่า

“สำหรับการส่งออกน้ำมันช่วงนี้ลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ปัญหาของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ระหว่างที่ราคาน้ำมันลดลง โรงเก็บน้ำมันอาจมีไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถซื้อน้ำมันจำนวนมากในช่วงที่ราคาลดลงมาเก็บไว้ได้”

“สำหรับผม ใช้เวลาสองเดือนในการปรับตัวที่เมืองไทย และช่วงล็อกดาวน์ก็ต้องเก็บตัวอยู่ที่ทำเนียบซึ่งอยู่แถวถนนราชดำริ ผมมาทำงานที่สถานทูตทุกวันแต่เป็นระยะสั้น เรามีการสลับกันมาทำงานตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน สถานทูตปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลเองก็ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะเปิดประเทศและเปิดสนามบินรับชาวต่างชาติเข้าประเทศได้เมื่อใด สถานทูตจึงต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด”

“เรายังต้องคอยดูแลนักท่องเที่ยวคูเวตที่ติดค้างอยู่ในไทย 500 คน และมีผู้ป่วยประมาณ 250 คนที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ กว่า 10 แห่ง”

“ส่วนครอบครัวของผมทั้งหมดอยู่ที่คูเวต ภรรยายังทำงานอยู่ที่นั่น มีลูก 5 คน โตกันหมดแล้ว และมีงานประจำที่คูเวตกันทุกคน ผมคิดถึงครอบครัวและเพื่อนๆ ที่คูเวต เพราะผมมาอยู่ที่กรุงเทพฯ คนเดียว”

 

“นี่เป็นครั้งแรกของผมที่มาประเทศไทย สามเดือนแรกก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผมได้ไปเยือนหัวหิน พัทยา และชอบน้ำตกที่กาญจนบุรีมาก โดยหวังว่าจะได้ไปภูเก็ต สมุย ในโอกาสที่เหมาะสม”

“ผมเป็นทูตครั้งแรกที่ประเทศกานา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นถือเป็นงานในหน้าที่ ไม่ได้เป็นเรื่องของความท้าทายแต่อย่างใด ครั้นถึงวาระที่ต้องโยกย้าย ก็มักจะรู้สึกเศร้าหมองเสมอเพราะต้องจากผู้ที่เคยคุ้น อันที่จริงผมอยู่ต่างประเทศแทบจะนานกว่าอยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอนก็ว่าได้”

มีคำแนะนำจากท่านทูตสำหรับนักการทูตน้องใหม่

“เมื่อก้าวเข้าไปในรั้วของกระทรวงต่างประเทศ สิ่งแรกที่จะต้องมีคือ ความอดทน ความอดทน และความอดทน เพราะเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการทำงานโดยเฉพาะเมื่อเป็นนักการทูต”

“คนที่เรียนจบออกมาเป็นด๊อกเตอร์และเล็กเชอร์ในมหาวิทยาลัย ก็เหมือนกับว่า ได้ให้ความรู้ที่เขาได้เล่าเรียนมา โดยมักเป็นผู้ให้อย่างเดียว แต่นักการทูตเมื่อเรียนจบและออกมาทำงาน ต้องเป็นทั้งผู้ให้ ผู้เรียนรู้ และเป็นผู้ปฏิบัติในขณะเดียวกัน”

“นอกจากนี้ นักการทูตยังเป็นคนที่ต้องทำงานห่างไกลจากทุกอย่างที่คุ้นเคย เช่น ห่างไกลจากบ้าน ครอบครัว อาหาร อากาศ สถานที่ สิ่งแวดล้อมต่างๆ และเป็นเรื่องที่นักการทูตไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

“ผมไปทำงานมา 10 ประเทศแล้ว ล้วนเป็น 10 ประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม นี่คือสิ่งที่เราต้องอดทน เป็นภาระที่หนักอึ้ง หลังห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอนของตน”

“หน้าที่ของนักการทูตจะต้องมีความตื่นตัว แอ๊กทีฟ และชาร์จพลังงานอยู่เสมอ ต้องพยายามรู้จักคนมากหน้าหลายตาและหลายระดับ เมื่อมาประเทศนี้หากมัวทำแต่งาน ไม่ได้ไปสัมผัสกับสังคมและวัฒนธรรม ก็จะไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน นักการทูตจะต้องออกไปทำความรู้จักผู้คนในประเทศนั้นๆ รู้จักวัฒนธรรม และประสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี”

ตอนท้ายท่านทูตคูเวต มุฮัมมัด ฮุซัยน์ เอ็ม เอ อัลฟัยลากาวี กล่าวว่า

“ผมอยากให้คนไทยรักประเทศไทย และหันมารักกันเองให้มากขึ้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นี่คือประเทศของเรา แผ่นดินของเรา ตอนนี้หลายคนต่างก็มีอายุเยอะๆ กันแล้ว วันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่คำว่า ประเทศไทย และแผ่นดินไทยยังคงอยู่ ความคิดเห็นทางด้านการเมืองที่แตกต่างกันนั้น หากทุกฝ่ายให้เกียรติ เคารพและยึดหลักกฎหมายของประเทศ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”

 

ประวัติ
นายมุฮัมมัด ฮุซัยน์ เอ็ม เอ อัลฟัยลากาวี
เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทย
เกิด : 13/03/1962สมรส : บุตรธิดา 5 คนการศึกษา : สาขารัฐศาสตร์ Kuwait University

ประสบการณ์

1989 : เริ่มงานที่กระทรวงต่างประเทศคูเวต

1991-1994 : เลขานุการตรี สถานเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศเซเนกัล

1994-1998 : เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศเนเธอร์แลนด์

2002-2005 : เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศซีเรีย

2005-2008 : ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศจีน

2013-2014 : ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศเยอรมนี

2014-2018 : เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศกานา มาลี และโกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์)

31 พฤษภาคม 2019 – ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทย