เปิดอก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ “มิสเตอร์โฮป” ฤๅษีแปลงสาร “รวมไทย สร้างชาติ” Co-pay รัฐ-เอกชน-นักการเมือง

จะมีสักกี่คนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สามารถสร้างความเชื่อ-ความหวังให้กับคนไทย 60 กว่าล้านคน ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองร้าวลึก เศรษฐกิจ-ปากท้องยืนอยู่ในปลายหน้าผา-ดิ่งเหว

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงเปรียบเสมือน “ไลฟ์โค้ช” จนได้รับฉายาว่า “The Hope” ผู้เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ความเชื่อและความหวัง เพื่อออกจากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่งที่ดีกว่า

ก่อนหน้าที่ “สุพัฒนพงษ์” จะตกปาก-รับคำเทียบเชิญจาก พล.อ.ประยุทธ์ เขานั่งเป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่ง ทั้งค่าเบี้ยประชุม-ค่าที่ปรึกษาและโบนัสตัวเลข 8 หลัก หรือกว่า 20 ล้านบาท

แต่เมื่อทั้งวิกฤต-โอกาสมาถึง “สุพัฒนพงษ์” ไม่ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์มอบความไว้วางใจให้คุม “กระทรวงขุมทรัพย์แสนล้าน” ที่นักการเมือง “เขี้ยวลากดิน” หมายปอง

พร้อมกับภารกิจสุดขอบฟ้า “เอาเนื้อออกจากปากเสือ” และการทำงานประสานกับ “นักการเมืองตัวพ่อ” เพราะปฏิเสธได้ยากว่าในยุค “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และทีมเศรษฐกิจ 4 กุมาร การบริหารเศรษฐกิจมี “ช่องว่าง” จากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “ไม่เต็มสูบ”

“ผมไม่ได้เสนอตัวแน่นอน เป็นเรื่องที่ท่านนายกฯ เล็งเห็น เพราะเคยช่วยงาน และท่านนายกฯ ก็คงประเมินแล้วว่าทำงานได้ เพราะเคยอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจมาก่อน เมื่อได้รับการทาบทาม ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธ”

ผมนึกเพียงแต่ว่า ผมผ่านอะไรมาบ้าง ประเทศทำอะไรให้ผมบ้าง และผมรู้ว่าผมควรจะทำอะไรให้กับประเทศบ้างเท่านั้น วิถีผมมีแค่นี้ เป็นคนธรรมดา เสร็จภารกิจผมก็กลับบ้านเลี้ยงหลาน หวังว่าจะได้อุ้มเขา หวังว่าไม่เกิดการระบาดรอบที่สอง

“มารับภารกิจนี้ก็ได้ถือว่าตอบแทนคนที่ทำให้ผมได้อุ้มเขาแล้วกัน ทุกคนช่วยทำมาขนาดนี้แล้ว เราก็นั่งคิด มันลำบากนะ กอดแม่ก็ไม่ได้ แม่นอนอยู่โรงพยาบาล และเพิ่งเสียชีวิตไป กอดไม่ได้ กอดก็ต้องใส่ชุดพีพีอี”

“คณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” วางบทบาทเป็นเพียง “ตัวช่วย พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ใช่ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ถึงแม้เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกำกับกระทรวงการคลัง “ขัดตาทัพ” เก้าอี้ “ขุนคลัง”

“เรามีหน้าที่ หนึ่ง กำกับให้เดินไปตามยุทธศาสตร์ชาติ หรืออยู่ในแผนงาน ไม่ใช่เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ สอง ทำถูกเป้าหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ให้รอบคอบ ช่วยท่านนายกฯ อีกแรงหนึ่ง”

รองนายกฯ ช่วยนายกฯ นายกฯ ดูแลทุกกระทรวง แต่ถ้ากำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ต้องเรียกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาวุโส (หัวเราะ) ช่วยกลั่นกรองอีกทีหนึ่ง ก่อนที่จะให้นายกฯ เซ็น เพื่อเอาเข้า ครม.

“ผมไม่ใช่รองนายกฯ เศรษฐกิจนะ ผมเป็นรองนายกฯ สังคม ดูแลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้วเราจะเป็นประเทศตัวอย่าง ถ้าทำไม่ได้ถือว่าผมทำดีที่สุดแล้ว”

“สุพัฒนพงษ์” ยังเป็น “ฤๅษีแปลงสาร” คอยแปลนโยบายที่เข้าใจยากของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เข้าใจง่าย โดยเฉพาะนโยบาย “รวมไทย สร้างชาติ” ที่เขานำมาใช้เป็น “สโลแกน” เคลื่อนเศรษฐกิจในสภาวะวิกฤต อย่าง “Co-pay”

“ถ้ากระบวนการ Co-pay เราทำเป็นนิสัย ทำให้รู้สึกว่า คนไทยมีหน้าที่ในยามวิกฤต แล้วเราร่วมกัน ต้องคิดอยู่เสมอ ตัวเองยังแข็งแรงอยู่ ต้องมีหน้าที่ดูแลคนที่อ่อนแอกว่า”

ถ้าไม่คิดอย่างนั้น โยนทุกอย่างมาให้รัฐบาล โยนทุกอย่างมาให้ข้าราชการ ประเทศเราก็จะรู้สึกว่าลืมเลือน หรือทอดทิ้งใครไปหรือไม่ เราไม่ได้ทำหน้าที่ของเราโดยสมบูรณ์ เป็นเรื่องของความเข้าอกเข้าใจ ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นทันที

ถ้าทุกคนทราบดีว่าเรามีหน้าที่อะไร แล้วเปรียบเทียบตัวเราเองเมื่อเดือนเมษายน ให้เปรียบเทียบตัวเองกับประเทศอื่น สิ่งที่เราลำบากอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียว ทุกประเทศทั่วโลก

“ถ้าผมมีเครื่องมือวัดความลำบาก ความรู้สึกลำบาก ผมคิดว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่คนลำบากที่สุดของโลกหรอกครับ ผมคิดว่าคนในประเทศเรามีความรู้สึกดีเป็นลำดับต้นๆ”

ท่านต้องไปเทียบกับคนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เขารู้สึกร้อนหรือเย็นกว่าเรา แล้วเราจะรู้สึกว่า เมื่อเขาร้อน เราจะรู้สึกเย็นกว่า เมื่อเรารู้สึกเย็นกว่า เราจะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเย็นขึ้น สำคัญมาก ไม่มีทางอื่นเมื่อถึงคราววิกฤต

“ผมเชื่อมั่นว่า ในยามวิกฤตคนไทยไม่ทิ้งกัน อย่าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง อย่าเอาความรู้สึกร้อน เย็น หนาวของเราเป็นตัวตั้ง ท่านต้องไปเทียบกับคนอเมริกันว่าเขาร้อนกว่าเรา หรือเย็นกว่าเรา”

ภาพจำของ “ปรีดี ดาวฉาย” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 27 วัน คือ มาจากภาคเอกชนแล้วทำงานไม่ได้ แต่สำหรับ “สุพัฒนพงษ์” เขาไม่อยากให้คนจำภาพในตำแหน่งรองนายกฯ แต่อยากมีภาพจำของตัวเองมากกว่าให้คนอื่นจำ

“ผมไม่อยากให้ใครจำภาพอะไรผมได้ ผมไม่ค่อยมีภาพ ผมทำงานเหมือนผมไม่มีภาพ วันนี้ยังไม่มีนามบัตรเลย เพราะผมไม่คิดว่าผมจะต้องมีนามบัตรอะไร ผมก็เก็บของผมไปวันละนิด วันละหน่อย”

อย่างน้อยภาพจำที่ผมเห็นก็คือ ผมผ่านเดือนเมษายนมา ผมไม่ได้กอดหลาน แต่วันนี้ผมได้กอดหลาน ผมต้องทำหน้าที่ให้สมกับที่ผมได้กลับมากอดหลาน ทำไมถึงต้องมาทำ ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ได้กอดหลาน

“มาถึงตรงนี้แล้ว มีคนทำให้เรากอดหลานได้แล้ว ถ้าจะต้องเข้ามาช่วยให้มันวิ่งเล่นกับหลานได้ หรือทำให้ดีขึ้นก็ทำ ก็จำอยู่แค่นั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ ถ้าทำสำเร็จก็ดีไป ถ้าทำไม่สำเร็จก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว”

ดังนั้น วิธีการทำงานของผมก็จะไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเรื่องของรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นเรื่องของภารกิจก็คือ พลังงาน กระตุ้นรายได้

“สร้างเสถียรภาพให้กับประเทศไทย การปรับโครงสร้างนี้ สร้างอนาคตให้กับประเทศ คิดถึงภารกิจอยู่ประมาณนี้ ถ้าจะต้องเจอกับใคร พูดคุยกับใคร พบกับใคร ระดับไหน ก็เจอเพื่อให้เดินหน้าไปได้”