เศรษฐกิจ/WTTC ยกท่องเที่ยวไทยผงาดท็อปทรีโลก

WTTC ยกท่องเที่ยวไทยผงาดท็อปทรีโลก เอกชนเตือนอย่าเพิ่งยิ้ม…เร่งปิดจุดอ่อน สู่ฝันรายได้ 4.1 ล้านล้านในอีก 10 ปี

ดูเหมือนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเข้ามามีบทบาทสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จนล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ปลื้มอีกครั้ง เมื่อผลสำรวจดัชนีจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2560 จัดทำโดยมาสเตอร์การ์ด ระบุว่ากรุงเทพฯ ยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทั้งสิ้น 19.3 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 339.2 ล้านคนที่เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 171 แห่ง

และกรุงเทพฯ ยังครองสถิติเป็นเมืองที่มีการค้างคืนของนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ 87.6 ล้านคืน

เป็นอันดับ 2 ของเมืองที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากที่สุด อยู่ที่ระดับ 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 2.449 แสนล้านดอลลาร์ รองจากสิงคโปร์อยู่อันดับ 1 ที่ระดับ 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็น “สวรรค์แห่งอาหารริมทาง” หรือเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ดีที่สุดในโลก ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว

นอกจากนี้ สภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress) ได้ยกให้ “หอยทอด” เป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุดที่หารับประทานได้ริมทางในกรุงเทพฯ

อีกเรื่องสำคัญที่ทำให้นายกรัฐมนตรียิ้มไม่หุบ เมื่อ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) ได้รายงานข้อมูลประจำปี 2559 ว่าไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.5 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ล้านล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก ในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือปี 2569

ถือเป็นฟันเฟืองหลักตัวหนึ่งที่ช่วยดันตัวเลขเศรษฐกิจไทยได้หลังจากการส่งออกในช่วงที่ผ่านเจอแต่อุปสรรคจนตัวเลขติดลบ

ส่วนรายได้ท่องเที่ยวจะสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกได้จริงหรือไม่ ต้องให้ผู้คร่ำหวอดในวงการช่วยยืนยันอีกแรง

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่ามีความเป็นไปได้สูง และมีความมั่นใจมาก เพราะฐานรายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นมาตลอด อย่างปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าจะมีรายได้ 2.7 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเหลืออีก 1.4 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ถึง 4.1 ล้านล้านบาท ไม่น่าจะยากมากนัก เพราะแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะเริ่มย้ายจากยุโรป อเมริกา มาในกลุ่มประเทศเอเชียมากขึ้น แน่นอนว่ามีไทยติดกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดีเป็นลำดับต้นๆ ด้วย

“สิ่งสำคัญที่จะไปถึงเป้าหมายได้ ยอมรับว่า อุปสรรคก็มีเหมือนกัน ทุกอย่างมันไม่ได้มาง่ายๆ อย่างที่เห็นชัดเจนคงเป็นเรื่องโครงสร้างคมนาคมขั้นพื้นฐานที่ยังเติบโตไม่ทันกับภาคท่องเที่ยว ทั้งสนามบินในอีกหลายจังหวัดที่ควรพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ ให้มีสายการบินไปลงได้ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอีกมาก เพียงแต่การเดินทางไปไม่สะดวก ระบบท่าเรือ รถขนส่งก็ต้องพัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยควรเอาข้อมูลมาร่วมกันวิเคราะห์ว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร แผนการกระจายนักท่องเที่ยวเป็นอย่างไร ระบบขนส่งเพียงพอหรือต้องเร่งเพิ่มในส่วนไหน ไม่เช่นนั้นเกิดปัญหาแน่นอน”

ด้านบุคลากร ถือเป็นอีกปัญหาสำคัญ เพราะนอกจากขาดแคลนจนต้องพึ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ปัญหามัคคุเทศก์ (ไกด์) ก็ขาดแคลนเช่นกัน ถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะไกด์ที่เชี่ยวชาญภาษาประเทศเป้าหมาย อย่างจีน รัสเซีย เกาหลี กลุ่มสแกนดิเนเวีย ยังไม่ค่อยเห็นแผนเป็นรูปธรรมเท่าใด และยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย การหลอกลวงนักท่องเที่ยว เหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่จริงจัง

“ยอมรับว่า แม้เราจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรายได้สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่มาตรการรองรับคงยังเทียบกับอีกหลาๆ ยประเทศไม่ได้ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย หรือแม้แต่ฝรั่งเศส”

ด้าน นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ก็เห็นด้วยว่าประเทศไทยมีโอกาสจะสร้างรายได้ 4.1 ล้านล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นเสาหลักหนึ่งในการสร้างรายได้ให้ประเทศ และขึ้นแท่นในเวทีท่องเที่ยวโลกได้

แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ชัดเจน ที่ผ่านมา ภาครัฐโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านโครงการเมือง 12 เมืองต้องห้าม…พลาด และตามด้วย 12 เมืองต้องห้าม…พลาด (พลัส) แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัจจัยหลักๆ เพราะเรื่องการเดินทางที่ยังไม่สะดวกพอ รวมถึงภาคบริการอย่างโรงแรมที่แรงงานไม่เพียงพอ ปัญหาการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เรื่องความปลอดภัย เหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

“ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ต้องร่วมกันนับหนึ่ง ตั้งแต่วันนี้เอาทุกปัญหา ทุกอุปสรรคมาร่วมกันสรุป เพื่อช่วยกันหาทางออก”

ส่วน นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ยังไม่ฟันธง เพราะปัจจัยต่างๆ ในอนาคตเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้า เช่น เศรษฐกิจโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากมีปัญหาจะกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมากน้อยแค่ไหน แต่ยอมรับในอนาคตทั้งรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไปจากมากับทัวร์จะเป็นการเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) มากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ชอบเดินทางแบบเอฟไอที คาดว่าในอนาคตจะเหลือกรุ๊ปทัวร์ราว 10% เรื่องนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวควรต้องรีบปรับตัวรับมือ

“ความปลอดภัย ถือเป็นปัญหาอันดับแรกๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ยิ่งถ้ารูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบเอฟไอทีได้รับความนิยมมากขึ้น นั่นหมายความว่า เขาจะทำทุกอย่างด้วยตัวเองระหว่างท่องเที่ยว จำนวนต่อกรุ๊ปจากเป็นสิบๆ คน ก็คงเหลือ 2-3 คน หรืออย่างมาก 6-7 คน การดูแลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะยากมากขึ้น เพราะการเข้าพักก็จะกระจายไปหมด ยิ่งถ้าปัญหาโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายยังแก้ไขไม่ได้ ถือเป็นอีกความเสี่ยงสำหรับนักท่องเที่ยว อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงถ้าไทยได้ขึ้นแท่นรายได้ท่องเที่ยวระดับโลก คือระบบการบริหารจัดการทรัพยากรของแหล่งท่องเที่ยวดีเพียงพอแล้วหรือยัง”

“ไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกต่อไป”

ปิดท้ายด้วย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ในฐานะผู้ว่าการ ททท. ต้องมองความเป็นไปได้ต่อรายได้ 4.1 ล้านล้านบาท แต่ผู้ว่าการ ททท. บอกว่าต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันให้ได้ตามเป้าหมาย

ทั้งหมดทั้งมวล ที่ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ นำเสนอ สุดท้ายต้องย้อนกลับไปที่ภาคกำกับดูแล หรือรัฐบาล ว่าเสียงสะท้อนเหล่านี้ จะทำให้เห็นปัญหาและเร่งแก้ไข

ไม่ได้มัวฝันหวานกับรายได้ที่คาดการณ์ทิ้งไว้กับอนาคตที่ไม่แน่นอน!!