คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / บุปผาเทศนา : ศึกษาธรรมผ่านศิลปะการจัดดอกไม้อิเคบานะ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มีคนเคยบอกผมว่า บรรดานักคิดหรือผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายมักต้องทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อผ่อนคลายและให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ เช่น ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี ทำอาหาร หรือสะสมของกระจุกกระจิก เช่น องค์ทะไลลามะทรงมีงานอดิเรกคือซ่อมนาฬิกาข้อมือ ไอน์สไตน์ชอบล่องเรือ (ทั้งๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็น) หรือรพินทรนาถ ฐากูร ชอบวาดรูปในช่วงบั้นปลายของชีวิต

แม้เราทั้งหลายจะไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ แต่การได้ทำอะไรเพลินๆ เช่นนี้บ้าง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อยหรือบ้าบอแค่ไหน ก็คงช่วยทำให้ลืมความทุกข์โศกของชีวิตได้เป็นครั้งคราว

ระยะหลังมานี้ผมชอบและเริ่มสนใจทำงานศิลปะกับเขาบ้าง

ดังที่เคยเล่าเรื่องไปเรียนวาดภาพทังก้าตามแบบพุทธศิลป์ทิเบตไว้แล้ว

เมื่อราวต้นปีที่ผ่านมา คุณถิงชู ศิลปินนักปั้นเซรามิก ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนของผมได้ย้ายสตูดิโอของเธอมาจากเชียงใหม่ ผมและวิจักขณ์ พานิช จึงได้ไปลองปั้นดินกับเขาดู

วิจักขณ์นั้นปั้นอย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง (ปั้นทุกวัน) ไม่ว่าจะถ้วยชามรามไหหรือภาชนะอะไรก็ตาม จนมีผลงานมากพอที่จะจัดแสดงในปลายตุลาคมนี้ ท่านใดสนใจก็ไปชมกันได้ที่สตูดิโอของถิงชู บางขุนนนท์ซอยสิบครับ

ใครจะรู้ล่ะครับว่าเราจะค้นพบตัวเองว่าชอบอะไรตอนไหน หรือเรามีศักยภาพอะไร เพื่อนผมใช้ชีวิตผ่านมาสี่สิบปีถึงได้รู้ว่าตัวเองชอบปั้นและปั้นได้ดีด้วย

ส่วนผมนั้นยังไม่ได้ปั้นถ้วยปั้นชาม เพราะใจมันอยากปั้นพระมากกว่า แล้วก็ได้ลองปั้นพระพิฆเนศมาสององค์ เพื่อนฝูงเห็นแล้วก็บอกว่ามีฝีมือพอใช้ได้ พอเพื่อนชมผมก็นึกอยากออกพระสักรุ่นเลยครับ ผันตัวไปเป็นคนทำพระน่าจะรุ่งและรวยกว่านั่งเขียนวิจารณ์คนทำพระกระมัง (ฮา)

ไว้พระของผมเสร็จเมื่อไหร่จะมาเล่าสู่กันฟังครับว่าประสบการณ์ของการได้ลองปั้นพระเองเป็นอย่างไรบ้าง

 

ที่จริงวันนี้อยากจะมาเล่าสู่กันฟังถึงอีกประสบการณ์หนึ่งของ “สิ่งเล็กๆ น้อยๆ” ซึ่งผมเพิ่งได้ไปเรียนมา อันช่วยให้ได้ค้นพบอะไรหลายอย่าง ผมเพิ่งไปเรียนจัดดอกไม้ที่เรียกว่า “อิเคบานะ” (Ikebana) มาครับ

ผมชอบดอกไม้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยยังเด็กที่บ้านจะรับดอกไม้และพวงมาลัยทุกวันพระ โดยมีคุณลุงท่านหนึ่งเอามาส่ง คุณแม่ผมชอบดอกไม้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะดอกไม้เล็กๆ โทนสีม่วงหรือน้ำเงิน ซึ่งอ่อนน้อมและน่ารักเหมือนนิสัยของแม่

ไม่ว่าคราใดที่เห็นดอกไม้เล็กๆ สีม่วงๆ ผมก็จะนึกถึงรอยยิ้มนั้นของแม่ได้ทันที

งานแต่งงานของผมที่จังหวัดราชบุรี (บ้านเจ้าสาว) แม่กับผมช่วยกันจัดดอกไม้เอง พอถึงคราวน้องชายแต่งงาน ผมก็จัดดอกไม้ให้ ผมมักจัดดอกไม้ใส่แจกันให้แฟนตั้งแต่แรกๆ ที่คบกัน จนถึงตอนนี้ก็ยังทำอยู่เป็นปกติ และจัดประจำอีกส่วนสำหรับไหว้พระ

ก่อนหน้าจะเรียนอิเคบานะ ผมก็จัดดอกไม้ไปตามความคิดมั่วๆ ซั่วๆ ของตัว ครั้นเมื่อวัชรสิทธาก็ตั้งขึ้น สมาชิกคนหนึ่งคือคุณดิเรก ชัยชนะ หรือเชค เป็นครูสอนจัดดอกไม้อิเคบานะ ผมไม่ทราบอะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับการจัดชนิดนี้ รู้แค่ว่าสวยแปลกตา เพราะเมื่อใดที่มีงานในวัชรสิทธา เชคก็จะจัดดอกไม้ไว้ให้

เมื่อสบโอกาส ผมจึงไปเข้าคอร์สเรียน “ดอกไม้สื่อใจ” ซึ่งเชคเป็นคนสอน และตามติดไปเรียนคอร์สระดับสองหรือความกลมกลืน (Harmony) ซึ่งได้เปลี่ยนมุมมองที่ผมมีต่อดอกไม้ใบไม้ไปเลย

 

อิเคบานะหรือการจัดดอกไม้นั้นเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นรับจากธรรมเนียมของพุทธศาสนา ซึ่งใช้ดอกไม้ไหว้พระ เพื่อนชาวชินโตของผมบอกว่า ธรรมเนียมของศาสนาชินโตไม่เคยใช้ดอกไม้ แต่ใช้ใบไม้บางชนิดในการถวายต่อเทพเจ้า (คามิ) เมื่อพุทธศาสนามาถึงญี่ปุ่นก็นำธรรมเนียมการจัดดอกไม้มาด้วย

การจัดแบบแรกสุดที่เรียกว่าริกกะ (rikka) คงเป็นอิทธิพลแนวคิดดั้งเดิมจากอินเดีย เป็นการจัดดอกไม้ตามระบบจักรวาลวิทยาฮินดู-พุทธ เช่น มีสิ่งแทนเขาพระสุเมรุ หรือมีลักษณะรูปแบบคล้ายๆ มณฑลหรือจักรวาลอันเป็นเครื่องสักการะสูงส่ง ดังนั้น การจัดดอกไม้จึงสะท้อนแนวคิดพุทธศาสนามากกว่าการชื่นชมธรรมชาติ

ครั้นพุทธศาสนานิกายเซนแพร่หลาย แนวคิดของพุทธศาสนาแบบเซนได้ส่งผลต่อการสรรค์สร้างรูปแบบใหม่ของการจัดดอกไม้ กล่าวคือ มีการใช้ดอกไม้เพียงหนึ่งดอกหรือหนึ่งกิ่งปักลงในแจกันเรียกว่านาเงะอิเระ (nageire) ซึ่งสะท้อนการชื่นชมความงามเพียงชั่วขณะอันปรากฏขึ้นในปัจจุบันขณะ และดอกไม้เพียงดอกเดียวนั้น ก็ได้ประมวลความงามทั้งหมดของธรรมชาติเอาไว้แล้ว

สรรพสิ่งนั้นเอื้ออิงอาศัยกัน ดอกไม้เพียงดอกเดียวได้เชื่อมโยงทั้งหมดนั้นไว้ หากมองเห็นความงามของดอกไม้นี้ ก็อาจเห็นความงามของโลกได้

การจัดแบบนี้ผู้จัดมีส่วนเพียงเล็กน้อย ความงามนั้นออกมาจากดอกไม้และภาชนะที่ใช้เองโดยธรรมชาติ เราใช้ทักษะเพียงตัดและปักลงไป เราจึงใช้ความคิดที่จะออกแบบ ดัดแปลงหรือแก้ไขได้น้อยที่สุด

จากนั้นเราเพียงชื่นชมสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยความอ่อนน้อม

 

ต้นไม้ทุกต้น กิ่งทุกกิ่ง ใบทุกใบ ดอกทุกดอก ล้วนมีความน่าสนใจในตัวเอง หากปราศจากความคิดหรือความคาดหวัง ความชอบหรือความชัง ความน่าสนใจหรือความงามของสิ่งเหล่านี้ก็จะแสดงให้เห็น ราวกับพืชส่งเสียงจำนรรจากับเราได้

นี่ทำให้ผมมองต้นไม้ดอกไม้เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยมองผ่านพืชพรรณทั้งหลายโดยเฉพาะ ชนิดที่เราไม่คิดว่ามันสามารถนำมาจัดแจกันได้ ทว่าทุกวันนี้เมื่อมองต้นไม้ข้างทาง กลับพบเห็นความน่าสนใจที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สีสัน รูปทรง ความคดโค้ง ความหนาแน่นหรือโปร่งเบา ฯลฯ ซึ่งมีความงามและความน่าสนใจในตัวมันเอง

ครูเชคนั้นเป็นผู้สอนที่เยี่ยมยอด สามารถออกแบบการสอนให้เราเข้าใจเรื่องพวกนี้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ทั้งยังสามารถนำเอาการภาวนาในสายธรรมปฏิบัติมาบรรสานเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องการจัดดอกไม้ได้

เราจัดดอกไม้ด้วยความคาดหวังหรือความคิดแบบไหน เรากล้าพอที่จะยอมรับความเป็นเราอย่างและสามารถชื่นชมทั้งความเป็นเราหรือความเป็นของผู้อื่นไปพร้อมกันไหม เรามั่นคงพอที่จะไม่ตัดสินตนเองและคนอื่นหรือไม่ เราตกหลุมพรางของ “ความน้อย” เพราะกลัวดูไม่มินิมอล หรือตกหลุมพรางของความเยอะเพราะกลัวไม่สวยหรือเปล่า ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ปรากฏในเวลาไม่กี่นาทีที่เราจัดดอกไม้ ภายในขอบเขตจักรวาลเล็กๆ ของแจกันใบนั้น

 

นอกจากนี้ เชคยังสอนเรื่อง “ความว่าง” ผ่านการเข้าใจ “ที่ว่าง” (space) ในฐานะส่วนสำคัญของการจัดดอกไม้ เพราะโดยปกติแรามักพุ่งความสนใจไปยังรูปทรงและสีสัน โดยลืมไปว่าความงามไม่อาจเกิดขึ้นด้วยการจับยัดทุกอย่างลงไปอย่างแน่นขนัด ที่ว่างจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง

ในสายปฏิบัติวัชรยาน ความว่างไม่ได้หมายถึงการไม่มีอะไร แต่หมายถึงที่ว่างอันเต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพที่จะก่อเกิดความเป็นไปได้ต่างๆ ในแจกันที่เราจัด ที่ว่างจึงช่วยให้พลังแห่งสีสันและรูปทรงของดอกไม้เปล่งประกายออกมาได้อย่างเต็มที่

สุดท้าย การจัดแบบซับซ้อนที่เรียกว่าเซกะ (Seika) หรือโชกะ (Shoka) มีการใช้กิ่งสามกิ่งสะท้อน ฟ้า ดิน มนุษย์ ความสัมพันธ์ของฟ้าอันโปร่งโล่งกับความหนักแน่นของผืนดิน มีมนุษย์เฝ้าชื่นชมอยู่ตรงกลาง ปรากฏในรูปของดอกไม้และกิ่งก้านที่สอดประสานกันอย่างกลมกลืน

การจัดดอกไม้สอนให้เรารู้จักที่จะเคารพคนอื่น ดอกไม้ทุกดอกมีความงามและความน่าสนใจ คนทุกคนก็มีความงามและความน่าสนใจของตัวเองเช่นกัน

การพยายามยัดเยียดให้เราทุกคนต้องเหมือนๆ กันคือความก้าวร้าวรุนแรงอย่างหนึ่ง

 

ผมคิดว่า สังคมที่ดีงามก็เหมือนแจกันอิเคบานะ เป็นสังคมที่สามารถจัดสรรที่ว่างหรือพื้นที่ ให้แต่ละคนได้แสดง “ความเป็น” ตัวของตัวเอง โดยไม่ระรานสิทธิและความเป็นตัวเองของผู้อื่น

ที่จริงยังมีสิ่งที่ไม่รู้จะอธิบายได้อย่างไรอีกมากในการไปเรียนจัดดอกไม้ ผมคงบอกได้เพียงว่า เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สะท้อนตัวเราได้ชัดเจนในเวลารวดเร็ว น่าสนใจมากๆ ครับ

ลองเปิดโอกาสให้บุปผาเทศนาให้เราฟังบ้าง

อาจค้นพบอะไรที่ไม่เจอบนธรรมาสน์

เจริญพร