ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 16-22 ตุลาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

Unicorn คือม้าสีขาว มีเขาเกลียวงอกออกมาจากหน้าผาก ลักษณะสง่างาม

ในความเชื่อของชาวตะวันตก

คือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และความงดงาม

ใครได้รับการยกย่องเปรียบเปรยว่าคือ Unicorn

ก็หมายถึงว่า ผู้นั้นอยู่ในช่วงแห่งความรุ่งโรจน์

 

มีการอุปมาอุปไมย ธุรกิจสมัยใหม่–Start-up ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์อเมริกาขึ้นไปว่า เป็น Unicorn

ยุโรป ออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ

มี Unicorn เกิดขึ้นมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, YouTube, Twitter, Uber, Airbnb, Dropbox, Pinterest, Tumblr, LinkedIn, Evernote, Zynga ฯลฯ

ต่างจากอาเซียนมี Unicorn ไม่มากนัก

หนึ่งในนั้นที่เกิดขึ้นอย่างน่าตื่นตื่นใจ คือ “อินโดนีเซีย”

เพิ่งมีการเปิดตัว 5 ธุรกิจ Start-up ระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐออกมา

ซึ่งน่าสนใจมาก

เนื่องจากที่ผ่านมา “อินโดนีเซีย” ถูกตรึงอยู่ในกลุ่ม “ประเทศกำลังพัฒนา”

ซึ่งในทางเทคโนโลยี การเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” นั้น หมายถึงการเป็น “ผู้ใช้เทคโนโลยี”

การสามารถพลิกมาเป็นประเทศ “ผู้สร้างเทคโนโลยี” ได้จึงน่าจับตา

5 Unicorn ของ “อินโดนีเซีย” จะพาประเทศ “ทะลุเพดาน” ไปสู่สถานะ “ประเทศพัฒนาแล้ว” ได้หรือไม่

 

5Unicorn มีอะไรบ้าง

อ่านได้จากบทความพิเศษของจักรกฤษณ์ สิริริน ที่หน้า 39

ซึ่งหากถามถึงไทย ที่ผู้นำพร่ำปนเรื่อง “จี” ต่างๆ นั้น

จักรกฤษณ์ สิริริน ให้ข้อความอันเจ็บจี๊ด

เรายังตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย อาจรวมถึงเวียดนาม เผลอๆ ฟิลิปปินส์ และพม่าด้วยในอนาคต

“ไทย” ยังวนเวียนอยู่ในวังวน หรือ “วงเวียนชีวิต” เดิมๆ มาเกือบ 15 ปี

นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เกาะกลุ่มอยู่กับ “อินโดจีน” เพื่อนตายมาหลายปี!

สภาพตอนนี้ อย่าว่าแต่ฝันถึงการเป็น Unicorn เลย

เพราะเราดิ้นให้พ้นสภาพ “ม้าป่วย” ก็ยากแล้ว

 

ที่น่าห่วงยิ่งกว่านั้น ไทยมิใช่แค่ม้าป่วย

สุทธิชัย หยุ่น ยังกระหน่ำซ้ำผ่าน “กาแฟดำ” (หน้า 105) อีกว่า

ไทยยังตกหล่มโลกยุคใหม่ด้วย

เป็นหล่มแห่งการ “เลือกอ่าน” และ “เลือกเชื่อ” เฉพาะสิ่งที่ตนอยากเชื่อ

สร้างชุมชนเฉพาะกลุ่ม ป้อนและรับข้อมูลด้านเดียวให้ตนเอง

จนไม่สามารถได้ยินเสียงจากข้างนอก

ยิ่งกว่านั้น ยังปฏิเสธที่จะรับรู้เสียงจากข้างนอกใดๆ ด้วย

 

สุทธิชัย หยุ่น นำคำว่า Echo Chamber และ Confirmation Bias หรือ “ความเอนเอียงเพื่อยืนยันในความคิดเห็นของตนเอง”

มาอธิบายปรากฏการณ์นี้

Confirmation bias เป็นความลำเอียงในข้อมูลที่ยืนยันความคิดหรือทฤษฎีหรือสมมุติฐานฝ่ายตน

เมื่อ “ความลำเอียง” สั่งสมกันเป็นกำแพงหนาเตอะ

ใครจะมาน้าวโน้มด้วยข้อมูลและหลักฐานที่อยู่นอกเหนือความเชื่อนั้นก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนความคิดที่ฝังแน่นไว้ได้

ใครตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ก็ไม่ยากเลยที่จะกระโดดไปเชื่อเรื่องราวที่สนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง

ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นเพียงข้อมูลที่ยังไม่กระจ่างชัดด้วยซ้ำ

แต่เมื่อ “อยากจะเชื่ออย่างนั้นเสียแล้ว” ความ “ลำเอียง” (bias) นั้นก็จะถูก “ยืนยัน” (confirmed) ในเกือบจะทันที

จึงไม่น่าแปลกใจ

หากแม้จะมีหลักฐานหรือข้อมูลชุดเดียวกัน

แต่คนที่อยู่คนละข้างของ “ความลำเอียง” นั้นจะตีความไปตามที่ตนอยากเชื่อ

บางครั้งแม้หลักฐานจะชี้ชัดว่าความเชื่อของเราผิดอย่างโจ่งแจ้ง

แต่ “ความลำเอียง” ที่ฝังลึกในความคิดอ่านของเราก็ยังบอกเราว่าเราไม่ผิด อีกฝ่ายต่างหากที่ผิด

นั่นคือที่มาของความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นในสังคมอย่างที่เราเห็นในสังคมไทย

และยิ่งนับวันก็ยิ่งจะมีแนวโน้มไปในทางนั้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือการคุกคามทางออนไลน์ที่เรียกว่า Cyber bullying อย่างเป็นระบบตามมา

 

สุทธิชัย หยุ่น เตือนว่า สังคมไทยวันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตแห่ง “กับดักแห่งข้อมูลถูกปั่น” อย่างรุนแรง

หากไม่มีหนทางแก้ไขอย่างจริงจัง

สังคมจะพากัน “ตกนรกอเวจี” กันทั้งหมด!