จรัญ พงษ์จีน : คณะราษฎรถือกำเนิด กับกลิ่นโชยของรัฐประหารครั้งใหม่

จรัญ พงษ์จีน

การนัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งของแนวร่วมกลุ่มนักศึกษา-ประชาชน-พลเมือง ที่รวมตัวกันกว่า 30 องค์กร ในนาม “คณะราษฎร” นัดรวมพลกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ดีเดย์ 14 ตุลาคม 2563 ด้วยข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นหลัก

แต่ลิเกยังไม่ทันลงโรง ม็อบแค่ตั้งเวที เจ้าหน้าที่ตำรวจปูพรมเข้าสลายการชุมนุมด้วยวิธีแยบยล โดยประกาศขอคืนพื้นที่ และเข้ารื้อเต็นท์ ยึดเครื่องขยายเสียง ไล่ให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ใช้กฎหมายกดดัน แต่อีกฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือ ยืนยันที่จะปักหลักต่อ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงงัดมาตรการ “ไม้แข็ง” เข้าเผด็จศึก ทำการจับกุมกลุ่มแกนนำและผู้เกี่ยวข้องในเบื้องต้น 21 คน ที่เวทีปราศรัยชั่วคราว หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 หรือ “บก.ตชด.ภ.1” คลองห้า จ.ปทุมธานี

รูปเกม ตำรวจเก่งมาก สามารถปิดเกมได้แค่พลิกฝ่ามือ ง่ายราวกับฟันหยวกกล้วย ฉึกเดียวขาดกระจุย นกกระจอกยังไม่ทันกินน้ำ

ศึกสงครามจบเร็ว และประสบชัยชนะอย่างงดงาม ไม่ทันออกแรง ไม่ต้องชกใต้เข็มขัด หรือเล่นไพ่โกง “โป้งเดียวจอด” หมาต๋าไทยฝีมือเลิศสะแมนแตนมาก

“แต่…มันแค่เผาหัว เพียงจุดเริ่มต้นนับหนึ่ง หวั่นเกรงว่า “สถานการณ์ 14 ตุลาฯ” จะยกระดับกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว…ขยายความขัดแย้งให้สังคมไทยปะทุ บานปลาย ไปกันใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง”

ตราบใดที่เอาความไม่เป็นธรรมเสมอภาคมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ความขัดแย้งก็ไม่สิ้นสุด

อย่าลืมเป็นอันขาด สังคมไทยยลตามโลก เข้าสู่ยุคสมาร์ตโฟน ไม่ได้รบพุ่งกันด้วยปืน ดาบ อาวุธยุทโธปกรณ์ สู้กันตามโลกโซเชียลมีเดีย ออนไลน์ “ทวิตเตอร์”

ข้อมูลข่าวสารได้สื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้ คืออาวุธที่ทรงพลานุภาพยิ่งใหญ่ “ตำรวจ” แค่จับกุมแกนนำ-ยึดคืนถนน-รถดูดส้วม ขณะที่อีกฝ่ายประสบชัยทางโลกโซเชียล

สงครามยุคใหม่ ไม่ได้แพ้-ชนะกันวัดกันที่การนับจำนวนศพ “ข่าวสาร” ต่างหากคือเครื่องมือวิเศษ เหมือนดาบศักดิ์สิทธิ์

ฉะนั้น “กองทัพใดที่ปราศจากข่าวสาร ไม่ต่างอะไรกับแพ้สงคราม”

พูดถึงการชุมนุมของม็อบ “คณะราษฎร” ที่ตำรวจสามารถเผด็จศึกได้รวดเร็ว ซึ่งยังไม่แน่ว่า จะตัดไม้ข่มนาม…ดับไฟแต่ต้นลมได้หรือไม่ประการใด ยังไม่ชัวร์ป้าบ ถ้าดูตามการจับแกนนำผู้ชุมนุม ดูประหนึ่งว่า ฝ่ายอำนาจรัฐ “ชนะ”

แต่หากดูตามช่องทาง “ข่าวสาร” ตามโลกโซเชียลแพ้ราบคาบ แค่ตั้งรับ เป็นเด็กเอ๋ยเด็กน้อย ลมพัดทางไหนเจ้ายังไม่รู้เลย

เหนือสิ่งอื่นใด บรรยากาศการชุมนุม 14 ตุลาคม 2563 ส่อเค้าเล่าอาการว่า จะเป็นคบไฟส่องทาง ยกระดับนำไปสู่การ “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ขึ้นในประเทศไทยได้อีกครั้ง

แม้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับ “รัฐประหาร” ทุกครั้ง จะดาหน้าออกมาการันตีเสียงดังฟังชัดกันอย่างพร้อมเพรียงเสียงเดียวกันว่า “ไม่มี” แต่ก็อย่าลืมเป็นอันขาดเช่นกันว่า “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ในบ้านเรา มันไม่ได้ตามเรามา แต่เราก็ไปหามันเองมาตลอด ก่อนลงมือฝนฟ้าก็ตั้งเค้าเยี่ยงเดียวกันนี้มาตลอด มีม็อบ มีการชุมนุม ผู้ลงมือก็อ้างเอาสถานการณ์อันไม่สงบสุขเข้าจัดการ

ไม่มีคำโกหกใดดีเท่ากับบอกว่า “ตัวเองบริสุทธิ์” แล้วเป็นไง ตามไปดู

 

หากมีการหยิบยกสถิติที่ผู้นำทหารนำกำลัง “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ในประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาคเดียวกัน มาเปรียบเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ปรากฏว่า “ไทยครองแชมป์” นำโด่งแบบม้วนเดียวจบ

ด้วยสถิติที่ท่วมท้น จำนวน 17 ครั้ง “กัมพูชา” 12 ครั้ง “ฟิลิปปินส์ 11 ครั้ง “พม่า-ลาว” ประเทศละ 6 ครั้ง “อินโดนีเซีย” น้อยที่สุด 5 ครั้ง

ตามบันทึก “รัฐประหาร” เรียงตามลำดับเริ่มด้วย “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” เมื่อปี 2476 ตามด้วย “พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา” ปี 2476

“พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ” ปี 2490 และ 2491 “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ปี 2494 “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ปี 2500 กับ 2501

“จอมพลถนอม กิตติขจร” ปี 2514 “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” ปี 2519 และ 2520 “พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์” ปี 2534 “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ปี 2549

และน้องนุชสุดท้อง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ปี 2557 แต่น่าจะไม่ใช่หนสุดท้าย ประเทศไทยยิ่งช่วงนี้กลิ่นไม่ดี “ปฏิวัติ” โชยลม

นี่ยังไม่นับรวมที่นายทหารนำกำลังปฏิวัติ-รัฐประหาร แต่กระทำการไม่สำเร็จ แล้วเผชิญกับความล้มเหลว เหล่าผู้นำต้องแปรสภาพเป็น “กบฏ” ก็มีหลายรุ่น หลายคณะ

“คนแพ้” คือ “ผู้ร้าย” แปลกแต่จริง ผู้นำปฏิวัติที่กระทำการสำเร็จ ไม่มีใครโดนตามเช็กบิลย้อนหลังเลย

สรุปประเทศไทย ถูก ท.ทหารยึดครองอำนาจ จับประชาธิปไตยเข้าช่องฟรีซแช่แข็งมาตลอดระยะ มากกว่าเพื่อนบ้าน ผู้นำคณะปฏิวัติ-ยึดอำนาจที่ลงมือสำเร็จจึง “ครองเมือง” ในฐานะนายกรัฐมนตรี รวมทั้งอดีตนายทหารจากกองทัพที่ไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่ถูกผลักดันด้วยเงื่อนไขทางการเมืองขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” มาแล้วทั้งสิ้น รวมศิโรราบ 46 ปี ประกอบด้วย

“จอมพล ป.” 15 ปี “จอมพลสฤษดิ์” 5 ปี “จอมพลถนอม” 11 ปี “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” 8 ปี “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” 47 วัน “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” 1 ปี และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทั้ง 2 ร่างทรง จาก “ปฏิวัติ” และ “เลือกตั้ง” รากงอกมาแล้ว 6 ปี

เห็นว่าจะลากยาวจนครบเทอม และชนะเลือกตั้งอีกครั้ง ทำสถิติเป็นผู้นำเกิน 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ดังที่บอก “ม็อบ 14 ตุลาฯ” บรรยากาศมีแนวโน้มว่า หากผู้มีอำนาจแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน โอกาสที่สถานการณ์จะยกระดับสู่ “สงครามสีเสื้อ” อีกคำรบ มีความเป็นไปได้สูงมากไม่น้อยทีเดียว

ตามลายแทง ก้าวถัดไปของการเมืองไทยคือ “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ด้วยข้ออ้างเพื่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

ใครจะเป็น “ผู้นำปฏิวัติ” คนใหม่ เป็นโจทย์ที่หาคนตอบยาก