กฎหมาย : มนัส สัตยารักษ์

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ผมมีอาชีพที่ใช้กฎหมายจึงต้องเรียนรู้กฎหมายพอสมควร แม้จะไม่ถึงกับได้รับปริญญาสาขานิติศาสตร์ แต่ผมก็อ่านกฎหมายเข้าใจ ใช้กฎหมายเป็น รู้วิธีค้นคว้า รู้การใช้ “ฎีกา” เป็นบรรทัดฐานอ้างอิงและช่วยในการตัดสินใจ และรู้ว่าควรจะปรึกษาใครเมื่อมีปัญหา

ที่สำคัญก็คือมีความสุจริตตามที่ควร ไม่หวังประโยชน์โดยมิชอบ

ความสำเร็จของการรับราชการ คือการทำงานจนเกษียณอายุโดยไม่มีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย

ไม่ต้องติดคุกติดตะราง ไม่ต้องหลบหนีคดีอาญา ไม่ต้องถูกยึดทรัพย์

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ใครต้องมารับโทษเพราะใช้กฎหมายผิดหรือใช้ในทางที่ผิด ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ถูกใครประณาม ก่นด่าและสาปแช่งตามหลัง

แค่นี้ก็น่าจะถือว่าประสบความสำเร็จในวิชาชีพกฎหมายอย่างสมบูรณ์พอแล้ว

กฎหมายไม่ใช่เรื่องลึกลับดำมืดแบบหลุมดำ ไม่ใช่เรื่องจากอวกาศนอกโลก หรืออีกจักรวาลหนึ่งที่เรายังสำรวจไปไม่ถึง แต่เป็นแค่เรื่องของธรรมชาติ เกิดขึ้นมาจากจริยธรรม มโนธรรมและธรรมของความเป็นคนของเราเอง

พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่งมีว่า “…กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่มีไว้สำหรับบังคับประชาชน…”

คิดตามประสาตำรวจที่รับผิดชอบกฎหมายกว่า 380 ฉบับอยู่แล้ว ก็คิดว่ารัฐบาลไม่ควรที่จะตั้งความหวังไว้สูงถึงขนาดจะมีกฎหมายไว้ “ควบคุมโลก”

เพราะตั้งความหวังไว้สูงมากเกินธรรมชาติทีไร ต่างออกอาการ “เพี้ยน” ไปตามๆ กันทันที อย่างกรณี “กฎหมายควบคุมสื่อ” เป็นต้น เพี้ยนถึงขนาด “อยากจับสื่อไปยิงเป้า”!

ก่อนจะเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” สถาบันตำรวจยังเป็นแค่ระดับ “กรม” ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย มี “ระเบียบข้อบังคับไม่เกี่ยวกับคดี” กำหนด (ประมาณ) ว่า ห้ามข้าราชการไปพูด เขียน แสดงความคิดเห็น สอนหรือแสดงความรู้ รวมทั้งละเล่นการแสดงต่างๆ เช่น ละคร ฯลฯ… โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้ากระทรวง

ผมอยากเป็นนักเขียนจนพอจะกล่าวได้ว่า ได้ “เกิด” ในบรรณพิภพมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม เมื่อเรียนจบเป็นนายตำรวจแล้วก็คิดว่าคงหนีความเป็น “คนเขียนหนังสือ” ไม่พ้นแน่ๆ ดังนั้น จึงทำเรื่องขออนุญาตเขียนหนังสือไว้ล่วงหน้าต่อเจ้ากระทรวงตั้งแต่เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก

ณ เวลานั้นผมไม่ได้คิดว่าระเบียบข้อบังคับฉบับนี้เป็นการ “ควบคุมสื่อ” แม้แต่น้อย คิดเพียงว่าทางราชการเจตนาเพียงป้องกันไม่ให้ข้าราชการเอาเวลาราชการไปหากินส่วนตัว

เที่ยวไปอวดภูมิรู้ พูดหรือเขียนผิดๆ ถูกๆ สร้างความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดแก่ประชาชน รวมถึงไปปล่อยไก่หรือ “โชว์โง่”

เวลาผ่านไปไม่น้อยกว่า 60 ปี นับแต่ผม “รู้จัก” ระเบียบข้อบังคับให้ข้าราชการว่า ต้องขออนุญาตเจ้ากระทรวงหากทำหน้าที่สื่อหรือเขียนหนังสือ

มาบัดนี้ผมไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว แต่ยังต้องเขียนหนังสือ ตัวผมเองถูกเรียกว่าเป็นสื่อมวลชน หรือเป็นผู้ใช้วิชาชีพสื่อมวลชนกับเขาด้วยคนหนึ่ง

ในปัจจุบันนี้ผมไม่มีเจ้ากระทรวงให้ขออนุญาต ผมควรจะทำอย่างไรถ้ากฎหมายนี้ออกมาประกาศใช้?

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไม่สนใจจะ “ใช้กฎหมาย” ที่มีอยู่แล้ว ทั้งกฎหมายอาญา พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อุตส่าห์คิดค้นหาคำภาษาไทยที่ไม่ระคายหูมาตั้งชื่อกฎหมายเสียเสนาะเพราะพริ้งน่าประทับใจ ว่า

“พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน”

แต่ในการประชุม สปท. เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ชื่อน่าประทับใจข้างต้น พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกท่านหนึ่งอภิปรายอย่าง “หงุดหงิด” สื่อที่รบกันมาตลอดเพราะสื่อชอบด่าทหาร…

“ผมไม่เข้าใจไอ้สื่อพวกนี้จริงๆ มันต้องจับไปยิงเป้า”

ผมว่าท่านอภิปรายผิดหรือลืมอภิปรายไป 2-3 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ ที่จริงแล้วสื่อชอบด่าตำรวจมากกว่าด่าทหาร (ฮา)

ประเด็นที่สองคือ ท่านไม่ได้แยกแยะระหว่างคนด่า (ตัวจริง) กับสื่อที่นำมาถ่ายทอด

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญมาก คือ เรื่องที่พวกเขาเอามาด่ามันจริงหรือเปล่า?

พักนี้คนรักตำรวจปลอดโปร่งใจมากกว่าขุ่นใจ ก็คงจะเพราะมีข่าวชื่นชมตำรวจจับคนร้ายก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้หลายรายอย่างรวดเร็วทันใจพร้อมด้วยพยานหลักฐาน

ส่วนข่าวขุ่นใจที่จบลงแบบปลอดโปร่งคือข่าวตำรวจ 4-5 นายที่ปลุกปล้ำจับคนถ่ายรูปตำรวจตั้งด่านแล้วใส่กุญแจมือ ถูกผู้บังคับบัญชาย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ส่วนอื่นทันทีโดยไม่ออกมาอ้อมแอ้มแก้ตัว

(และหวังว่าไม่ย้ายกลับมาให้ตำรวจได้ “ถอนแค้น” ชาวบ้านอีก)

ถ้าผู้บังคับบัญชาสงสารลูกน้องก็ต้องสงสารสถาบันตำรวจและสงสารชาวบ้านบ้าง ให้เขาทำหน้าที่อื่นที่ไม่ต้องมา “ประจันหน้า” กับชาวบ้านให้เสื่อมเสีย

อีกข่าวที่ยังต้องลุ้นกันอยู่ คือข่าวชาวบ้านส่วนใหญ่ “ไม่เอาด้วย” กับข้อห้ามนั่งท้ายรถกระบะ แต่คนของรัฐบาลบอกว่าจะนำข้อห้ามนี้มาใช้อีกหลังเทศกาล

(หวังว่ารัฐบาลไม่คิดจะ “ถอนแค้น” ออกกฎข้อบังคับมาให้ต่อต้านกันอีก)

ส่วนเรื่องที่ทำให้ตำรวจถูกโจมตีก็มีบ้างตามธรรมชาติ บางเรื่องเป็นของเก่าที่คนอื่นทิ้งเป็นขยะไว้จนเน่าเหม็นขึ้นมา เป็นเรื่องที่ตำรวจรับเคราะห์ในฐานะเป็น “ส่วนหน้า” ของกระบวนการยุติธรรม คือเรื่องคนรวยไม่มาศาล

อีกเรื่องเป็นเรื่องที่สังคมหลงเชื่อการสร้างกระแสนิทานดราม่า “ตากับยายเก็บเห็ด” ก่อนถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตา-ยายคนละ 5 ปี

บังเอิญ 2 เรื่องนี่มาดังโครมครามอื้ออึงเอาจากการประโคมของสื่อในเวลาเดียวกัน ผู้เสพสื่อก็มัวแต่สนใจในประเด็นอภิสิทธิ์ของคนร่ำรวยกับความไม่ยุติธรรมต่อคนยากจน จนลืมเรื่องนายทุนตัวการ (ตัวจริง) ผู้บุกรุกป่าสงวนฯ และตัดไม้ทำลายป่า ที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำเฉยและยังจับกุมตัวไม่ได้

สื่อก็ดูเหมือนพร้อมใจกันแกล้งลืมเรื่องหลักและสำคัญนี้เสียสนิท!?

“สื่อไม่พูด” นี่สิครับ ที่น่าจับมายิงเป้า