ในประเทศ : การเมือง เรื่องกินข้าว ทนายอานนท์ กับยุทธวิธี “กินข้าวทีละคำ”

แนวทาง “กินข้าวทีละคำ” ของ “อานนท์ นำภา” แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ที่ได้ประกาศถึงแนวทางการชุมนุม 14 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังประกาศ 3 ข้อเรียกร้องใหม่ ได้แก่

1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและองคาพยพ ออกจากตำแหน่ง

2. ให้สภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญทันที เพื่อรับร่างพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน

3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ซึ่งการชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการรวมหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน ได้แก่ สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.), กลุ่มประชาชนปลดแอก (Free People), แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มนักเรียนเลว เป็นต้น

ซึ่งข้อเสนอที่ตั้งขึ้นใหม่ 3 ข้อ คือการนำเอาข้อเสนอเดิมของแต่ละกลุ่มมารวมกัน นั่นคือ “3 ข้อเรียกร้อง 2 เงื่อนไข 1 ความฝัน” ได้แก่ 3 ข้อเรียกร้อง เลิกคุกคามประชาชน ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วน 2 เงื่อนไขคือ ห้ามทำรัฐประหาร ห้ามตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝัน คือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

แนวทาง “กินข้าวทีละคำ” เริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้วของการเคลื่อนไหวภาค 2 ซึ่งเป็นภาคต่อจากภาคแรก ในการเกิดขึ้นของแฟลชม็อบช่วงมีนาคม 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ และภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เต็มไปด้วยข้อกังขา ถูกมองว่าเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลมองว่ากลไกรัฐสภาไม่สามารถใช้ถ่วงดุลได้แล้ว รวมทั้งสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลที่ดึง “ส.ส.งูเห่า” มาได้ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่เป็น “สภาเสียงปริ่มน้ำ”

การเคลื่อนไหวแฟลชม็อบเริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งในโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สะเทือนเก้าอี้รัฐบาล

ทว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การชุมนุมต้องยุติไปชั่วคราวหลายเดือน จนมาถึงกรกฎาคม 2563 โดยมีชนวนเหตุจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ลงพื้นที่ จ.ระยอง หลังเกิดกรณี “ทหารอียิปต์” หนีเที่ยวห้าง ไม่อยู่ในพื้นที่ควบคุมโรค และตรวจสอบพบว่ามีทหารอียิปต์ติดเชื้อโควิด ทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่อง “วีไอพี” เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีทหารอียิปต์ที่ทำให้รัฐบาลตกเป็น “จำเลยสังคม” ถึงความหละหลวมที่เกิดขึ้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบลงพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ซึ่งในวันนั้น “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “นนท์” ณัฐชนน พยัฆพันธ์ แกนนำเยาวชนภาคตะวันออก ได้ไปชูป้ายประท้วงนายกฯ แต่สุดท้ายถูกคุมตัวออกนอกพื้นที่

จากนั้นผ่านมา 3 วัน (18 กรกฎาคม) ได้มีการนัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการและเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีแกนนำหลัก 4 คน ได้แก่ “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ขณะเป็นเลขาธิการเยาวชนปลดแอก “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ขณะนั้นเป็นประธาน สนท. “ไมค์” ภาณุพงศ์ และ “นนท์” ณัฐชนน ทำให้รัฐบาลสะเทือนไม่น้อย จนต้องใช้กลไกรัฐสภาตั้ง กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ที่มี “แบด” ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ. มีกรอบการทำงาน 3 เดือน ซึ่งฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย เพราะมองว่าเป็นการเตะถ่วงเวลา และไม่ได้เป็นนั่งร้านให้รัฐบาล

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เป็น “จุดตัดสำคัญ” คือ การชุมนุมของกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและมอกะเสด ได้จัดกิจกรรม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” เมื่อ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วงสำคัญอยู่ที่การปราศรัยของ “ทนายอานนท์” ที่พูดถึงการปฏิรูปสถาบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดเรื่องสถาบันในเวทีการชุมนุมอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คืน 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่เวทีการปราศรัยได้กล่าวถึงสถาบันเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการขึ้นภาพและคลิปของ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” รวมทั้งการขึ้นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ที่ดุเดือดรายวัน-รายสัปดาห์

จนมาถึงการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกเมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การขึ้นพูดของ “ทนายอานนท์” และจบท้ายด้วยแนวทางของคณะประชาชนปลดแอกคือ “3 ข้อเรียกร้อง 2 เงื่อนไข 1 ความฝัน” นั่นเอง ซึ่งการชุมนุมที่ผ่านมายังไม่มีการพักค้างคืน อีกสิ่งสำคัญคือการร่วมชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มากขึ้นด้วย

มาถึงการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ที่จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่มีเป้าหมายทวงคืนสนามหลวงให้เป็น “สนามราษฎร” โดยเจ้าหน้าที่ได้เปิดให้ใช้พื้นที่สนามหลวงได้

เวทีปราศรัยเริ่มต้นขึ้นในช่วงเย็นได้ไต่ระดับดีกรีเนื้อหาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงดึกได้มีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน และเป็นการชุมนุมที่มีการค้างคืนครั้งแรก ก่อนที่รุ่งเช้าจะมีพิธีการ “ปักหมุดคณะราษฎร 2563” ลงพื้นสนามหลวง และการยื่นหนังสือ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน

ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้มีคนเสื้อแดงเข้าร่วมมากขึ้นกว่าเดิม มีการเปิดพื้นที่ให้คนเสื้อแดงบนเวทีหลัก อีกทั้งมีการรวมกลุ่มเวทีย่อยของคนเสื้อแดงรอบพื้นที่สนามหลวงด้วย

เกิดภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคน 2 วัย ที่มีทางเดินร่วมกันคือต่อต้านรัฐประหาร-เผด็จการ แม้จะมี “วัฒนธรรมทางการเมือง-ภูมิหลัง” ต่างกันก็ตาม

 

เหตุการณ์ก่อนการชุมนุม 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ถูกโฟกัสอย่างมีนัยสำคัญ คือการปรากฏข่าวของ “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ดามาพงศ์ จากนั้นเกิดปรากฏการณ์เขย่าพรรคเพื่อไทย ที่นำมาสู่การเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคใหม่ทั้งหมด ทุกอย่างเบ็ดเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่ง “คุณหญิงอ้อ” ถูกมองว่าได้เข้ามาปฏิบัติการ “กระชับอำนาจเพื่อไทย” ซึ่งเหตุผลสำคัญคือเพื่อรองรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในห้วง 1 ปีต่อจากนี้

แต่อีกด้านก็ถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีต่อการชุมนุมที่ข้อเรียกร้องทะลุเพดานอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีท่าทีที่นิ่งมากกว่าขยับในเรื่องแหลมคมเหล่านี้ ทำให้บทบาทหลักจึงอยู่ที่พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าแทน

จนมาถึงการชุมนุม 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลาคม 2516 ที่พลังคนหนุ่มสาวในยุคนั้นเอาชนะเผด็จการรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ จึงเป็น “โมเดล” ของการรำลึกเหตุการณ์ที่จะเอาชนะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย 3 ข้อเรียกร้องใหม่ เพื่อปฏิรูปการเมืองถึงระดับโครงสร้าง

ซึ่งภารกิจการชุมนุมยังไม่จบเพียงเท่านี้แน่นอน เพราะจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา 1 พฤศจิกายนนี้ ที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ หลังมีการตั้ง กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ โดยมีกรอบเวลา 1 เดือน ที่ฝ่ายค้านไม่ขอร่วมสังฆกรรมเช่นเดิม

เพราะมองว่าเป็นการยื้อเวลาเท่านั้น

ทั้งหมดจึงเป็นภาพการต่อสู้แบบ “กินข้าวทีละคำ” ของทนายอานนท์ ที่ข้อเรียกร้องและการแสดงออกของผู้ชุมนุมสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งแอ๊กชั่นของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องตั้งรับให้ทัน กับ “การเมืองเรื่องกินข้าว” นี้