เรื่องเล่าฤดูร้อน : มลิตกำโปดกับเรื่องหลอกของดูราส์

วิบัติภัยแล้ง 2559 ที่มาเยือนสามเหลี่ยมดินแดนแม่น้ำโขง ณ ปลายทางเวียดนามใต้ ทำให้ฉันอดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์ผลงาน ฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ เรื่องชู้รัก / the Lover (1992)

ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยให้เห็นถึงสภาพเลนโคลนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและผู้คนที่แออัดอาศัยของฝั่งฟากแม่น้ำ ท่ามกลางฉากรักเร่าร้อนของตัวแสดงหลักในเรือนโรงไม้ที่สงบงาม กลางตลาดจอแจแบกะดิน และลำแสงที่สาดส่องละอองฝุ่นทึบทึม

ก็ ฌ็อง-ฌักส์ อังโนด์ ถือเป็นปรมาจารย์ที่มากไปด้วยวิธีเล่าเรื่องเชิงมนุษยนิยม และชอบเปลือยสันดานเถื่อนดิบในความเป็นมนุษย์อย่างซึ่งหน้า

ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาจึงถ่ายทอดออกมาอย่างจะแจ้ง และผ่านบริบทแวดล้อมที่สมจริง ตั้งแต่เรื่อง “คนล่าไฟ” / Quest for Fire (1982) จนถึง ชู้รัก / The Lover (1992) ที่ทำเอาเรื่องราวและผู้คนของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงฉายโชนออกมาอย่างลือลั่น โดยแม้ว่าโลเกชั่นนั้น จะไม่ได้ถ่ายทำจากสถานที่จริงก็ตาม

แต่ความชุ่มฉ่ำของภูมิประเทศและภูมิอากาศ ก็ยังบอกเล่าตัวตนของมันอย่างลื่นไหล ก่อนจะคล้อยหลังไป 25 ปีที่ภัยแล้งหายนะจะมาเยือน

กระนั้นเรื่อง “ชู้รัก” ซึ่งดัดแปลงจาก L”Amant de la Chine du Nord ในฉบับอังโนด์จากการตัดแต่งชีวิตวัยภาครุ่นของ มาร์เกอริต ดูราส์ ให้เต็มไปด้วยความสมจริงในแบบโลกียชน ตั้งแต่เขตชนบทของเมืองเกียดินห์ที่ฉ่ำแฉะไปด้วยดินโคลน ความเปียกชื้นของพื้นที่มรสุม วิถีชนพื้นถิ่นในย่านตลาดแบกะดินที่เต็มไปด้วยคำบอกเล่าในผู้คน

เดอะเลิฟเวอร์ ชู้รัก กลายเป็นแบบฉบับหนังเรตอาร์ที่ถูกพูดถึงในแง่งามที่ซุกอยู่ในเตียงของฉากอันรุนแรง

แต่ทว่า 19 ปีต่อมา วิธีการเล่าเรื่องแบบ ฌอง-ฌักส์ อังโนด์ ก็กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ด้วยฝีมือผู้กำกับฯ เขมร-ฝรั่งเศสที่ชื่อ พาน ฤทธี คนที่ดัดแปลงฉากคันกั้นแปซิฟิก/Un Barrage Contre le Pacifique ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของดูราส์ มาโลดแล่นเป็นภาพยนตร์ในชื่อ The Sea Wall

บริบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เดินตามแนวอังโนด์ใน “ชู้รัก” อย่างประพิมพ์ประพายยังไงยังงั้น ตั้งแต่วิธีเรื่องเล่าที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสาวผิวขาววัยขบเผาะกับหนุ่มใหญ่เชื้อสายจีน

เพียงแต่ The Sea Wall ของฤทธี ได้ขยายหยิบเอาเกร็ดชีวิตของ มารี ดอนนาดิอู-หญิงม่ายและมารดา (แสดงโดย อิซาเบล ฮูป์แปรต์) ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับธรรมชาติของผืนน้ำทะเล ที่คุกคามแผ่นดินและนาข้าวของเธอในฤดูมรสุม

รวมทั้งสวนพริกไทที่พึงหวงแหนเพียรรักษาเทียบด้วยชีวิต

กระนั้น พาน ฤทธี ก็ยังหยิบเอากรณีชาวภูมิเดรัจฉาน เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1924 ขณะ มาร์เกอริต ดูราส์ เพิ่งจะ 10 ขวบ ก่อนที่มารดาจะอพยพไปเขตกำโปดตอนที่เธออายุได้ 13 ปี ไม่เกี่ยวข้องและประสบกับปรากฏการณ์การลุกฮือสังหารเจ้าหน้าที่ต่างชาติซึ่งเกิดขึ้นต่างที่ต่างเวลา

นอกเสียจากว่า การแต่งเติมให้ชีวิตมารดา/และนักประพันธ์ มีมิติที่เกี่ยวข้องกับวิถีการต่อสู้ของชาวกัมพูชา ทั้งที่ตลอดมาใน ตระกูลดูราส์/ดอนนาดิอู มีความผูกพันแนบแน่นกับชาวอันนัมตั้งแต่ครั้งอยู่เกียดินห์-เวียดนามใต้และอพยพมาด้วยกัน

เช่นเดียวกับมุมมองฝรั่งเศสของนักสะสมวรรณกรรมอินโดจีนคนหนึ่งซึ่งให้ความเห็นว่า “ความเป็น มาร์เกอริต ดูราส์ คือสิ่งที่เขาเหลือทน” ตั้งแต่การผูกนวนิยาย/กำโปดที่โป้ปดมดเท็จคือกุเรื่องความยากจน ซึ่งไม่มีมูลความจริง!

“ความจริงก็คือ (พวก) เธอมีฐานะร่ำรวยสุขสบาย ทุกอย่างถูกอุปโลกน์ขึ้นมา เพื่อให้น่าสงสารเห็นใจ และคนก็พากันหลงเชื่อ”

กรณีหญิงม่ายมารดามาร์เกอริต ดูราส์ นี้ยังเป็นตัวอย่างศึกษาวิจัยว่าด้วย “หญิงฝรั่งเศสและอาณาจักรนิคมอินโดจีน” (French Women & the Empire : the case of Indochina, 2557) โดย Marie-Paule Ha ผู้ค้นพบว่า “สถานะของมารีมารดาม่ายของดูราส์นั้น มิได้ลำบากยากแค้น และสิ้นเนื้อประดาตัวจากโครงการบุกเบิกกสิกรรมในอินโดจีน ดังที่ปรากฏในนวนิยายที่บุตรสาวของเธอแต่งขึ้น”

ตรงกันข้าม ครอบครัวของ Marie Donnadiue (และดูราส์) มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายพอสมควร จากตำแหน่งการงานที่ทางการมอบให้

แต่ มาร์เกอริต ดูราส์ เคยอาศัยที่กำโปด เมืองที่ควรค่าแก่การลุ่มหลง (แบบเดียวกับป็องดูเชรี-อินเดีย) ดังนี้ นวนิยายที่แต่งขึ้นจึงควรค่าแก่การนำไปประดิษฐ์ไฉน เพื่อหนึ่งเดียวกัมพูชาและการดำรงค่าในแบบบารัง

ไม่ทางใดก็ทางนั้น

เป็นอีกความสวยงามหนึ่งฤดูร้อนที่พนมเปญ ขณะดำรงชีพเป็นหัวหน้าแดนเซอร์ในช่วงสั้นๆ ที่ทำให้ฉันได้ออกตระเวนไปทั่วหัวเมืองกัมพูชา

ในบรรดาคณะนักเต้นเวทีคอนเสิร์ตนี้ มีกระม่อมนางหนึ่งอายุเพิ่งจะสิบแปด เธอมีชื่อที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “อานู”

ทั้งหมดนี้ตามที่ฉันสัมผัส ดูเธอจะมีฐานะดีกว่าสมาชิกคนอื่นๆ เป็นนักเรียนนาฏศิลป์ ที่ผลการเรียนแกว่งไกวไปตามสภาพชั้นเรียนไวโอลิน ซึ่งเปิด-ปิดไม่เป็นฤดูกาล

วันหนึ่ง ขณะกำลังจะกลับบ้าน อานูก็ชวนฉันเดินเล่นฝั่งเส้นถนนกัมปูเจียกรอม ที่อานูมักจะแวะกินของว่างยามบ่ายซึ่งวางขายริมฟุตปาธ โดยเฉพาะของโปรดไข่เป็ดที่ใกล้ฟักเป็นตัวอ่อนนำมาต้มสุก อานูจะเหยาะราดมะนาวสดผสมด้วยเม็ดพริกไท และค่อยๆ ละเลียดรับประทานอย่างผ่อนคลายและมีความสุข

ฉันยังจำฉากนั้นได้ ตอนที่อานูนั่งกินไข่ข้าวและคะยั้นคะยอฉันลองบ้าง แม้จะไม่กล้าแตะอาหารประเภทนี้ แต่ก็จดจำท่วงท่าการปรุงเม็ดมลิต/พริกไท และวิธีรับประทานของอานูได้ไม่ลืม

เด็กสาวคนนี้ช่างมีจริตจะก้านที่ชวนมอง และมันทำให้ฉันนึกถึงคราวหนึ่งที่คณะของเราเดินทางไปแสดงที่เสียมเรียบตามเส้นทางหมายเลข 6 เหนือทะเลสาบใหญ่ ที่ยาวนานตั้งแต่เช้าจรดเย็น ดูเหมือนอานูจะผ่อนคลายกับผลส้มใบหนึ่ง

มันคือส้มเช้งหรือโกรจตะบองนั่นเองที่อานูบรรจงไชชอนนิ้วน้อยๆ ของเธอลงไปจนถึงใจกลางผล ราวค้นพบบ่อน้ำเล็กๆ ที่ติดตัวมาตลอดทางจากพนมเปญ จากนั้น เธอใช้ปากดูดซับเอาน้ำที่ฉ่ำชุ่มออกมาจากโกรจตะบองทีละน้อยทีละนิด ค่อยๆ ดูด แต่ให้ตายเถอะ เชื่อไหมว่า ไม่มีใครกล้ากวนใจอานูเลยจนไปถึงเสียมเรียบ!

อย่างไรก็ตาม หลังจากกลับจากเสียมเรียบครั้งนั้น อานูหายตัวไป

มีเรื่องเล่าว่า แดนเซอร์ของฉันคนนี้ หายตัวไปจากบ้านพร้อมกับเงินสดหลายพันดอลลาร์ที่มารดาสะสมไว้ ถึงตอนนี้ฉันพอจะเชื่อแล้วว่า ยังมีชาวเขมรบางคนที่ไม่นิยมฝากเงินกับธนาคาร

แต่ความต้องการแปลกๆ แบบฤดูร้อนของอานูนั่นเอง ที่ทำให้เธอและหนุ่มคนรักข้างบ้าน พากันไปซื้อมอเตอร์ไชค์รุ่นล่าสุด

จากนั้นพวกเขาก็ขับมันหายไปจากพนมเปญในบัดดล โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองกำโปดด้วยสัญชาตญาณในแรงขับความรักและเสรีภาพที่เขาและเธออยากขับขานมันออกมาจนแม้แต่เสื้อผ้าที่จะสวมใส่ ทั้งสองก็ไปหาซื้อเอาข้างหน้า จากเขตหนึ่งสู่เขตหนึ่ง จนถึงเมืองกำโปด!

ตอนนั้น ฉันก็คิดไม่ตกเหมือนกันว่า ทำไมต้องเป็นที่นั่น

แต่ไม่กี่เดือนถัดมา คณะแดนเซอร์ของเราก็มีโอกาสไปเปิดการแสดงที่กำโปด และเพียงวันเดียวเท่านั้น ฉันก็ตกหลุมรักเมืองนี้โดยทันทีไม่มีลืม สำหรับเมืองที่ผลาญอณูเหน็ดเหนื่อยทางจิตใจ ความสดชื่นในแสงแดด-อากาศ และที่เพิ่งทราบในกาลต่อมา คือแหล่งผลิตพริกไทตำรับที่ดีที่สุดของกัมพูชาและของพิภพโลก

“เป็นความจริง” ผู้ชำนาญเมืองกำโปดท่านหนึ่งยืนยัน

ว่าแต่ทำไมต้องกำโปดด้วยเล่า? ก็พริกไทสายพันธุ์ดั้งเดิมของจันทบูร ที่ได้ชื่อว่ารสชาติชูเชียดไม่แพ้แหล่งอื่น? ฉันสงสัย เนื่องจากทั้งจันทบูรและกำโปด ต่างมีสภาพธาตุดิน ภูมิประเทศและภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกันราวกับเมืองแฝด

แต่ช่างเถอะ ว่าแต่มลิตกำโปดมีทั้งหมดกี่สายพันธุ์?

“สี่ชนิด คือ พันธุ์มลิตดำ มลิตขาว พันธุ์สีชมพู แต่ที่ดีที่สุดนั้นคือพันธุ์-ขี้นก!”

“หา? พริกไทขี้นกนี่อ่ะนะ?”

“ใช่ แถมมันยังมีราคาแพงที่สุดในโลกอีกด้วย”

“อ้าว แล้วเราจะรู้ได้ไงล่ะว่า ขี้นกพันธุ์แบบไหนเป็นพริกไทกำโปด?”

นายมลิตไหวไหล่เล็กน้อย พร้อมอธิบายว่า

“ตรรกะนี้ง่ายมาก มันก็ไม่ต่างจากกาแฟที่ดีที่สุดในโลกที่มีต้นกำเนิดแถวดอยเชียงรายอะไรนี่แหละ”

แล้วไง? มันเกี่ยวกันยังไง? ฉันสงสัย

“เกี่ยวสิ ก็ตรงที่มันมีตำนานแบบเดียวกับช้างป่าที่กินกาแฟพื้นบ้าน พอมันถ่ายมูลออกมา เกิดเป็นกาแฟพันธุ์ใหม่พันธุ์เดียวในโลกที่หายาก…ก็นั่นแหละ ที่ทำให้รสชาติของมันวิเศษ มีมูลค่า เป็นที่ต้องการ…”

…เข้าใจล่ะ นักล่ามลิต!

อภิญญา ตะวันออก