คำผกา : เด็กมันรักชาติ

คำ ผกา

มันเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับฉันมากที่อยู่ๆ คนไทยจำนวนหนึ่งก็พากันเดือดเนื้อร้อนใจกับผลการเลือกตั้งประธานสภานิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะตำแหน่งนี้มันไม่ได้มีผลอะไรกับคนไทยโดยทั่วไปเลย

มันเป็นเรื่องของนิสิตจุฬาฯ ที่มีกิจกรรม กิจการงานอะไรของเขาเอง

และเขาจะเลือกใครมันก็เรื่องของเขา เราจะไปยุ่งอะไรด้วย

หรือถ้าคิดว่าตำแหน่งนี้มีนัยสำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติ คำถามก็คือ ทำไมไม่ไปสนใจตำแหน่งประธานสภาฯ นิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ทำไมสนใจแต่ของจุฬาฯ

แล้วถ้าสนใจจุฬาฯ ทำไมไม่สนใจตำแหน่งเดียวกันนี้ของปีอื่นๆ มาสนใจแต่ของปีนี้ทำไม

หลายคนอาจจะตอบว่าถ้าไม่ใช่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ก็คงไม่ยุ่ง และไม่เดือดร้อน

คำถามคือ แล้วเดือดร้อนในประเด็นอะไรถ้าหากเป็นเนติวิทย์

หลายคนก็อาจจจะตอบอีกว่า ก็เพราะเนติวิทย์เรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา

เรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา

เรียกร้องให้มีประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง

เรียกร้องให้ยกเลิกการรับน้อง

เรียกร้องให้รุ่นพี่ เคารพ ให้เกียรติรุ่นน้องในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

เรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

ยกเลิกให้ใช้วัฒนธรรมสากลในการแสดงความเคารพ ฯลฯ

คำถามต่อไปคือ แล้วสิ่งที่เนติวิทย์เรียกร้องมันไม่ใช่สิ่งที่สากลโลกเขายอมรับกันหรือ?

ระบบโซตัสก็ไม่มีเหลืออยู่ในมหาวิทยาลัยใดๆ ในโลกแล้ว หรือมีก็ได้รับการยอมรับในแวดวงที่แคบมากถึงมากที่สุด

ชุดนิสิต นักศึกษา ก็ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่เขามีกันแล้ว ยิ่งประเทศที่เขาเจริญแล้ว พัฒนาแล้ว ยิ่งไม่มี

คิดๆ ดูก็ยิ่งแปลก คนไทยชอบไปเที่ยวยุโรป ชอบไปญี่ปุ่น ชอบไปเกาหลี ชื่นชมว่าประเทศเขาดีจัง เจริญจัง สะอาดจัง ไฮเทคจัง คนสุภาพจัง คนมีวินัยจัง แต่ไม่ยักกะตั้งคำถามว่าประเทศที่เราชอบไปเที่ยว ประเทศที่เราชื่นชมในระเบียบวินัย ในความเจริญ พัฒนา อารยะ อาหาร ขนม รถยนต์ รถไฟความเร็วสูง ธรรมชาติ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ประเทศเหล่านั้นก็ไม่เห็นจะต้องบังคับเด็กให้ใส่เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา หรือต้องมีระบบโซตัส รับน้อง

หรือมีพิธีกรรมแสดงความรักชาติพร่ำเพรื่อแบบที่คนไทยเห็นจะเป็นจะตายเวลามีคนออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกวิถีปฏิบัติเหล่านี้

ในทางกลับกัน ถ้าเนติวิทย์ออกมาเรียกร้องให้รื้อฟื้อระบบโซตัสให้แข็งแรงขึ้น

เรียกร้องให้ทุกโรงเรียนในเมืองไทยตรวจทรงผมนักเรียนให้เข้มงวดขึ้น

ใช้ความเป็นอำนาจนิยมมาจัดการปัญหาแบบจัดหนักๆ

รณรงค์ไม่เอาการเลือกตั้งในทุกระดับของประเทศ

ส่งเสริมแชร์ลูกโซ่ในมหาวิทยาลัย

เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ สวดมนต์หลังเคารพธงชาติ

เรียกร้องให้อธิการบดีต้องออกมาให้โอวาทนิสิต เพื่อปลูกฝังระเบียบ อุปนิสัยที่ดี ให้กับนิสิตทุกคน

เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ แต่งเครื่องแบบ ทั้งในและนอกแคมปัสเพื่อแสดงความเคารพและความภาคภูมิใจในความเป็นจุฬาฯ เรียกร้องให้มีการบวงสรวงเทพประจำสาขาวิชา เช่น ศิลปศาสตร์ต้องมีบวงสรวงพระพิฆเนศวร

เออ…ถ้าเนติวิทย์เรียกร้องอะไรแบบนี้ แล้วได้เป็นประธานสภานิสิตฯ เราค่อยแสดงความกังวล หรือวิพากษ์วิจารณ์ไหม?

และถึงที่สุด ถ้าเนติวิทย์ทำอย่างนั้นจริงๆ เราก็คงไม่เข้าไปเผือกกับการเลือกตั้งของเหล่านิสิต เพราะถือว่าเขาเลือกกันเองก็ต้องรับผิดชอบกันเอง

แต่อาจทำการวิเคราะห์สักเล็กน้อยว่า มีปัจจัยอะไรให้เขาได้รับเลือก คล้ายๆ กับที่เราต้องวิเคราะห์ว่าทำไมคนอเมริกันเลือกทรัมป์ หรือทำไมคนฟิลิปปินส์เลือกดูแตร์เต

แต่ความเดือดร้อนใจของคนไทยกลุ่มหนึ่งต่อการที่เนติวิทย์ได้รับการยอมรับจากสังคมจุฬาฯ น่าจะมาจาก “จินตนาการ” ที่ตนเองมีต่อจุฬาฯ และสถานะของจุฬาฯ ในการรับรู้ของคนไทย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ บอกว่า จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีและต่ำกว่าในสถาบันการศึกษาของรัฐบาล ในปี 2015 มีจำนวน 2,019,276 คน จากประชากร 65 ล้านคน (http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries06.html)

จากตัวเลขนี้ทำให้เราพอเห็นภาพได้คร่าวๆ ว่าจำนวนคนที่จบปริญญาของมหาวิทยาลัยของรัฐบาลไม่น่าจะถึงร้อยละสิบของจำนวนประชากร

และหากจะโฟกัสมาที่มหาวิทยาลัยคู่บ้านคู่เมืองอย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ก็ไม่แน่ใจว่าจะถึงร้อยละห้าหรือไม่

นั่นหมายความว่ามีประชากรไทยจำนวนน้อยมากถึงมากที่สุดที่ได้เข้ามาเรียนในสองมหาวิทยาลัยนี้

และย่อมทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นชนชั้นหัวกะทิ เป็นคนอีก “ระดับ” หนึ่ง ที่ต่างออกไปจากชาวบ้านร้านช่องอย่างเราๆ ท่านๆ

เวลาบอกใครว่า ลูกเรียนจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือผม/ดิฉันจบจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์

จึงเป็นการบอกสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม – ซึ่งก็แปลกหรือผิดอะไร ไม่ต่างจากคนอเมริกันจะเห็นว่าคนเรียนหรือจบมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกเป็น “ชนชั้นนำ” ที่เหนือกว่าชาวบ้านร้านช่องทั่วไป และน่าจะมีอนาคตเป็นผู้ทรงอิทธิพลในด้านใดด้านหนึ่งของสังคมต่อไปในภายภาคหน้า

เพราะฉะนั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนไทยจะต้องแอบมีความหวังกับเหล่านิสิตนักศึกษา หรือมีความหวังกับสถาบันการศึกษาระดับนำของประเทศ ว่าพวกเขาเหล่านี้ รวมถึงครูบาอาจารย์ในนี้ ย่อมมีบทบาทในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ อย่างน้อยๆ ก็ในเรื่องของสติปัญญา ความรู้ มีบทบาทในการให้บริการสังคมทางภูมิปัญญา ทั้งในทางรูปธรรม นามธรรม

ยิ่งประเทศที่ยากจนอย่างเรา ที่จำนวนปัญญาชนมีไม่มากนัก ปัญญาชนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยจึงต้องสวมบทบาทปัญญาชนสาธารณะด้วย

เช่น นอกจากสอนหนังสือ ทำงานวิจัย แล้วยังต้องเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นคอมเมนเตเตอร์ในรายการโทรทัศน์ หรือมีการเลือกตั้งอเมริกา ฝรั่งเศส

เราซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตเจอนัลลิสต์ที่เก่งหรือมีความเชี่ยวชาญในการเมืองของภูมิภาคต่างๆ ในโลกนี้ได้ไม่ทัน/ไม่พอ ก็ต้องเรียกใช้บริการนักวิชาการมาเขียน มาให้ความรู้ มาคอมเมนต์ – ให้เราฟัง

แต่ปรากฏการณ์เนติวิทย์ทำให้ฉันประหลาดใจอย่างที่สุด – จนถึงตอนที่นั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ก็ยังไม่หายประหลาดใจว่า – เฮ้ยยยยยย – ความคาดหวังคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มีต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างจุฬาฯ

คือเขาคาดหวังให้จุฬาฯ สนับสนุนทุกคุณค่าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมสมัยใหม่หรือนี่???

สําหรับโลกสมัยใหม่ สถานะของความรู้คือเครื่องมือปลดปล่อยมนุษย์จากการถูกครอบงำ หลอกลวง หลอกใช้ เป็นเหยื่อ หรือพูดให้ถึงที่สุดคือเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้เป็นคนเต็มคน มีศักดิ์ศรี มีเจตจำนงของตนเอง และต้องยืนยันศักดิ์ศรีและเจตจำนงนั้นอยู่เสมอ

ก่อนเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ รัฐที่กุมอำนาจอยู่ย่อมต้องการผูกขาดการเข้าถึงวิชาความรู้ โดยเฉพาะวิชาความรู้ทางปรัชญา หรือมิเช่นนั้นก็อุปโลกน์ผลิตวิชาความรู้เพื่อกล่อมเกลาคนให้เชื่อง ให้เชื่อว่าตนเองนั้นไร้อำนาจและเกิดมาเพื่อจะเป็นคนไม่เต็มคน เกิดมาเพื่ออุทิศชีวิตให้แก่ผู้ครองอำนาจ และไม่มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง

การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของโลกสมัยใหม่นั้นอย่างน้อยในทางทฤษฎีก็ได้พยายามแสดงความเท่าเทียมในการเข้าถึงความรู้ด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

เช่น ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นลูกเป็นหลานใครเท่านั้นถึงมีสิทธิมาสอบ – แต่จะสอบได้หรือไม่ได้ หรือมีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการการอภิปรายในอีกประเด็นหนึ่ง – (ในขณะที่โลกก่อนสมัยใหม่ ชาติวุฒิ หรือชาติกำเนิด เป็นตัวบ่งชี้โอกาสและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทุกประเภท)

คนไทย โดยเฉพาะคนไทยชั้นกลางลูกจีนเกือบทั้งหมด ได้เป็นผู้เป็นคน ไม่ถูกดูถูกเหยียดหยาม กีดกัน ได้เรียนหนังสือ ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่มีใครมาไล่ดูสาแหรก ได้สอบเข้าเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าคนนายคน ได้เป็นนักธุรกิจ ได้ค้าขาย ได้มีสิทธิ์ซื้อบ้าน ซื้อรถ ไม่ได้อยู่ในสังคมที่กำหนดความสามารถในการบริโภคจากชาติวุฒิ ได้นั่งเก้าอี้กินข้าวเหมือนคนทั้งโลก ใช้มีด ใช้ส้อม ได้ใส่กางเกง กระโปรง รองเท้า ได้ทำอะไรอย่างที่เราได้ทำทุกวันนี้ก็เพราะการยอมรับให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านจากความเป็นก่อนสมัยใหม่เข้าสู่ความเป็นสมัย ยอมรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ subjects ว่าต่อไปนี้ subjects ทั้งหลายคือพลเมือง มีสิทธิอำนาจเหนือตัวตนของตนเองอย่างสมบูรณ์

แต่กลับเป็นเรื่องประหลาดมากที่คนไทยจำนวนหนึ่งไม่รู้ ไม่ตระหนักเลยว่า อะไรที่ทำให้พวกเขาได้เป็นพลเมืองอย่างที่ได้เป็นทุกวันนี้

พวกเขายังทุรนทุรายที่จะกีดกัน ปิดกั้น สิทธิแห่งความเป็นพลเมืองนี้ไม่ให้เกิดแก่คนอื่นอีกด้วย

และนั่นน่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมคนเหล่านี้ไม่เคยคิดจะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยให้บริการแก่สังคมทางด้านวิชาความรู้ หรือมีบทบาทสร้างความเป็นธรรมในสังคมมากกว่านี้

อย่างเลวที่สุดพวกเขาไม่เคยเรียกร้องความเป็นเลิศทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนอย่างมหาศาล

ไม่เคยตั้งคำถามว่า ที่ดินอันมากมายที่มหาวิทยาลัยครอบครองอยู่ควรได้รับการบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนและชุมชนด้วย

เช่น เมื่อมหาวิทยาลัยได้กำไรจากการมีพื้นที่ให้เช่าเพื่อการค้าแล้ว มหาวิทยาลัยควรสร้างสวนสาธารณะด้วยไหม?

มหาวิทยาลัยควรเจียดเงินมาทำห้องสมุดบริการประชาชนหรือคนด้อยโอกาสบ้างไหม?

มหาวิทยาลัยควรมีหอศิลป์ฯ ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชม เข้าถึงได้อย่างสบายอกสบายใจบ้างไหม?

แทนที่เราจะเรียกร้องสิ่งเหล่านี้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเรา

ตรงกันข้าม

เรากลับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเป็นสถาบันแห่งหอคอยงาช้าง

มีหน้าที่ปกปักรักษาความดั้งเดิม ความเก่า ความโบราณ ประเพณีดั้งเดิม และสัญลักษณ์ที่จะแยกมนุษย์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่จบไปจากมหาวิทยาลัยนี้ให้สูงส่ง สูงค่า เหนือกว่ามนุษย์มนาคนอื่นๆ ในสังคม

และแม้แต่คนที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนจำนวนไม่น้อยก็กลับอิ่มเอม มีความภาคภูมิใจกับการได้อยู่ ได้เป็นส่วนหนึ่งในลำดับชั้นต่ำสูงนี้ โดยไม่เคยสำเหนียกเลยว่าความเป็นคนของตนเองถูกกัดกร่อนอย่างไร และพร้อมพลีกาย พลีใจ อุทิศตนรักษาลำดับชั้นเหล่านี้เอาไว้

ซึ่งเมื่อนั่งพิจารณาแล้ว มันดูวิปลาศจังเลย

สําหรับคนที่บอกว่าเนติวิทย์ไม่รักชาติรักแผ่นดิน

พึงเข้าใจว่าคนหนุ่มสาวที่มีพลัง มีอุดมการณ์ มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงแผ่นดินแม่ แผ่นดินเกิดให้ดีขึ้นอย่างเนติวิทย์นั้น นับวันจะหาได้น้อยลงเรื่อยๆ

ในโลกยุคไร้พรมแดน และคนยุคมิลเลเนียลคือชนเผ่า digital nomad คนเร่ร่อนแห่งแผ่นดินดิจิตอลที่น่าจะมีหัวหน้าเผ่าชื่อ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค หรือประธานของบริษัทกูเกิล เป็นผู้นำชนเผ่า คนเหล่านี้ไม่มีความผูกพันหรือคิดว่าตนเองมีภาระหน้าที่ต่อแผ่นดินแม่

พูดให้ตรงกว่านั้นคือ คนเหล่านี้ไม่เชื่อเรื่องแผ่นดินแม่อีกต่อไปแล้ว

โลกทั้งใบคือบ้านของพวกเขา

และเขาจะไม่มีวันลงหลักปักฐานอยู่ในแผ่นดินใดแผ่นดินหนึ่ง เมืองใดเมืองหนึ่ง

ภูมิศาสตร์ จักรวาลของเขาไม่ใช่พื้นผิวโลกตามภูมิศาสตร์แบบเดิม

แต่ภูมิศาสตร์เป็นแผนที่โลกอีกฉบับหนึ่งที่หมุดหมายต่างสัมพันธ์และมีความเข้มข้นของความหมายอ้างอิงตามชีวิตที่เป็นไปในโลกของดิจิตอลต่างหาก

ดังนั้น พวกเขาจึงไม่รู้สึกว่าตนเองมีภารกิจอะไรต่อแผ่นดินเกิดเลย เพราะเขาเกิดที่นี่ แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่และตายที่นี่ เพราะพวกเขาคือคนของโลก

เนติวิทย์ไม่ใช่คนไม่เอาชาติ แต่เขาคือคนที่รักชาติในยุคที่คนร่วมสมัยกับมีความรู้สึกต่อชาติเบาบางลงเรื่อยๆ

เพราะถ้าเขาไม่รักชาติ ไม่รักเพื่อนร่วมชาติ เขาไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมอะไรเลย และสมาทานเป็น digital nomad เป็นคนมิลเลเนียล ที่ไม่ต้องแบกภาระทางสังคม อุดมการณ์ และความผูกพันกับใครๆ ในชุนชนจินตกรรมอันเป็นผลผลิตของศตวรรษที่ 20