ปรากฏการณ์ “เนติวิทย์” เขย่าจุฬาฯ สะเทือนรัฐบาล จุดแข็ง มาจาก “เลือกตั้ง”

เป็นกระแสร้อนแรงในโลกสังคมออนไลน์และสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับ

กรณี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตชั้นปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ในการประชุมสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ วันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ด้วยคะแนน 27 เสียงจากสมาชิกที่มาประชุม 36 คน

สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนภายใน-ภายนอกรั้วจามจุรี ทั้งศิษย์เก่า-ไม่ใช่ศิษย์เก่า ก่อเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง แยกเป็นกลุ่มต่อต้านไม่พอใจ กับกลุ่มให้การสนับสนุน

เนติวิทย์ ชื่อเล่นแฟรงค์ โลกโซเชียลเรียกว่า “เนเน่” กล่าวภายหลังได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ว่าจะมุ่งเน้นนโยบายปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของนิสิตจุฬาฯ

ด้วยความเป็นเยาวชนหัวก้าวหน้ามาตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นมัธยม

เคลื่อนไหวคัดค้านขนบธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างในสถาบันการศึกษาระดับโรงเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าเรื่องระบบรับน้อง การตัดผมเกรียน พิธีกรรมไหว้ครู การร้องเพลงชาติ การเกณฑ์ทหาร ฯลฯ

แต่ประเด็น “เรียกแขก” ได้มากสุด

และเกี่ยวพันโดยตรงกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มคนไม่พอใจนายเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ก็คือการแสดงออกถึงแนวคิด

ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรม “หมอบกราบ”

“แขก” ที่นายเนติวิทย์กวักมือเรียก นอกจากบรรดานักเลงหลังจอคอมพิวเตอร์ ที่หนักไปในทางใช้ถ้อยคำประณาม ด่าทอ เหยียดหยาม สาปแช่ง จนถึงข่มขู่คุกคาม

ยังมีแขกระดับ “วีไอพี” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นักเขียนบทความ

รวมถึงดาราสาว นุสบา ปุณณกันต์ นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 2 ภรรยานายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่โพสต์ข้อความด้วยประโยคลงท้าย

“ไม่เคยเห็นชีวิตของใครผู้ลบหลู่แล้วมีจุดจบที่ดี”

ขณะที่บรรยากาศในจุฬาฯ กำลังร้อนแรง

หลังนายเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ เพียงวันเดียว

วันที่ 5 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้รับเชิญไปปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทมหาวิทยาลัยไทย ต่อไทยแลนด์ 4.0”

กล่าวตอนหนึ่ง พาดพิงกรณีนายเนติวิทย์ รวมถึงสำนักข่าวบางแห่งนำเสนอข่าวแนวคิดนายเนวิทย์ เรื่องความพยายามยกเลิกพิธีหมอบกราบ ว่า

สถาบันอุดมศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ในทุกๆ สถาบัน ฝากประธานสภานักศึกษาในที่นี้ด้วย ที่นี่คงไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ที่มีความคิดสุดโต่ง ผมไม่อยากรบกับเด็ก

นึกเสียดายและเป็นห่วงเพราะเสียชื่อสถาบัน

เมื่อผมไปต่างประเทศ ถ้าเขาบอกว่าไม่อยากอยู่ประเทศของเขา เขาจะให้ไปอยู่ที่อื่น

ดังนั้น จึงต้องเคารพกฎหมาย ขอให้อยู่ร่วมกันโดยสันติวิธี เสน่ห์ของเราต้องช่วยกันรักษา อย่าไปข้างหน้าแล้วทิ้งข้างหลัง ประวัติศาสตร์ที่ดีเป็นความภาคภูมิใจขอให้เก็บเอาไว้

อันไหนไม่ดีก็ขอให้อย่าทำอีก

พลันสิ้นเสียง พล.อ.ประยุทธ์ นายเนติวิทย์ก็โพสต์ข้อความถามกลับทันที “ใครคือความอับอายของชาติ”

เมื่อผ่านการศึกษา ผ่านการอบรม ฝึกวินัยมาแล้วน่าจะรู้จักเคารพกติกาบ้านเมือง ถ้าอยากเล่นการเมืองก็มาตั้งพรรคการเมือง แต่กลับเล่นนอกกติกา ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ลิดรอนสิทธิคนอื่นอย่างต่อเนื่อง

ในสายตานายเนติวิทย์ ตรงนี้ต่างหากเป็นการทำลายชื่อเสียงประเทศมาเกือบ 3 ปี

ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมองว่า

กรณีนายเนติวิทย์ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของนิสิตจุฬาฯ ในการเลือกตัวแทนภายในสถาบันการศึกษาของพวกเขาเอง ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ไม่สมควรเข้าไปแทรกแซง กล่าวโจมตี

ประเด็นสำคัญคือ ในแง่มุมความเป็นประชาธิปไตย นายเนติวิทย์มีเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่งสง่างาม กล้าหาญจะพิสูจน์ตัวเองในสนามเลือกตั้งตามกฎกติกา

กระทั่งได้การยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ในประชาคมนิสิตจุฬาฯ

ปรากฏการณ์เนติวิทย์ในรั้วจามจุรี ยังนำมาสู่เหตุการณ์อื่นๆ มากมาย

เป็นเครื่องสะท้อนว่า “ว่าที่ประธานสภานิสิตจุฬาฯ” คนใหม่ มีทั้งคนรัก-คนเกลียด มีทั้งคนชอบ-คนชัง

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ภาคเหนือ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีนายเนติวิทย์ ว่า

คนที่ไม่ใช่นิสิตเก่าให้ความเห็นในเชิงอาฆาตแค้น มุ่งทำลายเขาเสียให้ดับดิ้นไปเพราะเหตุแห่งความเชื่อของตนเองนั้น ไม่แปลก ในสังคมที่แตกแยกเลือกขั้วเลือกฝ่ายเช่นปัจจุบัน

แต่คนเป็นนิสิตเก่าที่เป็นรุ่นพี่บางคนนั้น น่าเศร้าใจมาก

แทนที่จะให้ความเมตตา ประคับประคองในฐานะรุ่นพี่ที่มีต่อรุ่นน้อง ตามประโยคที่เราจำใส่ใจมาตลอดว่า “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” แต่กลับมาแสดงความอาฆาตมาดร้ายด้วยอคติแห่งความเชื่อของตนเอง

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความระบุ นายเนติวิทย์ไม่ได้จะยกเลิกพิธีหมอบกราบ เขาแค่ขอสิทธิในการเลือก

ว่าใครจะแสดงความเคารพในแบบไหน ก็ให้เป็นสิทธิของคนนั้น

ในมุมฝ่ายเกลียดชัง มีความพยายามโยงนายเนติวิทย์เข้าไปหาพรรคเพื่อไทย และ นปช.

เป็นเหตุให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ส่งทนายความตัวแทนเข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

ดำเนินคดีกับคนนำภาพและข้อความเท็จเผยแพร่ลงในโซเชียลออนไลน์ ทำให้คนเข้าใจผิดว่า นายเนติวิทย์ก้มกราบคุณหญิงสุดารัตน์ และกล่าวหาคุณหญิงสุดารัตน์ อยู่เบื้องหลังแนวคิดเกี่ยวกับการหมอบกราบ

เบื้องต้นมีการระบุผู้กระทำความผิด 4 ราย

ที่น่าสนใจ 2 ใน 4 ราย เป็นนายทหารระดับนายพลในกองทัพ

“ผมเห็นข่าว คุณลุงวสิษฐ เดชกุญชร เขียนถึงผมแล้ว ผมรู้สึกเสียใจที่คุณลุงซึ่งอ้างว่าเป็นรุ่นแรกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการศึกษาจากครูอาจารย์

ท่านเหล่านั้นน่าเคารพ มีวุฒิภาวะ มีความเมตตาธรรม สอนให้ลูกศิษย์มีวิจารณญาณ ไม่ตัดสินอะไรไปเกินด่วน ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย พระองค์ท่านเองก็มีจุดประสงค์ให้นิสิตมีคุณภาพ

แต่คุณลุงรุ่นแรกกลับเขียนอย่างขาดวุฒิภาวะ อ่านหนังสือไม่รอบคอบ เชื่อความเท็จ ใส่ความ โจมตีผมอย่างผิดๆ เรื่องผมไปกราบคุณหญิงสุดารัตน์

ทั้งที่คนกราบในภาพและคุณหญิงสุดารัตน์ได้ชี้แจงไปแล้ว และจะฟ้องร้องคนกล่าวเท็จใส่พวกเขาด้วย คุณลุงไม่ตามข่าว เช็กข่าวบ้างหรือ

ถ้าคุณลุงมีเมตตากับผมไม่ได้ ผมจะเป็นตัวอย่างให้ท่าน

ผมถูกคุณลุงรังแกใส่ความเท็จ ผมจะไม่ว่าอะไรคุณลุงเรื่องนี้ แต่ผมเห็นใจคุณลุงที่ตกเเป็นเหยื่อของความเท็จ ของสื่อที่บิดเบือน และชราภาพที่ครอบงำ

คุณลุงเป็นนักเขียนที่มีคนอ่านพอสมควร ต่อไปขอให้คุณลุงเขียนอย่างรอบคอบกว่านี้ อย่าทำแบบนี้กับผมอีกและคนอื่นๆ อีกเลย”

นายเนติวิทย์โพสต์ข้อความ หลังจาก พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เขียนบทความระบุนายเนติวิทย์เป็นผู้เลื่อมใสกลุ่ม นปช. และเคยเห็นภาพนายเนติวิทย์ก้มกราบคุณหญิงสุดารัตน์

ความเกลียดชังต่อตัวนายเนติวิทย์ ไม่เพียงฟุ้งตลบอยู่ในโลกโซเชียล แต่ยังทะลุออกมานอกจอ

ตามเหตุการณ์ชาย 2 คนขับขี่รถจักรยานยนต์มาถามหานายเนติวิทย์ ด้วยถ้อยคำหยาบคายและท่าทีข่มขู่คุกคามถึงตึกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ต่อมานายเนติวิทย์ ได้ไปแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.ปทุมวัน

กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายเนติวิทย์ยอมรับว่ากลัว แต่จะสู้ต่อไปด้วยสันติวิธี เพราะเชื่อว่าการชนะความเกลียดต้องด้วยความรัก ความเคารพในสิทธิของผู้อื่น

เป็นคำกล่าวสะเทือนใจบรรดา “คุณลุง” ทั้งหลายยิ่งนัก