เพ็ญสุภา สุขคตะ : “เจ้าหลวงคำแดง” – “ตำนาน” หรือ “เรื่องจริง”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

อารักษ์ล้านนา : เจ้าหลวงคำแดง ณ ดอยหลวงเชียงดาว ตำนานสวมความเชื่อ หรือความเชื่อสวมตำนาน? (2)

ฉบับก่อนได้นำเสนอตำนานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของ “เจ้าหลวงคำแดง” อารักษ์เมืองเชียงใหม่ไว้ 2 เวอร์ชั่น

เวอร์ชั่นแรก คือป้ายหน้าวัดถ้ำเชียงดาว ระบุว่า เจ้าหลวงคำแดงเป็นโอรสกษัตริย์เมืองพะเยา ติดตามกวางทอง ซึ่งแท้จริงแล้วคือนางอินเหลา ผีเสื้อยักษ์ถ้ำผู้กลายร่าง ในที่สุดทั้งสองก็สิงสถิตเฝ้าดอยหลวงเชียงดาว

กับอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ไม่ระบุชื่อเมืองพะเยา แต่บอกว่าเจ้าสุวัณณะคำแดงเป็นโอรสกษัตริย์เมือง “โจรณี” หรือ “พระญาโจรณี” ทำให้เราต้องมาตีความกันว่า เมืองโจรณี คือเมืองอะไร อยู่ที่ไหน?

ทั้งยังบอกว่า เมื่อเจ้าสุวัณณะคำแดงติดตามกวางทองจนหลงไปยังถ้ำของนางอินเหลาแล้ว เจ้าสุวัณณะคำแดงได้ลาจากนางมา (ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า นางอินเหลากับกวางทองเป็นคนละตนกัน)

กวางทองได้หลอกล่อเจ้าสุวัณณะคำแดงให้เดินทางไปจนถึงเชิงดอยสุเทพ จนพบฤๅษี พบรอยเท้าสัตว์ เห็นนิมิตต่างๆ จนในที่สุดเจ้าสุวัณณะคำแดงหยุดตามกวาง แต่ปักหลักสร้างเวียงเจ็ดลิน (เชษฐบุรี) อันเป็นต้นเค้าเวียงโบราณในลุ่มแม่ระมิงค์ก่อนที่จะมีการสร้างเมืองเชียงใหม่ในอีก 800 ปีถัดมา

ฉากสุดท้ายนี่เองที่ทำให้ชาวเชียงใหม่นับถือเจ้าสุวัณณะคำแดงหรือเจ้าหลวงคำแดงในฐานะประมุขแห่งอารักษ์เมืองของชาวล้านนา

ประเด็นน่าสนใจที่ดิฉันอยากชวนวิเคราะห์เจาะลึกมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ

1 การเชื่อมโยงตำนานให้เจ้าหลวงคำแดงเป็นปฐมวงศ์ผู้สร้าง “เวียงเจ็ดลิน” อันเป็นเมืองโบราณรุ่นเก่าที่ร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญไชย โดยระบุว่าเวียงเจ็ดลินสร้างมาก่อนเชียงใหม่นั้น มีหลักฐานทางด้านโบราณคดีมารองรับมากน้อยแค่ไหนหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ ดิฉันขอแยกนำไปวิเคราะห์ต่างหากในตอนที่จะเขียนถึงเรื่อง “เวียงเจ็ดลิน” เมื่อมีโอกาส

2 การพบคำว่า “เมืองพะเยา” ซึ่งเป็นชื่อเมืองสำคัญที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ล้านนา (ไม่เหมือนชื่อ “โจรณี”) แต่ถูกนำชื่อไปปะปนกับนิทานปรัมปรา จนทำให้สับสนงงงวย ว่าปรากฏชื่อเมืองพะเยาในตำนานอารักษ์ล้านนาขึ้นมาได้อย่างไร

หรือว่าเอาเข้าจริงแล้วชื่อของ “เจ้าหลวงคำแดง” เองก็อาจเป็นบุคคลจริงทางประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยาด้วยเช่นกัน และไม่ได้เก่าคร่ำถึงยุคฤๅษีตามที่ตำนานระบุ?

 

การกระจายตัวของอารักษ์
“เจ้าหลวงคำแดง”
ในกลุ่มไทเผ่าต่างๆ

ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาชาติพันธุ์ กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “เทพารักษ์ล้านนา : จากหอผีสู่รูปปั้นศาลเจ้าและอนุสาวรีย์” จัดพิมพ์โดย CRAS (ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เมื่อปี 2560 ว่า

“นามของ “เจ้าหลวงคำแดง” นี้ผู้คนในล้านนาและอาณาบริเวณใกล้เคียงมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไป ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทั้งหมดนี้จะเป็น “คำแดง” คนเดียวกันหรือไม่” อาจารย์ประสิทธิ์ได้จำแนกชื่อเรียก “เจ้าหลวงคำแดง” ของคนไทเผ่าต่างๆ ตามที่กระจายตัวออกไปดังนี้

๏ ชาวไทยวน และชาวลัวะ เรียก “สุวัณณะคำแดง (สุวรรณคำแดง) ปรากฏในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และตำนานสุวรรณคำแดง เขียนในยุคพระเจ้ากาวิละ

๏ ชาวไทยวน เรียก “เจ้าหลวงคำแดง” ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ผูกที่ 9 กับตำนานแม่ระมิงค์ ประวัติศาสตร์ครองเมืองเชียงใหม่

๏ ชาวไทยวน (อพยพมาจากเมืองน่าน) แถบวัดพระเจ้านั่งดิน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เรียก “พระญาคำแดง” ปรากฏในตำนาน “เจ้าเมืองพุทธรสะ” และ “ประวัติพระเจ้านั่งดิน”

๏ ชาวไทยวน บ้านตับเต่า (อพยพมาจากเมืองน่าน) และบ้านเชียงเคี่ยน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เรียก “เจ้าพ่อคำแดง”

๏ ชาวไทยวน (อพยพมาจากอำเภอแม่ทะ เกาะคา ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) ที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เรียก “เจ้าหม่อมคำแดง” และ “ขุนคำแดง”

๏ ชาวไทลื้อ บ้านแพด อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เรียก “เจ้า (พ่อ) พญาคำแดง”

๏ ชาวไทลื้อ บ้านดอนมูล และบ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เรียก “เทวดาคำแดง” หรือ “แม่พญาคำแดง”

๏ ชาวไทลื้อในสิบสองปันนา เรียก “เจ้าคำแดง” ในนิทาน 4 แสนหมอนม้า, เรียก “พญาคำแดง” และ “พันนาคำแดงเมืองแช่” ในเชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองปันนา, เรียก “เจ้าฟ้าหลวงคำแดง” ในพับหนังสือพื้นเมืองหลวง

๏ ชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน เรียก “เจ้าขุนคำแดง” ในประวัติศาสตร์ไทใหญ่ พื้นไทตอนกลาง, เรียก “คำแดงเสือไก่” ในพงศาวดารเมืองไท เครือเมืองกูเมือง

๏ ชาวไทใหญ่ในดินแดนอาหมเรียก “เจ้าฟ้าดอกคำแดง” ในพงศาวดารไทอาหมหรืออาหมบุราณจี

๏ ชาวไทใหญ่ที่พรมแดนล้านนา-พม่า เรียก “เจ้าหมอกคำแหลง (คำแดง)” บ้างเรียก “เจ้าหน่อเนื้อคำแดง” ปรากฏในคำไหว้ผีเจ้าเมืองผีเจ้าบ้าน บ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

๏ ชาวไทน้อยในลาวเรียก “พระญาล้านคำแดง” ในพงศาวดารลาว ประวัติศาสตร์ลาว

อาจารย์ประสิทธิ์เห็นว่า แม้ชื่อทั้งหมดมีการเรียกขานแตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่นหรือกลุ่มชาติพันธุ์ก็จริง แต่เนื้อความโดยรวมของตำนานในพื้นที่ต่างๆ ล้วนระบุว่า “คำแดง” เหล่านั้น ต่างเคยเป็นกษัตริย์และต่อมามีสถานะเป็น “เทพารักษ์ของชุมชน” และมักมีการเชื่อมโยงกับดอยหลวงเชียงดาวทั้งสิ้น

 

เจ้าหลวงคำแดง กษัตริย์เมืองพะเยา
มีตัวตนจริงหรือแค่อิงตำนาน

เชื่อว่าผู้อ่านยังไม่หายคาใจต่อกรณีเรื่องตัวตนของ “เจ้าหลวงคำแดง” ที่กลายมาเป็นเทพารักษ์ของกลุ่มคนไทเผ่าต่างๆ สรุปแล้ว ท่านเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ มีตัวมีตนจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นแค่วีรบุรุษในตำนาน?

ก่อนวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว จะขอยกตัวอย่างเนื้อความอีกสัก 1-2 สำนวน เพื่อให้เห็นความเชื่อของกลุ่มชนไทเผ่าต่างๆ สำนวนแรกเป็นไทลื้อที่บ้านแพด อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อพยพมาจากเมืองพงในสิบสองปันนา

“เจ้าพญาคำแดงเป็นโอรสของพญาโจระณี กษัตริย์เมืองพะเยา ได้ยกทัพมารบกับพวกจีนฮ่อ ได้รับชัยชนะกลับมา ระหว่างทางเจ้าพญาคำแดงได้พบกับกวางรูปงามก็เลยอยากได้ จึงให้ไพร่พลไล่ตาม จนกวางคำเข้าเขตเมืองเชียงดาว และที่นั่นมีภูเขาลูกหนึ่งสูงเทียมเมฆ เขาลูกนี้มีชื่อว่าดอยเพียงดาว เมื่อกวางวิ่งมาถึงหน้าถ้ำใหญ่ก็เผยโฉมกลายเป็นสตรีเพศ มีชื่อว่านางอินเหลา เป็นลูกสาวของนางยักษ์ซึ่งเฝ้าถ้ำเชียงดาวนั้น นางได้วิ่งเข้าไปในถ้ำ พญาคำแดงได้ติดตาม ทั้งคู่หายไปโดยไม่กลับมาอีกเลย ไพร่พลที่ติดตามไปถึงปากถ้ำก็พบแต่ม้าทรงสีขาวหมอก เฝ้ารออยู่หลายวัน ไม่เห็นพญาคำแดงกลับออกมา จึงยกไพร่พลกลับเมืองพะเยา”

ที่บ้านป่าไคร้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ก็มีการกล่าวถึงประวัติเจ้าหลวงคำแดงในสำนวนที่มีใจความสำคัญไม่ได้แตกต่างจากสำนวนอื่นๆ มากนัก นั่นคือ

เจ้าหลวงคำแดงเป็นลูกกษัตริย์เมืองพะเยา ยกทัพไปถึงถ้ำเชียงดาว เจ้าหลวงคำแดงได้ตามกวางคือนางอินเหลาเข้าไปในถ้ำ จนไม่ได้ออกมา แต่ที่นี่มีความน่าสนใจมากกว่าที่อื่นก็คือ คนในพื้นที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของเจ้าหลวงคำแดงกับเหตุการณ์จริงที่เกิดในท้องถิ่นห้างฉัตรสืบทอดต่อกันมาหลายรุ่น

ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา ลงเก็บข้อมูลสัมภาษณ์นายเสมา ประมะวงศ์อิน ชาวบ้านป่าไคร้ เขาเป็นบุตรของพ่อหนานใจ๋ ผู้สืบทอดตำแหน่ง “ขุนแก้ว นายโฮง” นายเสมาเล่าว่า

“เจ้าหลวงคำแดงเป็นชาวพะเยา เป็นนักรบ ช่วงกำลังจะยกทัพไปเมืองเชียงดาว ได้เดินทางผ่านบ้านป่าไคร้ (บ้านห้วยไคร้) มาพักบ้านปู่ย่าของผม ขอให้คนในบ้านมาต้อนรับ ตระกูลที่ท่านมาพัก จึงได้เป็น “ขุนแก้วนายโฮง” และมีการสืบทอดมาถึงรุ่นยายของพ่อหนานใจ๋”

จากข้อความนี้ แสดงว่าเส้นทางที่เจ้าหลวงคำแดงลงมาจากพะเยานั้น ต้องใช้เส้นเมืองปานสู่ห้างฉัตรลัดเลาะจากน้ำแม่สันสู่น้ำแม่ทา ซึ่งบรรจบกับน้ำแม่ปิงที่สบทา เพื่อเกาะลำน้ำปิงไปจนถึงเชียงดาว

ความสำคัญของเจ้าหลวงคำแดงต่อชาวบ้านป่าไคร้ อำเภอห้างฉัตรนี้ เริ่มต้นจากการตั้ง “หอผีประจำตระกูล” ที่ไหว้กันเฉพาะคนในครอบครัวก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ กลายมาเป็น “เทพารักษ์” ประจำหมู่บ้าน โดยการยกบ้านหลังที่เจ้าหลวงคำแดงเคยมาพำนัก (บ้านของปู่ย่าตายายอ้ายเสมา) ขึ้นเป็นหอผี แล้วทำแท่นบูชา

พิธีเลี้ยงผีเจ้าหลวงคำแดงของหมู่บ้านป่าไคร้จัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี คือเดือน 5 เหนือ ออก 13 ค่ำ (ประมาณกุมภาพันธ์) ครั้งแรกจะเลี้ยงด้วยไก่ ครั้งที่สองจัดในเดือน 9 ออก 13 ค่ำ เลี้ยงด้วยหมู โดยในวันขึ้น 12 ค่ำของแต่ละครั้ง จะมีการแจ้งข่าวให้ชาวบ้านทราบเพื่อเตรียมตัวมาร่วมพิธีในวันรุ่งขึ้น

ในเมื่อชาวห้างฉัตรมีการอ้างถึงการเดินทางของเจ้าหลวงคำแดงที่ลงมาจากเมืองพะเยาผ่านมาทางนี้ว่าเป็นเรื่องจริง หาใช่นิทานปรัมปราไม่ หากเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจริงสัมผัสได้ เราจึงควรศึกษาประเด็นนี้กันต่อไป

 

เจ้าหลวงคำแดงแท้คือโอรสของ
พระญางำเมือง (พระญาโจรณี)

ในที่สุดเมื่อค้นคว้าประวัติราชวงศ์ของภูกามยาวหรือพะเยา นครรัฐสำคัญของล้านนา ก็ได้พบชื่อของ “ท้าวคำแดง” หรือ “พระญาคำแดง” ปรากฏว่ามีตัวตนอยู่จริงทั้งในหนังสือ “ตำนานเมืองพะเยา” ที่ปริวรรตโดยเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี เมื่อ พ.ศ.2554 และในพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เป็นผู้ประมวลเรียบเรียง

ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญยิ่งของเมืองพะเยาอีกด้วย เพราะท้าวคำแดงเป็นถึงโอรสของพระญางำเมือง ผู้เป็นมหาราชแห่งเมืองพะเยา

เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี วิเคราะห์ว่า “อาจเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์ช่วงปลายรัชสมัยของพระญางำเมือง เมืองพะเยาคงตกอยู่ในอันตราย มีความวุ่นวายพอสมควร ถึงขนาดที่ว่าพระญางำเมืองต้องเสด็จไปประทับที่เมืองงาว พร้อมกับส่งราชธิดาไปเป็นชายาของเจ้านายราชวงศ์สุโขทัย

และตัวท้าวคำแดงเองผู้เป็นโอรสก็ไม่สามารถประทับที่เมืองพะเยาได้ด้วยเช่นกัน แต่กลับต้องระหกระเหินไปตีเมืองทางตอนเหนือของเชียงใหม่ (ซึ่งในตำนานเจ้าหลวงคำแดงเขียนว่าปราบฮ่อ) สันนิษฐานว่าคงหมายถึงเมืองเชียงดาวนั่นเอง ซึ่งไปสอดคล้องกับที่ระบุไว้ในตำนานเจ้าหลวงคำแดงทุกเวอร์ชั่น

ส่วนชายาของท้าวคำแดงที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ จะมีชื่อว่านางอินเหลา เหมือนกับที่ปรากฏในตำนานทุกสำนวนหรือไม่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ จนกว่าจะพบหลักฐานด้านลายลักษณ์มายืนยัน”

เรื่องราวของ “พระญาคำแดง” ในมิติทางประวัติศาสตร์ ยังปรากฏพระนามอีกครั้งในประวัติเมืองแจ้ห่ม (ชื่อเดิมคือวิเชตนคร) ปัจจุบันเป็นอำเภอทางตอนเหนือของลำปางเขตเชื่อมต่อพะเยา กล่าวถึง “พระญาคำลือ” (เจ้าคำลือ/ท้าวคำลือ) ว่าเป็นโอรสของเจ้าหลวงคำแดงกษัตริย์แห่งเมืองพะเยา โดยได้ส่งเจ้าคำลือให้มาปกครองเมืองวิเชตนคร

กล่าวโดยสรุป หากเจ้าหลวงคำแดงเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ล้านนาแล้วไซร้ เป็นถึงพระราชโอรสของมหาราชงำเมือง ไฉนจึงมากลายเป็นอารักษ์สำคัญลำดับต้นสุดของล้านนา แถมยังมีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนไทกลุ่มต่างๆ ทั้งในล้านนา ตลอดจนรัฐฉาน อาหม สิบสองปันนา และล้านช้าง?

ฉบับหน้าตอนสุดท้ายจักได้เฉลย