การศึกษา / เปิดใจ ‘ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร’ พลิกโฉมงาน ‘วัฒนธรรม’ เพิ่มมูลค่า

การศึกษา

 

เปิดใจ ‘ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร’

พลิกโฉมงาน ‘วัฒนธรรม’ เพิ่มมูลค่า

 

เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ถือเป็นลูกหม้อคนวัฒนธรรมของแท้ เพราะเริ่มไต่ระดับการทำงานตั้งแต่ข้าราชการระดับล่าง กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นปลัด วธ.

ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญหลายเรื่องทั้งงานดูแลเด็กเยาวชน ผ่านเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ แม่งานจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 34 และ 35 โดยได้นำส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในเรื่องของมหรสพสมโภชมาออกแบบและตกแต่งงาน เป็นต้น

ปูพื้นประสบการณ์จนได้รับแต่งตั้งเป็นแม่บ้าน วธ. มติชนสุดสัปดาห์ถือโอกาสเปิดใจปลัด วธ.คนใหม่ ถึงการทำงานในยุคที่ต้องปรับเปลี่ยน เปิดรับการทำงานรอบด้าน…

 

นางยุพาเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า สำหรับตัวเองไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งไหน จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่เคยคิดว่าวันข้างหน้าจะต้องได้รับตำแหน่งอะไร การที่ได้มาทำงานตรงนี้ หมายความว่าผู้ใหญ่ให้โอกาส และเห็นความสามารถความรับผิดชอบที่มีให้กับงาน

จะรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานใหญ่ๆ มาโดยตลอด อย่างงานดูแลเด็กเยาวชน ผ่านเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้มีเครือข่ายการทำงานด้านต่างๆ ซึ่งได้มาช่วยเหลือการทำงานจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้น วธ.ก็ได้รับความไว้วางใจให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 34 และ 35 ได้นำส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในเรื่องของมหรสพสมโภชมาออกแบบและตกแต่งงาน ทำให้ได้รับคำชื่นชม

งานนี้ถือว่าได้โอกาสนำความรู้ประสบการณ์ที่มีอยู่มาใช้ เพราะส่วนตัวเรียนจบมาด้านภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ เป็นพื้นฐานให้มีความรู้ มีความเข้าใจทักษะเรื่องการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การสร้างการรับรู้ ทำให้การทำงานไม่มีปัญหา ทุกๆ งานสะท้อนว่าผู้ใหญ่ให้ความไว้วางใจ กระทั่งได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่สำคัญนี้

การเป็นปลัดหรือไม่เป็นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แม้หลายคนจะมองว่า เป็นสิ่งสูงสุดของการเป็นข้าราชการประจำ แต่สำหรับตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่จุดไหน ถ้าทำงานแล้วได้รับการยอมรับ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ากว่า…

 

สําหรับนโยบายที่จะขับเคลื่อนนั้น จะเน้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ.ได้ย้ำว่า เรื่องใดที่ดีอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อ เช่น ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมโดยใช้พลังบวร หรือบ้าน วัด โรงเรียน เป็นจุดแข็งที่จะนำไปต่อยอด

ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่จะต้องดูว่าจะมุ่งไปทางไหนได้บ้าง ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ. หรืออดีตปลัด วธ. วางรากฐานไว้ดีอยู่แล้ว พอมารับตำแหน่งก็พัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าและมูลค่าไปพร้อมกัน หน่วยงานอื่นอาจจะมองแค่มูลค่าที่เกิดขึ้น

แต่ วธ.ต้องดูเรื่องจิตใจควบคู่ไปด้วย การพัฒนาต้องเริ่มตั้งแต่พัฒนาคน องค์ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ก็ได้เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน แต่ละพื้นที่จะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน เป็นที่มาว่าได้มอบการบ้านให้ทุกจังหวัดสำรวจ จังหวัดของตัวเองมีอะไรดี มีศิลปิน ศิลปะการแสดงอะไร รวมถึงการท่องเที่ยว เพื่อรวบรวมทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะต่อยอดในเรื่องบวร On Tour เป็นต้น

“หลายคนอาจมองว่า งานวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ แต่ส่วนตัวมองว่า มีทั้งสองอย่าง เช่น เรื่องมรดกภูมิปัญญา ที่มีอยู่ในตัวคน แต่เมื่อนำมาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ก็กลายเป็นทุนวัฒนธรรมที่จับต้องได้ อยู่ที่การนำไปใช้ อย่างเช่น ภูมิปัญญางานช่างต่างๆ แม้กระทั่งงานบริการ หรือขั้นตอนการทำงานก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรม วธ.เองก็กำลังพัฒนาสร้างนวัตกรรมการทำงานให้รวดเร็ว มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม วธ.ต้องใช้ทุนตรงนี้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าหน่วยงานอื่น เพราะเรามีทั้งความรู้และความเข้าใจ”

“อย่างล่าสุดประชุมเรื่องประวัติศาสตร์ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พบว่าเด็กไม่ได้ใช้ตำราเรียนประวัติศาสตร์เล่มเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกหลักสูตรแกนกลางให้โรงเรียนไปจัดหาหนังสือเรียนได้เอง เด็กส่วนใหญ่จะอ่านประวัติศาสตร์จากตำราเรียน ไม่เหมือนเด็กในต่างประเทศที่โรงเรียนพาไปทัศนศึกษาให้ได้เห็นของจริง โรงเรียนของเรายังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยอยู่แต่ในตำรา ไม่ได้ไปเห็นของจริง ไม่เกิดความภาคภูมิใจ วธ.จึงเตรียมทำข้อเสนอ จับมือกับศธ.ออกแบบตำราเรียน ในฐานะที่ วธ.เป็นคลังความรู้ ขณะเดียวกัน จะจับมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วางแผนพัฒนาเด็ก จับมือกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน จากโอท็อป หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ มาสู่ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือ CPOT สิ่งเหล่านี้จะทำให้ได้เครือข่ายที่เข้มแข็ง คิดว่าทำได้ ไม่ใช่เรื่องยาก”

ปลัด วธ.กล่าว

 

ทิศทางการทำงานจากนี้ วธ.จะเริ่มปรับเปลี่ยน โดยได้หารือกับนายอิทธิพล ให้นโยบายบูรณาการทำงานและงบประมาณร่วมกันทำให้เป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเล็กๆ น้อยๆ ผู้บริหารวิ่งไปเปิดงาน ซึ่งเหนื่อย แต่ไม่เกิดแรงกระเพื่อม แต่ทั้งหมดเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ภาพ วธ.ในอีก 3 ปี หรือ 6 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไรบ้าง จะมุ่งพัฒนาคนให้มีคุณธรรม จริยธรรม ส่วนเชิงกายภาพกำลังจะปรับโครงสร้างและขยายตำแหน่งให้มากขึ้น ตามภารกิจการทำงานที่เพิ่มเข้ามา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และให้มีการบริหารการทำงานที่คล่องตัว ปรับองค์กรให้เหมาะสมกับงานและขับเคลื่อนได้เร็ว วธ.จะเป็นเซ็นเตอร์ที่จะไปแตะมือกับทุกกระทรวงในการทำงานร่วมกัน

ปลัด วธ.ยังทิ้งท้ายด้วยว่า การทำงานที่ผ่านมา จะถือคติ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูจะได้ไม่เสียใจ

     จากนี้ต้องจับตาดูว่า วธ.ภายใต้การดูแลของปลัดหญิงคนใหม่จะเปลี่ยนโฉมไปในทิศทางใด…