ทลายเครือข่าย ดร.จุฬาฯ ตุ๋น อจ.ลงทุนสหกรณ์ลอตเตอรี่ บทเรียน 541 ล้านจากความเชื่อใจ

ห้วงเวลาที่ผ่านมามีการฉ้อโกงหลากหลายรูปแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นการโกงทัวร์ท่องเที่ยว การฉ้อโกงผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ ตลอดจนคดีน่าสนใจ หลอกลวงบุคคลในแวดวงนักวิชาการด้านการศึกษา

กรณี รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 79 ปี อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาหลอกลวงเพื่อนและอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเดียวกัน ถึง 78 ราย

ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ให้นำเงินไปร่วมลงทุนในสหกรณ์ลอตเตอรี่ ที่จัดตั้งขึ้นโดยอ้างว่าจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ร่วมลงทุนร้อยละ 1

แต่สุดท้ายกลับไม่ได้จ่ายปันผลให้ตามที่ตกลงไว้ จนสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 541 ล้านบาท

จากการสอบสวนผู้เสียหายให้การว่า สาเหตุที่ตัดสินใจลงทุนเนื่องจาก ดร.สวัสดิ์ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและยังเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึง 3 สมัย

และเมื่อครั้งรับตำแหน่งมีการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น จึงสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เหล่าอาจารย์

กระทั่งช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 10 รายได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการปราบปราม (รอง ผบก.ป.) หลังจากไม่สามารถติดต่อทาง ดร.สวัสดิ์ได้

กระทั่งวันที่ 21 เมษายน ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ออกหมายจับ ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา เลขที่ 989/2560 ลงวันที่ 21 เมษายน 2560 ฐานฉ้อโกงประชาชน

จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารของ ดร.สวัสดิ์ พบว่ามีอยู่ 6 บัญชี ฝากถอนเงินเข้าออกตลอดเวลา

ขณะนี้พบว่ามียอดเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีแค่ 5,000 กว่าบาทเท่านั้น

ต่อมาวันที่ 27 เมษายน พนักงานสอบสวน บก.ป. ได้ขอศาลอาญา ออกหมายจับ น.ส.เมธวัชร์ หรือ พชกร คนมั่น อายุ 32 ปี ภายหลังพบว่าเป็นผู้ที่ได้รับการโอนเงินจาก ดร.สวัสดิ์ ซึ่งศาลอาญาได้ออกหมายจับที่ 1034/2560 ลงวันที่ 27 เมษายน 2560 ข้อหาโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือกระทำการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงของการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มาจากการกระทำความผิดมูลฐานความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และกระทำผิดฐานฟอกเงินโดยมีการสมคบกัน

และในวันเดียวกันนั้น พ.ต.อ.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผกก.4 บก.ป.พร้อมด้วยชุดสืบสวน กก.4 บก.ป. สามารถติดตามจับกุม น.ส.เมธวัชร์ ได้ที่ จ.เชียงใหม่ ก่อนจะควบคุมตัวมาสอบสวนดำเนินคดีที่ บก.ป. โดย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พร้อมคณะ ได้สอบปากคำผู้ต้องหาด้วยตนเอง

ขณะที่ น.ส.พชกร ให้การปฏิเสธว่า เงินที่ ดร.สวัสดิ์โอนมาให้นั้นเป็นเงินที่ใช้ในการเล่นการพนันบาคาร่าออนไลน์ ครั้งละประมาณ 1-2 แสนบาท นับตั้งแต่ปี 2553 เงินที่เล่นพนันไปทั้งหมด น่าจะอยู่ประมาณ 20 ล้านบาท

จากนั้นวันที่ 28 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. ได้เชิญตัว น.ส.ภวิษย์พร ใบเกตุ อายุ 28 ปี และ น.ส.จิรัชญา คุณยศยิ่ง อายุ 32 ปี มาสอบปากคำ หลังพบความเชื่อมโยงในเส้นทางการเงินที่ ดร.สวัสดิ์โอนให้กับ น.ส.ภวิษย์พร กว่า 42 ล้านบาท ในเวลา 2 ปี

ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน

ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลอาญา

คดีนี้ตำรวจ บก.ป. สืบสวนแกะรอยอย่างต่อเนื่องทำให้สามารถคลี่คลายคดีได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งเวลา 04.30 น. วันที่ 8 พฤษภาคม ดร.สวัสดิ์ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ บก.ป.

จากนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม พล.ต.ท.ฐิติราช พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รอง ผบก.ป. คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บก.ป. และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม ดร.สวัสดิ์ คดีก่อเหตุหลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนซื้อโควต้าลอตเตอรี่แลกผลตอบแทน

ดร.สวัสดิ์ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาด ได้ให้ข้อมูลกับทางตำรวจไปหมดแล้ว

โดยสาเหตุที่หลอกเงินผู้เสียหายไปนั้น มาจากที่ก่อนหน้านี้ตนได้ลงทุนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเอสเอ็มอีในเชิงขายตรง แต่ไม่ได้เงินปันผลตามที่ตั้งไว้

ในส่วนของการชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายอาจจะไม่สามารถนำมาคืนให้ได้ทั้งหมด แต่ได้ให้ข้อมูลกับตำรวจไปเพื่อไปดำเนินการ ซึ่งตนมีทรัพย์สินบางส่วนและหุ้นที่ถือครองจากบริษัทต่างๆ โดยจะดำเนินการขายทรัพย์สินทั้งหมด

ซึ่งจะคืนให้ผู้เสียหายราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 50-80 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ดร.สวัสดิ์ปฏิเสธในส่วนยอดความเสียหายว่า มีเพียง 400 ล้านบาท ไม่ใช่พันล้านตามที่ปรากฏเป็นข่าว

สำหรับกรณีที่ก่อนหน้านี้ปรากฏว่ามีการโอนเงินให้สาวทอมคนสนิท จำนวน 62 ล้านบาทเพื่อเล่นการพนันออนไลน์นั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่ให้สาวทอมยืมไปทำธุรกิจ เพื่อเป็นการลงทุนในธุรกิจขายตรง ภายหลังขาดทุน สาวทอมคนสนิทจึงอ้างว่าจะขายที่ดินเพื่อนำเงินมาคืน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับเงินคืน

นอกจากนี้ ดร.สวัสดิ์ ยังปฏิเสธเรื่องมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งตามที่เป็นข่าว รวมทั้งได้นำเงินบางส่วนไปชดใช้ให้กับคนที่ตนเป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เป็นลักษณะหมุนเงินรวมทั้งมีการนำไปเล่นการพนันจริงที่ประเทศสิงคโปร์ แค่หลักแสนบาทเท่านั้น

“อย่างไรก็ตาม อยากขอโทษอาจารย์และผู้เสียหายทุกท่านเป็นอย่างมาก แม้ว่าอาจจะคืนเงินให้ได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่จะพยายามให้ข้อมูลตำรวจเอามาคืนให้มากที่สุด”

ดร.สวัสดิ์กล่าวในวันสิ้นอิสรภาพ

คดีหลอกลงทุนสหกรณ์ลอตเตอรี่ ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น โดยผู้กระทำผิดมีดีกรีเป็นถึง ดร. มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง เป็นคดีตัวอย่างสะท้อนภาพชัดเจนว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจในตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้ต้องหา

ด้วยความที่มีชื่อเสียงอย่างมากจึงไม่มีใครคาดคิดว่าจะกระทำผิดต่อเพื่อน ลูกน้อง หรืออาจารย์ร่วมคณะ

ขณะที่เหล่าอาจารย์ได้ยื่นหนังสือขอให้ปลดออกจากตำแหน่งทางวิชาการ

และปลดออกจากการเป็นอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื่องจากทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงกับทางมหาวิทยาลัยด้วย