บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/’แอมเนสตี้’ ก็มี ‘ด้านมืด’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘แอมเนสตี้’ ก็มี ‘ด้านมืด’

 

เป็นประเด็นข่าวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย กรณีองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ต้องหยุดการดำเนินงานในอินเดียไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากถูกรัฐบาลอินเดียอายัดบัญชีธนาคาร มีผลให้ต้องเลิกจ้างพนักงานและยุติโครงการรณรงค์ของแอมเนสตี้ในดินแดนภารตะ

แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์โวยวายว่า นี่เป็นการล่าแม่มดของรัฐบาลอินเดียภายใต้นายกฯ คนปัจจุบัน เพื่อปิดกั้นและคุกคามการทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน เพราะไม่พอใจที่ถูกตีแผ่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินเดียและแคว้นแคชเมียร์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แอมเนสตี้อ้างว่าถูกรัฐบาลอินเดียยัดเยียดข้อหาที่ไม่มีมูล

อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยอินเดีย ออกมาตอบโต้ว่าแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ที่หาว่าเป็นการล่าแม่มดนั้นเกินจริงและห่างไกลจากความจริงทีเดียว เพราะต้องการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความจริงที่ว่าแอมเนสตี้อินเดียกำลังถูกสอบสวนความผิดปกติในการดำเนินงานหลายอย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ตามกฎหมายของอินเดีย ไม่อนุญาตให้องค์กรใดก็ตามที่รับเงินบริจาคจากต่างชาติเข้าไปเกี่ยวข้องกับการถกเถียงการเมืองภายในประเทศ

ที่ผ่านมาแอมเนสตี้อินเดียไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายนี้ และพบว่าแอมเนสตี้อังกฤษได้โอนเงินก้อนใหญ่ไปให้องค์กรต่างๆ รวมทั้งแอมเนสตี้อินเดียด้วย

 

อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่างแอมเนสตี้ต้องระงับการดำเนินงาน จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับโลกประชาธิปไตย

แต่ขณะเดียวกัน แอมเนสตี้ก็ถูกแฉกลับเช่นกันเรื่องความไม่โปร่งใสและดูเหมือนมีวัตถุประสงค์แอบแฝง เช่นเดียวกับองค์กรทำนองนี้หลายๆ องค์กรที่รับเงินบริจาคต่างชาติเข้าไปทำกิจกรรมหรือรณรงค์บางอย่างด้วยจุดประสงค์เฉพาะ กรณีที่เห็นชัดใหม่หมาดก็คือฮ่องกง

หนึ่งในมหาเศรษฐีที่รับรู้กันว่าบริจาคเงินให้แอมเนสตี้ก็คือจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินที่เคยโจมตีค่าเงินบาทของไทยและหลายสกุลในเอเชียช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า โซรอสหากินหรือสร้างความร่ำรวยด้วยการก่อหายนะให้กับคนทั้งโลก (จนบางคนเรียกเขาว่าอาชญากรการเงินระดับโลก) แต่กลับบอกว่าตัวเองรักประชาธิปไตย และเอาเงินที่ได้จากการสร้างหายนะนั้นไปอุดหนุนองค์กรเอ็นจีโอเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย (แทรกแซง) ในประเทศต่างๆ

องค์กรสิทธิมนุษยชนคือองค์กรที่รับใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยตะวันตก ส่วนสปอนเซอร์สนับสนุนการเงินก็มาจากประเทศหรือปัจเจกบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

วิธีคิดของบุคลากรที่ทำงานกับองค์กรลักษณะนี้มักจะตายตัวสำเร็จรูปแบบตะวันตก โดยที่บางครั้งก็จะไม่มองรายละเอียดบางอย่าง หรือบริบทเฉพาะตัวของประเทศนั้นๆ ทำให้บางครั้งถูกมองว่าลำเอียง เลือกข้าง

 

เช่นกรณีของประเทศไทยที่ผ่านมา ที่เกิดม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้อหลากสี หลายคนรู้สึกว่าองค์กรสิทธิฯ เหล่านี้มักออกแถลงการณ์เอนเอียงไปทางฝ่ายเสื้อแดงเป็นหลัก

แม้มีกรณีเสียชีวิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่น้ำหนักการปกป้องจะตกไปอยู่ฝ่ายเสื้อแดงมากกว่า

ซึ่งอาจเป็นเพราะเห็นว่ารัฐบาลของคนเสื้อแดงมาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีข้อเสียอื่นๆ เช่น คอร์รัปชั่นรุนแรง ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญพอที่จะมาทำลายความชอบธรรมการเป็นรัฐบาลตามมาตรฐานตะวันตก

การแทรกแซงทางการเมืองในไทยของแอมเนสตี้ที่เห็นชัด ก็คือกรณีคัดค้านมติของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแม้แอมเนสตี้จะอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แต่อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่คนหนึ่งเคยเป็นประธานแอมเนสตี้ประเทศไทย

ล่าสุดก็คือการรณรงค์ให้สมาชิกแอมเนสตี้ทั่วโลก 8 ล้านคน ช่วยกันบีบรัฐบาลไทยให้ยกเลิกตั้งข้อหาแกนนำผู้จัดชุมนุม แฟลชม็อบ-เยาวชนปลดแอก

ภาพลักษณ์และบทบาทของแอมเนสตี้ไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จึงดูคล้ายจะทำงานเพื่อตอบสนองบางพรรคการเมืองมากกว่า

 

องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแอมเนสตี้ หรือฮิวแมนไรท์ฯ จำเป็นต้องมีกิจกรรม มีอีเวนต์ เพื่อนำบิลไปแสดงต่อสปอนเซอร์

พวกเขาต้องเคลื่อนไหว จัดกิจกรรม มีข่าวอยู่ทางหน้าสื่อบ่อยๆ เพื่อให้สปอนเซอร์เห็นว่ามีผลงาน และถ้ารายงานแต่เรื่องดีๆ เช่น ประเทศนั้นไม่มีปัญหาอะไรเลย พวกเขาก็จะตกงาน ไม่ได้รับงบฯ ก็จำเป็นต้องรายงานว่าที่นั่นที่นี่มีปัญหาเยอะ ต้องรณรงค์อีกนาน ต้องใช้งบฯ อีกเยอะ

อย่างไรก็ตาม แม้จะทำตัวเหมือนเป็นตำรวจที่คอยจัดระเบียบโลก ทำตัวเสมือนผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกประพฤติตนเป็นประชาธิปไตยตามที่สปอนเซอร์ต้องการ

แต่แอมเนสตี้ก็มีเรื่องฉาวด้านมืดของตัวเอง เข้าทำนองที่ว่าอะไรก็ตามที่แอมเนสตี้เคยเทศนาสั่งสอนคนอื่นไม่ให้ทำ แต่ตัวเองก็ทำมาแล้วเกือบหมด

ด้านมืดฉาวโฉ่ของแอมเนสตี้ถูกเปิดเผยไว้ในรายงานเมื่อปีที่แล้วหลังจากพนักงาน 2 คนของแอมเนสตี้ฆ่าตัวตาย รายแรกเป็นชายวัย 65 ปี ซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานในปารีส จากความเครียดและทำงานหนักมากเกินไป

ถัดมาหลังจากนั้นอีก 6 สัปดาห์ พนักงานหญิงวัย 28 ปีอีกคนหนึ่งของสำนักงานเจนีวา ฆ่าตัวตายเช่นกัน

ทำให้ผู้บริหารสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบปัญหา โดยทำการสำรวจจากพนักงาน 475 คน

 

สิ่งที่สรุปออกมาในรายงานนี้ หลักใหญ่ใจความคือ แอมเนสตี้มี “สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นพิษ” (toxic working environment) หรือมีวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ (toxic working culture) เนื่องจากมีการข่มเหงรังแก (บูลลี่) อย่างกว้างขวาง, การทำให้อับอายในที่สาธารณะ, เลือกปฏิบัติด้านเพศและสีผิว เหยียดเชื้อชาติ และยังมีการใช้อำนาจมิชอบอื่นๆ อีกมากมาย

ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่ระดับผู้จัดการหลายคนมักทำให้พนักงานต่ำต้อยด้อยค่าในที่ประชุม จงใจกีดกันพนักงานบางคนไม่ให้มีส่วนร่วมในการรายงานต่อที่ประชุม หรือไม่ก็แสดงความคิดเห็นหลู่เกียรติหรือข่มขู่คุกคามพนักงาน เช่น You’re shit! ซึ่งเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม ในทำนองว่าคุณมันแย่ที่สุด ไม่สมควรมีชีวิตอยู่บนโลกนี้

ด้านมืดเช่นนี้ของแอมเนสตี้ ย้อนแย้งอย่างยิ่งกับภารกิจหลักของแอมเนสตี้ ที่ว่าจะปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

แม้ดูเหมือนว่าจะมีความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงของแอมเนสตี้ แต่ก็ไม่อาจมีใครรับประกันได้ว่าสภาพ toxic เช่นนั้นจะหมดไปหรือไม่

ไม่เพียงแอมเนสตี้ที่มีข่าวอื้อฉาวทำนองนี้ แต่องค์กรเอ็นจีโออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นออกซ์แฟม หรือเซฟ เดอะ ชิลเดรน ก็มีปัญหาข่มเหงรังแกและละเมิดทางเพศอยู่เนืองๆ