โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ /เปิดเครื่องราง ‘มีดหมอ’ หลวงพ่อเดิม พุทธสโร พระเกจิดังวัดหนองโพ

หลวงพ่อเดิม พุทธสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เปิดเครื่องราง ‘มีดหมอ’

หลวงพ่อเดิม พุทธสโร

พระเกจิดังวัดหนองโพ

 

 

“หลวงพ่อเดิม พุทธสโร” หรือ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” ถือเป็นพระเกจิชื่อดังภาคกลางตอนบนที่มีผู้คนเคารพนับถืออย่างมาก

จัดสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังล้วนแต่ได้รับความนิยม อาทิ เหรียญนางกวัก ราชสีห์ ตะกรุด ผ้ายันต์รองเท้า แหวน ฯลฯ

หลวงพ่อเดิมศึกษาวิชามีดหมอจากหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ต่อมาสร้างมีดหมอขึ้นมา

ยุคแรกๆ สร้างมีดเล่มใหญ่ให้แก่ควาญช้าง ซึ่งมีขนาดทั้งด้ามทั้งฝักยาวประมาณหนึ่งศอก ต่อมาจึงทำมีดให้มีขนาดเล็กลง ขนาดพอพกได้พอดี จนมาถึงมีดขนาดเล็ก พกใส่กระเป๋าเสื้อได้ในที่สุด

เนื้อเหล็กที่นำมาใช้ตีเป็นมีด จะมีส่วนผสมประกอบด้วยตะปูสังขวานร ซึ่งเป็นตะปูในสมัยโบราณที่ใช้ยึดเครื่องไม้ในพระอุโบสถแทนตะปู ตะปูโลงผีที่สัปเหร่อเผาแล้วเก็บไว้ บาตรแตกชำรุด และเหล็กน้ำพี้ นำมาเป็นส่วนผสมใช้ตีมีด

สำหรับช่างที่ตี เท่าที่ทราบเป็นฝีมือช่างฉิม ช่างไข่ และช่างสอน ซึ่งแต่ละช่างจะมีเอกลักษณ์ของตัวมีดต่างกันไป

เมื่อช่างทำใบมีดเสร็จแล้ว จะส่งต่อให้ช่างทำด้ามและฝักทำต่อ

ส่วนที่เป็นตัวด้าม ถ้าเป็นมีดเล่มใหญ่จะมีด้ามเป็นงา และฝักเป็นไม้คูน ส่วนเล่มเล็กจะมีด้ามเป็นงาและฝักเป็นงา

จากนั้นส่งต่อไปให้ช่างทำเงินทำที่รัดปลอกมีดและด้ามมีด ช่างจะทำเงิน ทอง หรือนากตามที่กำหนด โดยส่วนมากจะเป็นเงินเพียงอย่างเดียว

เมื่อทุกอย่างเสร็จ จะนำมาประกอบที่วัดหนองโพ โดยหลวงพ่อเดิมจะทำผงอิทธิเจไว้ให้ ผสมกับเส้นเกศาของหลวงพ่อที่ปลงในวันขึ้น 15 ค่ำ และแผ่นตะกรุด ซึ่งเป็นเงิน ทอง นาก เป็นแผ่นเล็ก ลงอักขระ ตัดพอดีกับตัวกั้นของมีด บรรจุลงไปในด้ามมีดอุดด้วยครั่งจนแน่น หลังจากนั้นจึงนำมีดหมอไปปลุกเสกอีกครั้ง

เชื่อว่าโดดเด่นรอบด้าน

เครื่องรางมีดหมอ

 

วิธีอาราธนามีดหมอ ให้ระลึกถึงหลวงพ่อเดิมแล้วบริกรรมว่า “พระพุทธังรักษา พระธรรมมังรักษา พระสังฆังรักษา ศัตรูมาบีฑาวินาศสันติ”

ส่วนคาถากำกับมีดหมอ มีดังนี้ “สักกัสสะ วชิราวุธัง เวสสุวันนะสะคะธาวุธัง อาฬาวะกะธุสาวุธัง ยะมะสะนัยนาวุธัง ณารายยะสะจักกะราวุธัง ปัญจะอาวุธานัง เอเตสังอานุภาเวนะ ปัญจะอาวุธานัง ภัคคะภัคขา วิจุณนัง วิจุณนาโลมังมาเมนะ พุทธะสันติ คัจฉะอะมุทหิ โอกาเสติฐาหิ”

ส่วนข้อห้ามผู้ที่ถือเครื่องรางนี้คือ ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต นอกจากป้องกันตัว ห้ามนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น รังแกคนอื่น อย่าเป็นชู้กับเมียคนอื่น ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้สตรีที่มีรอบเดือนแตะต้อง

ปัจจุบันของแท้หายากมาก

 

ประวัติหลวงพ่อเดิม เกิดในสกุลภู่มณี เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2403

ช่วงวัยเยาว์ก่อนอุปสมบทนั้น บิดา-มารดานำเข้าไปหาพระหาวัด ซึ่งการศึกษาของชาวหนองโพในตอนนั้นมีศูนย์กลางคือวัดหนองโพ

กระทั่งเมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2423 มีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ต.สระทะเล เป็นพระอนุศาสนาจารย์

ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

จากนั้นเดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมตามทางที่พระนวกะ ตั้งต้นศึกษาหาความรู้เป็นการใหญ่ รวมทั้งท่องบ่นพระคัมภีร์ต่างๆ

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิทยาคมกับนายพัน ชูพันธ์ ผู้ทรงวิทยาคุณอยู่ในบ้านหนองโพ หลังนายพันถึงมรณกรรม ได้ไปศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ที่วัดบ้านบน ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

เดินทางไปเรียนทางวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางเหลือง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

หลังจัดสร้างวัตถุมงคลมากมายหลายรุ่น จนเป็นที่เลื่องลือมากในเรื่องของความขลัง มีผู้เข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก

รวมถึงขอให้รดน้ำมนต์ แป้งผง น้ำมัน ตะกรุด และผ้าประเจียด

ที่แพร่หลายที่สุดคือแหวนเงินหรือนิกเกิล และผ้ารอบฝ่าเท้า ผ้าประเจียด เกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือ

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักพัฒนาสร้างถาวรวัตถุในวัดมากมาย อาทิ สร้างกุฏิหลังแรกที่ใช้ฝาไม้กระดาน สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโรงอุโบสถ และสร้างพระเจดีย์ 3 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบไว้ตรงหน้าอุโบสถ เป็นต้น

 

ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะแขวงเมืองนครสวรรค์ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2457

พ.ศ.2462 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ปฏิบัติศาสนกิจในหน้าที่มาตลอดเวลา 20 ปี กระทั่งล่วงเข้าวัยชรามาก คณะสงฆ์จึงได้เลื่อนหลวงพ่อขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์

อย่างไรก็ตาม หลังกลับจากการเป็นประธานงานก่อสร้างโบสถ์ในวัดอินทาราม ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เริ่มอาพาธและมีอาการหนักขึ้น บรรดาศิษยานุศิษย์ต่างพากันมาห้อมล้อมพยาบาลและเฝ้าอาการกันเนืองแน่น

ในที่สุด ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี พรรษา 71 จัดพิธีพระราชทานเพลิงในวันที่ 30 สิงหาคม 2494

ได้รับการขนานนามและยกย่องเป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว”

วัดหนองโพ สร้างมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะรูปเหมือนขนาดเท่าจริง จัดงานทำบุญประจำปี ปิดทองไหว้พระรูปเหมือนวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี