“ธงชัย-เกษียร” “คนรุ่น 6 ตุลา” ฝากอะไรถึง “คนรุ่นใหม่”

สถานการณ์การเมืองในเดือนตุลาคมปีนี้มีความพิเศษ เนื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” และ “14 ตุลาคม 2516” ได้หวนกลับมาครบรอบและถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพใหม่อย่างสอดคล้องกับการลุกขึ้นต่อสู้-ส่งเสียงเรียกร้องหาประชาธิปไตยของบรรดาคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยพอดี

ในโอกาสดังกล่าว ทีมข่าวการเมืองมติชนทีวี ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” และ “ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ” สองนักวิชาการอาวุโสผู้ถือเป็น “คนรุ่น 6 ตุลา”

หนึ่งในคำถามที่เราตั้งขึ้นก็คือ ในฐานะ “คนรุ่นใหม่” เมื่อปี 2519 อาจารย์อยากแลกเปลี่ยนความคิด-ประสบการณ์อะไรกับ “คนรุ่นใหม่” ในปี 2563 บ้าง?

คำตอบของธงชัยและเกษียรมีทั้งความสอดคล้อง-ความแตกต่าง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ธงชัยบอกว่า สิ่งแรกที่เขารู้สึกติดตาติดใจในปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่คือ การลุกขึ้นมาเรียกร้อง-ตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาของกลุ่มนักเรียนมัธยม เพราะนี่ทำให้เขานึกถึงตนเองเมื่อครั้งยังเยาว์วัย

“ผมนึกถึงตัวเองครั้งเป็นนักเรียนมัธยม ตอนนั้นศัพท์แสงภาษาความคิดของผมออกไปทางซ้าย ไปทางสังคมนิยม แต่ว่าปัญหาที่พูดถึงคือปัญหาเรื่องระบบการศึกษา…

“สมัยนั้นเรา complain (ตำหนิ) ว่าโรงเรียนเป็นแหล่งปลูกฝังบ่มเพาะวัฒนธรรมอำนาจนิยม ความเชื่อความคิดแบบศักดินาล้าหลัง อบรมบ่มเพาะแต่เด็กๆ เพราะฉะนั้น อย่างแรกที่การเคลื่อนไหวของเด็กรุ่นนี้ทำให้ผมคิดก็คือว่า 40 กว่าปีแล้ว มันไม่เปลี่ยนเลย

“เราอาจจะอธิบายความอยุติธรรมและปัญหาสังคมอภิสิทธิ์ชนด้วยภาษาและด้วยความคิดแบบฝ่ายซ้ายว่าเป็นนายทุน ขุนศึก ศักดินา ทุกวันนี้ยังสามารถใช้คำเหล่านี้ได้อยู่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำเหล่านี้ในนัยยะแบบสังคมนิยมเลย แปลว่าปัญหาความอยุติธรรมและปัญหาอภิสิทธิ์ชนมันก็มีอยู่เหมือนเดิม แม้ว่าในรูปธรรมมันจะเปลี่ยนไปก็ตาม”

นอกจากนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ยังยอมรับว่า ส่วนตัวประทับใจกับคำขวัญ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” และใจจริงก็อยากให้เป็นอย่างนั้นเช่นกัน ทว่าในอีกด้านหนึ่ง จากมุมมองของคนวัยเกษียณ เขากลับมองเห็นอุปสรรคขวากหนามที่รอคอยคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันอยู่ตรงหนทางข้างหน้า

“ผมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมันไม่มีทางจบในรุ่นเรา…ประยุทธ์ออกไป มีความเป็นไปได้ ปิดสวิตช์ ส.ว. เป็นไปได้…แต่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสถาบันทางสังคมทั้งหลายที่ค้ำจุนระบอบอภิสิทธิ์ระบอบอำนาจนิยม ยาก

“การขจัดอภิสิทธิ์ที่หลายคนเรียกว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ผมเรียกว่าเป็นอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด อันนี้ยาก เพราะมันเกี่ยวพันกับระบบกฎหมาย เกี่ยวพันกับความคิดปรัชญาทางนิติศาสตร์ของไทยร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ผมยังมีความฝันและความหวังว่าแก้ไขได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่ามันมีทางลัด

“เอาเข้าจริงผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่ฉลาด จำนวนมากเนี่ยฉลาด เขารู้ข้อนี้ดี ผมคิดว่าเขาเข้าใจดีว่าคำขวัญ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” นั้นมันใช้ได้กับบางอย่าง แต่กับอีกหลายอย่างซึ่งเป็นปัญหาที่มันฝังรากลึกในเชิงสถาบันในวัฒนธรรม คงใช้เวลาอีกนาน”

ท้ายสุด ธงชัยให้กำลังใจคนรุ่นหลังในการปฏิบัติภารกิจเปลี่ยนแปลงโลก บนโลกที่อาจไม่ได้หมุนไปตามใจอยาก

“ผมต้องการจะบอกว่า เตรียมตัวสู้ต่อไปนานๆ เถอะ เพราะหลายอย่างมันจะไม่จบในรุ่นเรา จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีความศรัทธาที่แข็งแกร่ง มีความเชื่อว่าโลกมันเปลี่ยนได้ หลายอย่างต้องใช้คนจำนวนมาก แต่หลายอย่างต้องกล้าและต้องเชื่อมั่นว่าแม้กระทั่งตัวเราหรือคนไม่กี่คนก็สามารถค่อยๆ ผลัก ให้เขยื้อนให้ขยับทางวัฒนธรรมได้…

“เพราะฉะนั้น เขาต้องเตรียมที่จะมีความศรัทธาความเชื่อที่แข็งแกร่งว่าโลกเปลี่ยนได้ เราคนไม่กี่คนหรือแม้กระทั่งตัวคนคนเดียวก็สามารถจะค่อยๆ เปลี่ยนโลกได้ แต่ว่ามันใช้เวลา โลกไม่ค่อยเปลี่ยนไปอย่างที่ใจเราอยากหรอก เตรียมตัวเตรียมใจที่ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา เตรียมตัวเตรียมใจว่าโลกมันไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าทีละก้าวเสมอไป มันถอยหลังด้วย…

“เพราะฉะนั้น มีหลายเรื่องที่คงต้องสู้ไปอีกนาน ทีละคืบ ทีละคืบ”

ทางด้านเกษียรได้ฝาก “แง่คิดสามข้อ” ที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ของตนเอง ผู้เคยมีปัญหากับสังคมและพยายามต่อสู้กับระเบียบอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ มาก่อน

“เรื่องที่หนึ่งก็คือ การเมืองเป็นเรื่องการหาพวก หรือถ้าพูดภาษาการเมืองฝ่ายซ้ายก็อาจบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องการหาแนวร่วม

“การทำให้เงื่อนไขการต่อสู้สะดวกและง่ายที่สุดสำหรับคนที่จะมาเข้าร่วม อย่าไปเรียกร้องเขาจากระดับที่สูงสุด อย่าไปเรียกร้องการเสียสละและความเห็นด้วยของผู้คนทั้งหลายจากระดับสูงสุด แต่เรียกร้องการร่วมมือ มาตรการที่เขาจะเข้าร่วมได้ที่ต่ำสุด เพื่อเปิดโอกาสให้คนเข้าร่วมได้มากที่สุด อันนี้คือเรื่องของการเมือง หาพวก…

“ดังนั้น การหาพวกให้มาก การวางข้อเรียกร้องให้ไม่ไกลจากผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมเกินไป ประเมินว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมอยู่ตรงไหน พาเขาเดินไปหนึ่งก้าว ประเมินว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมเดินไปทางไหน ชวนเขาเดินไปอีกหนึ่งก้าว ไม่ได้แปลว่าให้อยู่คงที่หรืออยู่ในระดับเดียวกัน แต่ชวนเขาเดินไปอีกหนึ่งก้าว

“ใจคุณอยากจะเดินไปสัก 10 ก้าว 20 ก้าว เรื่องของคุณ แต่ในกระบวนการที่คุณจะดึงคนมาเข้าร่วม เพื่อผลักดันให้ความปรารถนาของคุณกลายเป็นพลังทางการเมืองที่ทำงานได้ อย่าไกลจากคนส่วนใหญ่ของสังคมเกินไป”

“อันที่สองคืออย่าใช้ความรุนแรงเพราะคุณอาจจะผิด แปลว่าอะไร? แปลว่าสิ่งที่เราคิดด้วยสติปัญญาเท่าที่เรามีปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งมันเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ เราจะชวนเขาเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ มันอาจจะถูกก็ได้และมันอาจจะผิดก็ได้

“วิธีการที่ผิดแล้วไม่เสียหายหรือเสียหายน้อยคืออย่าใช้ความรุนแรง ไม่ว่าต่อผู้อื่น คือถ้าคุณใช้ไปแล้วคุณปลุกให้เขาคืนชีพไม่ได้ ตายแล้วตายเลย แล้วคุณจะต้องมานั่งสำนึกเสียใจทีหลัง

“หรือในแง่ตัวเองก็คือว่าบางทีเราชวนพรรคพวกคนที่เชื่อเห็นด้วยกับเราไปเสียสละ แล้วเขาก็สู้กับเราเต็มที่ สู้เคียงข้างเราเต็มที่ แล้วเขาเสียชีวิตไป แล้วหลังจากนั้นมา เราพบว่าฉิบหาย แม่งไม่ใช่ว่ะ มันตอบยากนะ เวลาเราคิดถึงคนที่เขาแบบสู้กับเรามา เคียงข้างเรา แล้วเขาเสียชีวิตไป

“ฉะนั้น ผมว่าหลักประกันที่ดีที่สุดคือคุณสู้อย่างที่คุณเชื่อ สู้เต็มที่ด้วย แต่อย่าใช้ความรุนแรง เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองและคนอื่นผิดได้ และกลับมาแก้ความผิดทางการเมืองในอนาคตได้ อย่าเอาชีวิตคนอื่น และถ้าเป็นไปได้อย่าเอาชีวิตของพรรคพวกเราเข้าไปเสี่ยง

“อันที่สามคืออย่าตื่นเต้นกับการตื่นรู้ของตัวเองมากเกินไป ก็คือมันดีนะที่เราตื่นรู้ คำถามคือเราจะช่วยคนอื่นตื่นรู้ได้ยังไงบ้าง? การที่เราพบว่าคนอื่นไม่ตื่นรู้เนี่ย อย่าไปเริ่มต้นจากวิธีคิดที่ว่าคนอื่นผิด ผมคิดว่าถ้าคุณเริ่มตรงนั้น มันกลายเป็นเรื่องการปรักปรำกล่าวโทษซึ่งไม่เป็นประโยชน์

“แต่ว่าคิดหาทางที่จะทำให้เขา (ตื่นรู้) มันไม่ใช่ความผิดของเขาที่เขาไม่รู้เท่าคุณ หน้าที่ของคุณ ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่คุณรู้คุณถูก แล้วคุณอยากจะให้เขารู้หรือเห็นด้วยกับคุณ ก็คือนึกหาทางที่จะทำให้เขาเข้าใจได้ ซึ่งมันไม่ใช่เริ่มต้นโดยการไปด่าว่าปรักปรำ”

เกษียรยังประเมินคำขวัญ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” คล้ายคลึงกับธงชัย ทว่าด้วยรายละเอียดเพิ่มเติมที่อาจผิดแผกออกไป

“บางอย่างผมหวังว่าคงสามารถจบได้ในรุ่นปัจจุบัน แต่มันไม่จบทั้งหมดหรอกนะครับ มันไม่มีหนังม้วนเดียวจบ คือนึกว่าจะจบตอน 14 ตุลา ไม่จบ นึกว่าจบหลัง 6 ตุลา เข้าป่า ไม่จบ นึกว่าจบพฤษภา 35 ไม่จบ มันไม่เคยจบ การต่อสู้เกี่ยวกับปัญหาของสังคมการเมือง มันมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาผลิดอกออกผลขึ้นมาตลอดเวลา

“สิ่งที่เราคาดหวังได้คือทำให้ปัญหาเก่าที่มันร้ายแรงที่มันรังแกข่มเหงความเป็นมนุษย์ของผู้คนเกินไป มันลดน้อยลงไป มันบรรเทาลงไป ให้คนมาเห็นด้วยถึงความสำคัญของคุณค่าความเป็นมนุษย์ ของการให้เกียรติให้ศักดิ์ศรีให้ชีวิตที่ดีแก่กันและกันมากขึ้น

“คือถ้าผลักไปในทิศทางนั้นได้ก้าวหนึ่ง ผมว่าน่าพอใจแล้ว ถ้าส่วนนั้นส่วนไหนที่มันเป็นปัญหาที่ร้ายแรง แล้วพอที่จะทำให้จบในรุ่นเราได้ ซึ่งมันไม่ได้ขึ้นกับเจตจำนงของคุณ มันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งหลายอย่างในนั้นคุณคุมไม่ได้ ขึ้นกับพลังของคุณ ความสามารถในการแปรเจตจำนงของคนที่เป็นพลัง ขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามที่เขาแบบได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่ดำรงอยู่

“คือในสิ่งที่คุณเห็นว่าคือปัญหาที่สำคัญมาก เป็นปัญหาที่เลวร้ายฉ้อฉล คนอื่นเขาอาจจะไม่ได้เห็นแบบนั้น คนอื่นเขาอาจจะเห็นมันเป็นระเบียบ ระเบียบการแบ่งปันทรัพยากร ระเบียบการแบ่งปันเกียรติยศ ระเบียบการให้รางวัลศักดิ์ศรีในสังคม ซึ่งเขาคุ้นกับมัน

“ดังนั้น คุณคิดว่าที่คุณทำ คุณแก้ปัญหาหนึ่งปัญหา ในสายตาของคนทั้งหลายที่เขาไม่เห็นด้วยกับคุณ เขาอาจจะรู้สึกว่าคุณกำลังทำลายระเบียบ ซึ่งเขาอยู่และคุ้น แล้วเขารู้ว่าทำแบบเนี้ย เขาจะได้ทรัพยากรมากขึ้น เขาจะมั่งมีขึ้น มีชื่อเสียงขึ้น เขากลัวความไม่มีระเบียบ เขากลัวว่าระเบียบใหม่เนี่ย เขาจะมีที่ทางของเขาอยู่ตรงไหน

“ผมก็เลยเข้าใจได้ว่าทำไมคนมีความคิดม้วนเดียวจบ แต่ผมไม่คิดว่าม้วนเดียวจบ ผมคิดว่าข้อดีที่สุดคือให้คนรุ่นถัดไปสู้ไปในสิ่งที่คุณคิดว่าสำคัญและเห็นด้วยต่อไปเรื่อยๆ มันจบเมื่อไหร่ก็จบเมื่อนั้น”