กรองกระแส / ต่อสู้ ทางความคิด ของ คณะราษฎร 2563 กับ ‘พัฒนาการ’

กรองกระแส

 

ต่อสู้ ทางความคิด

ของ คณะราษฎร 2563

กับ ‘พัฒนาการ’

 

พลันที่มีการส่งหน่วยคอมมานโดปราบจลาจลนับร้อยบุกเข้าจับกุมตัวไผ่ ดาวดิน จากเวทีบนรถยนต์ในบริเวณใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ก็หวนกลับมา

เป็นสถานการณ์ที่การแถลงข่าวของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ณ อนุสาวรีย์ทหารอาสา หน้าโรงละครแห่งชาติ จากนั้นก็เดินแจกใบปลิวบนท้องถนน

และก็ถูกรวบตัวระหว่างเดินแจกที่ประตูน้ำ

มีการตั้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ต่อผู้ต้องหาที่เรียกในเวลาต่อมาว่า “13 กบฏ” และได้กลายเป็นชนวนแห่งการชุมนุมอันนำไปสู่สถานการณ์วันที่ 14 ตุลาคมในที่สุด

สถานการณ์จับไผ่ ดาวดิน ก็เหมือนสถานการณ์จับธีรยุทธ บุญมี

ไม่เพียงแต่ยืนยันว่า การจับกุมแกนนำด้วยเป้าหมายต้องการสยบและยุติการเคลื่อนไหว การจับอาจประสบผลสำเร็จ แต่แรงสะท้อนอันตามมาก็เหนือความคาดคิดในทางการเมือง

ยืนยันว่าพลังที่เหลืออยู่ คือ พลังในทาง “ความคิด” อันมากด้วยพลานุภาพ

 

พลานุภาพ ความคิด

ต้องการ รัฐธรรมนูญ

สถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 อันนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม ก็คือ สถานการณ์การเรียกร้องต้องการ “รัฐธรรมนูญ”

เป็นการเรียกร้องจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

เพราะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 ไม่เพียงแต่ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ทิ้ง หากแต่ยังนำประเทศไปอยู่ใต้ร่มเงาแห่งธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2515

นี่ก็ตรงกับความเรียกร้องต้องการของ “คณะราษฎร 2563”

การเคลื่อนไหวผ่านปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคือ ความเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญใหม่มาแทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แทนที่รัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร แทนที่รัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ

แทนที่ “ระบอบประยุทธ์” จะเปิดใจกว้าง รับฟังเสียงร้องจากสังคม ตรงกันข้าม กลไกอำนาจรัฐไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่า 250 ส.ว.กลับเตะถ่วง หน่วงเวลา

และลงเอยด้วยการสลายการชุมนุม จับกุมแกนนำเข้าขัง ณ คุก

 

บทเรียน การจับกุม

การเคลื่อนไหว ก็ยังอยู่

ทั้งๆ ที่ข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งอันมาจาก “เยาวชนปลดแอก” คือ หยุดคุกคามประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เรียกร้องต้องการเห็นการเปลี่ยน

แต่คำตอบจากรัฐบาลกลับเป็นการเพิกเฉย ไม่แสดงความสนใจ

ยิ่งกว่านั้น ยังเพิ่มมาตรการในการสกัดขัดขวาง ตั้งแต่การบุกเข้าข่มขู่คุกคามถึงบ้าน ถึงครอบครัว และพัฒนากระบวนการเข้มข้นถึงขั้นมีการออกหมายจับและจับกุม

จับกุมนายอานนท์ นำพา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายพริษฐ์ ชิวารักษ์

โดยตั้งเป้าหมายว่า หากข่มขู่คุกคามและเพิ่มความรุนแรงจนถึงขั้นมีการจับกุมจะสามารถสลายและทำให้การเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ยุติลง

แต่จากเดือนสิงหาคมมายังเดือนตุลาคมกลับตรงกันข้าม

เพราะไม่เพียงแต่ทำให้แกนนำเหล่านั้นยังคงเดินหน้า หากแต่ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวอันเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศกลับบ่มเพาะและสร้างแกนนำใหม่ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก

นั่นเนื่องจากการแพร่กระจายในทางความคิดได้แสดงบทบาท

 

การต่อสู้ ความคิด

ท่ามกลาง การจับ

กระบวนการสกัดขัดขวางอันมาจากรัฐบาล โดยผ่านกลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่มากมายทั้งที่เป็นตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวในทางกายภาพ

เป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัว

อาจทำให้เป้าหมายถูกจำกัดบนพื้นที่ในการเคลื่อนไหว กระทั่งบางคนถูกอำนาจในทางกฎหมายบีบคั้นและควบคุมอย่างแข็งกร้าว

แต่ก็มิได้ทำให้เป้าเหล่านั้นเปลี่ยนในทางความคิด

เนื่องจากกลไกที่รัฐบาลใช้มิได้อยู่ในกระบวนการถกแถลง แลกเปลี่ยนกันในทางความคิด หากแต่หวดกระบองแห่งความรุนแรงกระหน่ำเข้าใส่อย่างไม่ปรานี

อาจทำให้เกิดความกลัว แต่ไม่มีผลในทางที่จะเปลี่ยนแปลง

เพราะเรื่องของรัฐธรรมนูญ เรื่องของการชุมนุมทางการเมือง เป็นปฏิบัติการอันเป็นเงาสะท้อนในทางความคิดเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป สร้างนวัตกรรมใหม่ในทางการเมือง

คุกขังในทางกายได้ แต่ความคิดกลับเบ่งบาน ชูช่ออรชร

 

47 ปี 14 ตุลาคม

44 ปี 6 ตุลาคม

การใช้ชื่อ “คณะราษฎร 2563” มิได้เป็นเงาสะท้อนแห่งพัฒนาการของการเคลื่อนไหวที่ปรากฏขึ้นในเดือนกรกฎาคม และต่อเนื่องมายังเดือนตุลาคมเท่านั้น

หากแต่ยังเป็นการสืบทอดในทาง “ความคิด”

โดยรากฐานแล้วคือความประทับใจต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2475 ของ “คณะราษฎร”

และต่อมาย่อมเป็นบทเรียนของคนรุ่นต่อมาก่อนหน้านี้

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

     ภาพทางความคิด ภาพทางการเมืองล้วนดำรงอยู่ใน “คณะราษฎร 2563” ครบถ้วน