มุกดา สุวรรณชาติ : อะไรจะเกิดตามมา? หลังชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา 2563

มุกดา สุวรรณชาติ

คงจะคล้ายๆ คลื่นในทะเลที่เซาะชายฝั่ง นี่เป็นคลื่นขนาดใหญ่ลูกที่ 3 และยังจะมีตามมาอีกหลายลูก

ส่วนที่ผุกร่อนที่สุดจะพังก่อน ที่แข็งแรงจะทนได้ ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ออกแบบให้แข็งแรงจึงจะอยู่ได้ยาวนาน

ผลระยะสั้นหมายถึงมีการเปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากมีการเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ เป้าใหญ่ที่สุดเป็นการไล่นายกฯ ออกจากตำแหน่ง ดังนั้น จึงอาจมีการเลือกตั้งใหม่

ส่วนการไล่ ส.ว. 250 คน คงจะมีขึ้นในกรณีที่ไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลอาจถูกขับหรือถูกล้มได้ หรืออาจลาออก

ยุบสภา นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

แต่จะมีรูปแบบการเปลี่ยนได้หลายชนิดซึ่งมีผลตามหลังต่างกัน

 

เปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป หรือไม่ปฏิรูป

ถ้าเป็นแบบปฏิรูป จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เช่น ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ เลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แยกกัน กำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.

กรณีนี้เป็นการปฏิรูปแบบเล็กๆ โดย ส.ว.จะต้องยอมยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกฯ ของตนเองออก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจะเป็นจุดขัดแย้งทำให้การประท้วง การชุมนุมขยายใหญ่ออกไป

แต่ถ้ายอมก็จะเป็นทางออกในระบบรัฐสภา เพราะไม่ว่านายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งเกิดปัญหาใดๆ ยังสามารถใช้ทางออกตามระบบรัฐสภาโดยการลาออก หรือยุบสภา เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน อาจจะมีการเลือกนายกฯ ใหม่ แบบที่นายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เคยลาออกแล้วให้สภาผู้แทนฯ เลือกนายกฯ ใหม่

หรือยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ตั้งรัฐบาลใหม่ จากนั้นเลือกนายกฯ โดยการเลือกของ ส.ส.ชุดใหม่ ส.ว.มิได้มายุ่งเกี่ยวในการเลือกนายกฯ แต่ ส.ว.ชุดเดิมก็ยังอยู่ในวุฒิสภา เพราะยังไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

ส่วนการเปลี่ยนรัฐบาลแบบไม่ปฏิรูป

คือการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้รับแรงกดดันทางการเมือง จนต้องยุบสภาหรือลาออกโดยที่ยังไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญใดๆ เลย

นั่นหมายความว่า ถ้าจะเลือกนายกฯ ในสภาหรือยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ก็จะทำตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เดิมที่ไม่ได้แก้ไข

เมื่อเป็นเช่นนี้ ส.ว.ก็ยังคงมีสิทธิ์เลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. และกฎหมายเลือกตั้งก็ยังคงเป็นแบบบัตรใบเดียวใช้คิดคะแนน ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ชุมนุมกันคงไม่ยอม และคงประท้วงกันแรงขึ้น

 

แนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่

การคาดการณ์การเมืองในอนาคต ทำให้นักการเมืองจำนวนมากเห็นความขัดแย้งและความเสื่อมของพรรคการเมืองเก่า มองเห็นโอกาสที่จะทำให้พรรคการเมืองใหม่มีโอกาสเกิดได้ และเหตุผลที่สำคัญมีสองด้าน บางส่วนต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น มองถึงการเปลี่ยนโครงสร้าง

แต่บางส่วนก็มองเห็นโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลหรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพราะแนวโน้มการตั้งรัฐบาลจะต้องเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน ดังนั้น ในช่วงนี้และในเดือนต่อๆ ไปก็จะพบว่ามีคนตั้งพรรคเล็กพรรคน้อยที่ไม่มีใครรู้จัก หรือเป็นพรรคการเมืองที่แกนนำพรรคการเมืองใหญ่แอบส่งมาตั้งไว้ เพราะกลัวว่าสถานการณ์การเมืองเปลี่ยน พรรคที่ตนเองอยู่จะมีปัญหา แตกไป จึงต้องเตรียมตัวให้สามารถมาตั้งพรรคเล็กได้ทันเวลาเลือกตั้งใหม่

ยิ่งแรงกดดันของการชุมนุมนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่มีเป้าประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมีมากขึ้นเท่าใด ความปั่นป่วนในพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะมีมากขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
แบบปฏิวัติ หรือรัฐประหาร

แบบรัฐประหาร เคยเกิดหลายครั้งแต่ทำแล้วไม่เคยทำให้บ้านเมืองดีขึ้น

เช่น มีผู้ใช้กำลังอาวุธมาทำการยึดอำนาจการปกครอง อ้างความเลวร้ายต่างๆ ในการปกครองที่ผ่านมา แต่กลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ก็จะไม่ยอม และอาจไม่ผ่านด่านนี้ไปง่ายๆ

ถ้าเจอการระดมถอนเงินจากธนาคาร ก็คงไปไม่เป็นแล้ว

ถ้าผ่านด่านแรกได้ก็ยังไม่แน่ใจว่ารูปแบบของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ใครจะเข้ามามีอำนาจชั่วคราว และจะชั่วคราวนานแค่ไหน ซึ่งประชาชนคงไม่ยอมและต่อต้านต่อไปจนโค่นล้ม โครงสร้างของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นภายหลังจะเป็นอย่างไรยิ่งคาดคะเนยาก

ขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงจะไปไกลแค่ไหน เปลี่ยนใครบ้าง?

อาจเกิดการปะทะด้วยกำลัง เพราะไม่มีใครยอมลงจากอำนาจง่ายๆ และมีการสร้างสถานการณ์ให้ขยายใหญ่โตเลวร้ายลง

อาจมีปฏิบัติการที่จะทำให้นักศึกษา-ประชาชนเป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งผู้มีอำนาจเดิม ไม่ว่าอยู่ระดับไหนก็จะกลายเป็นเป้าหมายว่าเป็นผู้กระทำหรือผู้สั่งการ และจะต้องรับผิดชอบในกรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีการใส่ร้ายป้ายสี และปฏิเสธ

แต่การกระทำในอดีตของแต่ละคนจะทำให้ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศเชื่อว่าคนเหล่านั้นได้กระทำหรือสั่งการจริงๆ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมีผลให้กลายเป็นคดีระดับโลก และจะโยงย้อนหลังไปยังคดีอื่นๆ ในอดีต

ในท่ามกลางความเบื่อหน่ายของประชาชน คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และในระหว่างการสู้กัน ผู้ยึดอำนาจอาจมีข้อเสนอที่ประชาชนสนใจ เช่น ให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และเลือกตั้งโดยเร็ว เลือก ส.ส.ร. ฯลฯ

โดยพวกเขาอาจมีข้อแลกเปลี่ยนที่ต้องการตามเป้าหมาย ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของฝ่ายต่างๆ

 

แบบที่ 2 เป็นแบบที่คล้ายการปฏิวัติ

คือเกิดเหตุการณ์ประท้วง ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจนกระทั่งรัฐบาลถูกโค่นล้ม ซึ่งอาจจะมีผู้ฉวยโอกาสที่มาจากกลุ่มอำนาจหลายกลุ่ม และหวังผลการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งการเมืองหลายระดับ และหวังผลทางเศรษฐกิจ

กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งผู้ที่แอบช่วยทำตัวเป็นมือที่มองไม่เห็น และสร้างสถานการณ์กดดันจนสามทรราชต้องเดินทางออกจากประเทศไทย แต่ก็ไม่มีใครปรากฏตัวว่าเป็นผู้ทำรัฐประหาร

ภาพที่ปรากฏจึงเป็นชัยชนะจากกำลังนักศึกษา-ประชาชนล้วนๆ ที่บอกว่าคล้ายการปฏิวัติแต่ไม่ใช่ เพราะอำนาจหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้ตกอยู่กับฝ่ายประชาชนที่ลุกขึ้นสู้

แต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ฝ่าย รสช.ที่อยากสืบทอดอำนาจไม่ได้พ่ายแพ้แก่ประชาชนผู้ประท้วงอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นการยอมถอยลงจากอำนาจแต่ไม่ถูกขับออกจากประเทศ

ผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังเหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้ง ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา แต่ก็ขึ้นมามีอำนาจชั่วคราว และก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ตามกฎเกณฑ์กติกาใหม่ที่ประชาชนยอมรับ

ถ้ามีสถานการณ์ทำนองนี้หลัง 14 ตุลาคม 2563 แม้จะอีกหลายเดือนก็จะต้องดูว่าผลสุดท้ายใครเป็นผู้กำหนดทิศทางหลักในการบริหารประเทศ

สถานการณ์วันนี้ยังถือว่าดีพอควร ทุกฝ่ายยังมีทางเลือก

สัญญาณที่ดีออกมาในระดับรัฐบาล คือการยอมเลือกตั้งท้องถิ่น

แสดงว่ารัฐบาลอยากลดแรงกดดันจากการเมืองใหญ่ระดับประเทศให้คนหันมาสนใจระดับท้องถิ่น และมองว่าทางออกสุดท้ายยังไงก็ต้องมีเลือกตั้งใหม่ น่าจะมีคนวิเคราะห์ผลดีผลเสียให้เห็นว่า

การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปง่ายที่สุด เสียหายน้อยที่สุด

 

ทำไมการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำไมเลือก อบจ.ก่อน

สําหรับรัฐบาลที่คิดว่าจะมีการเลือก ส.ส.ใหม่ จำเป็นต้องประเมินผลล่วงหน้า

ในทางยุทธศาสตร์ การเลือกนายก อบจ.สามารถใช้วัดกระแสการเลือกตั้งระดับเขต ระดับจังหวัดในการเลือกตั้งใหญ่ แม้เลือกตั้งการเมืองระดับประเทศจะมีเรื่องของพรรคการเมือง อุดมการณ์ นโยบาย คนที่เป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์ของกลุ่มอาชีพต่างๆ ในจังหวัด เป็นเรื่องสำคัญความเชื่อถือในตัวบุคคลตามท้องถิ่นต่างๆ ที่แตกต่างกับผู้สมัคร ส.ส.

แต่ผลคะแนนโดยรวมถ้ามีกระแสการเมืองแรงบางด้านก็จะปรากฏให้เห็น ครั้งนี้น่าจะเป็นการจับตามองทีมคณะก้าวไกล

ในทางยุทธวิธี สำหรับพรรคการเมือง ที่คิดจะหาคะแนนผ่านหัวคะแนนตามตำบล หมู่บ้านต่างๆ แลต้องพึ่งนักการเมืองท้องถิ่น ถ้ามีการเลือกตั้ง ส.จ.พร้อมกับนายก อบจ. ก็จะสามารถมองลายแทงระดับจังหวัด ระดับเขต และไล่ลงไปตามสายความสัมพันธ์ทำให้พอประเมินได้ว่าในแต่ละเขตเลือกตั้งสามารถทำคะแนนได้เท่าใด ต้องลงทุนไปมากน้อยอย่างไรจึงจะคุ้ม หรือไม่ควรลงทุน

ในทางยุทธศาสตร์ยังสามารถกำหนดว่าจะสู้การเลือกตั้งในเขตใดบ้าง เมื่อรวมทั้งประเทศจะส่งสมัครกี่เขต ถ้าเป็นพรรคขนาดใหญ่ก็ยังจะกำหนดออกมาอีกว่า เขตที่เป็นเกรด A เกรด B เกรด C มีอย่างละกี่เขต จะให้เงินในการหาเสียงแต่ละเขตอย่างไร

แต่เรื่องนี้ทุกฝ่ายต่างมองเห็น

ความหนักใจของรัฐบาลคือไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เยาวชนนักสู้จะทำอะไรต่อ??

และที่ทุกฝ่ายประเมินไม่ได้ และยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจน คืออำนาจที่นอกเหนืออำนาจรัฐบาล และตัวแทรกที่ซ่อนอยู่ ว่าคิดแก้ไขเกมแบบไหน หรือกล้าฉกฉวยโอกาสหรือไม่? การประเมินว่าอะไรจะเกิดตามมา จึงยังมีตัวแปรที่ทำให้ไม่อาจหาข้อสรุปในเวลานี้