เกษียร เตชะพีระ | จะโค่นจอมเผด็จการอย่างไร (1)

เกษียร เตชะพีระ

เอริกา เชอโนเว็ธ เป็นศาสตราจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนและกิจการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และหนึ่งในแกนคณาจารย์สังกัดศูนย์คาร์เพื่อนโยบายสิทธิมนุษยชนซึ่งอำนวยการห้องทดลองปฏิบัติการไม่รุนแรงสำหรับศึกษาวิจัยความรุนแรงทางการเมืองและทางเลือกอื่นๆ

นอกเหนือจากนั้น กลุ่มคณาจารย์ที่ว่านี้ได้รับยกย่องจากนิตยสาร Foreign Policy ให้อยู่ในบรรดายอดนักคิด 100 อันดับแรกของโลกประจำปี ค.ศ.2013

ค่าที่พวกเขาส่งเสริมการศึกษาเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการต่อต้านอย่างไม่รุนแรง

หนังสือเล่มล่าสุดของศาสตราจารย์เชอโนเว็ธที่กำลังจะตีพิมพ์ออกมาปลายปีนี้โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดคือ Civil Resistance : What Everyone Needs to Know (เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับอารยะต่อต้าน) ซึ่งสำรวจประเด็นที่ว่าอารยะต่อต้านคืออะไร ทำงานอย่างไร ทำไมบางครั้งมันล้มเหลว ความรุนแรงและการปราบปรามส่งผลต่อมันอย่างไร และผลกระทบระยะยาวของมัน

ท่ามกลางกระแสสูงแห่งการเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมในไทย เบลารุสและที่อื่นๆ ขณะนี้ เชอโนเว็ธได้ให้สัมภาษณ์รายการ The Big Idea ของวิทยุ BBC World Service ในประเด็น “How to topple a dictator” (จะโค่นจอมเผด็จการอย่างไร) เมื่อ 19 กันยายนศกนี้

ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อเป็นข้อคิดความรู้ประกอบการประเมินและทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังขัดแย้งร้อนแรงปัจจุบัน

เดวิด เอ็ดมอนด์ส ผู้ดำเนินรายการ : ประเด็นรายการวันนี้คือต้องใช้คนจำนวนมากเท่าไหร่ถึงจะโค่นจอมเผด็จการได้?

เราไม่อาจโหวตไล่บรรดาจอมเผด็จการได้ ต่างจากกรณีรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งไม่เป็นที่นิยมของประชาชน แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่จะคัดค้านพวกเขา

เอริกา เชอโนเว็ธ เป็นนักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาการคัดค้านระบอบเผด็จการโดยเปรียบเทียบการต่อต้านแบบรุนแรงกับแบบไม่รุนแรง ในประวัติศาสตร์ระยะใกล้นี้ มีขบวนการไม่รุนแรงอยู่มากมายหลายขบวน

เอริกา เชอโนเว็ธ : ขบวนการไม่รุนแรงระยะใกล้นี้รวมทั้งขบวนการโซลิดาริตี้ที่ต่อต้านการปกครองของคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์สมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกผิวในแอฟริกาใต้ขบวนการต่อต้านออกุสโต ปิโนเช่ต์ ในชิลี ขบวนการลุกตื่นของอาหรับอย่างเช่น การปฏิวัติดอกมะลิในตูนิเซีย

ตัวอย่างล่ากว่านี้ก็เช่นการปฏิวัติซูดานและการปฏิวัติแอลจีเรียซึ่งมักเรียกกันว่าการปฏิวัติด้วยรอยยิ้มในปี ค.ศ.2019 และแม้แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านผู้ว่าที่คอร์รัปชั่นและเกลียดผู้หญิงในเปอร์โตริโกเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2019 (หมายถึง ผู้ว่าริคาร์โด โรเซลโล ที่ถูกบีบให้ลาออกฐานกล่าวเสียดสีเยาะเย้ยเหยื่อพายุเฮอร์ริเคนมาเรียที่เป็นคนรักร่วมเพศและผู้หญิง ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงเขาขนาดมหึมา)

เอ็ดมอนด์ส : ทว่าการชุมนุมแสดงพลังเป็นแค่รูปแบบหนึ่งของการประท้วงอย่างไม่รุนแรงเท่านั้น ยังมีรูปแบบอื่นอีกเช่นการยื่นคำร้องเรียน/ฎีกา การติดโปสเตอร์ การนัดหยุดงาน การคว่ำบาตร การนั่งประท้วงและเดินผละออกจากที่ประชุม/ที่ทำงาน อันที่จริงหากถือตามแหล่งอ้างอิงการจัดจำแนกประเภทการประท้วงที่รู้จักกันดีแหล่งหนึ่งนั้น มีรูปแบบการประท้วงอย่างไม่รุนแรงอยู่ถึง 198 ประเภท

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าการจำแนกแยกแยะระหว่างการใช้ความรุนแรงกับไม่รุนแรงจะชัดเจนแจ่มแจ้งเสมอไป ดังที่ศาสตราจารย์เชอโนเว็ธได้บรรยายการประท้วง 3 ประเภทซึ่งจับยัดกล่องแยกประเภทต่างๆ กันไม่ได้ง่ายนัก

เชอโนเว็ธ : การประท้วงแบบแยกแยะยากประเภทแรกได้แก่ เหตุการณ์ไม่ติดอาวุธที่ซึ่งผู้คนแถลงแสดงจุด มุ่งหมายที่เกลียดชัง แบ่งแยกหรือมุ่งปลดริบสิทธิของคนอื่น (อาทิ การชุมนุมแสดงพลังของพวกนีโอนาซี)

การประท้วงอีกประเภทที่จัดอยู่ในพื้นที่สีเทา (คลุมเครือกำกวม) จะเกี่ยวกับเรื่องตัววิธีการที่ใช้มากกว่า อย่างเช่น การทำลายทรัพย์สินบางทีก็ถูกจัดอยู่ในพื้นที่สีเทาถึงแม้ดิฉันจะคิดว่านักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะไม่นับการทำลายทรัพย์สินอยู่ในคำนิยามเรื่องความรุนแรงของตน เพราะบ่อยครั้งมันเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสื่อให้เห็นว่าเป้าหมายการประท้วงนั้นเป็นเรื่องจริงจังโดยไม่ไปทำร้ายใครเข้า

แล้วก็มีการประท้วงประเภททำร้ายตัวเอง อย่างเช่น การจุดไฟเผาตัวเองหรืออดอาหารประท้วงซึ่งทำร้ายตัวเองแต่ไม่ทำร้ายคนอื่น

เอ็ดมอนด์ส : กระนั้นก็ตาม รูปแบบการประท้วงส่วนใหญ่ก็มักจัดเป็นประเภทรุนแรง เช่น การลอบสังหาร หรือประเภทไม่รุนแรง เช่น การรวมตัวกันจุดเทียนสวดมนต์วางดอกไม้ หรือการเดินขบวน เป็นต้น

งานวิจัยของศาสตราจารย์เชอโนเว็ธนั้นมุ่งตอบปัญหาเรียบง่ายข้อหนึ่งคือ ถ้าหากขบวนการหนึ่งมุ่งบรรลุเป้าหมายสักอย่างอาทิโค่นจอมเผด็จการแล้ว ยุทธศาสตร์อะไรน่าจะใช้การได้ดีที่สุด ความรุนแรงหรือความไม่รุนแรง? เธอกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งได้ศึกษาขบวนการทั้งหมดที่มีข้อมูลเกี่ยวกับมันมากพอเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1900 ยาวเหยียดมาจรดปี ค.ศ.2006 แล้วพบว่า…

เชอโนเว็ธ : การรณรงค์แบบไม่รุนแรงสำเร็จประมาณกึ่งหนึ่งของทั้งหมด ส่วนการรณรงค์ด้วยความรุนแรงสำเร็จราวเสี้ยวหนึ่งของทั้งหมด

เอ็ดมอนด์ส : พูดอีกอย่างก็คือขบวนการหนึ่งน่าจะสำเร็จเป็นสองเท่าถ้าหากมันไม่รุนแรง คำถามถัดไปก็คือไหงเป็นงั้นล่ะ? ดูเหมือนเหตุผลหลักคือความรุนแรงบั่นทอนฐานสนับสนุนของขบวนการ โดยเปรียบตัดต่างกัน ผู้คนอีกมากหลายจะเข้าร่วมการประท้วงไม่รุนแรงอย่างแข็งขัน

เชอโนเว็ธ : ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว การรณรงค์แบบไม่รุนแรงจะสามารถรวบรวมผู้เข้าร่วมได้มากกว่าการรณรงค์ด้วยความรุนแรงเพราะมันเข้าร่วมได้ง่ายกว่าวิธีการรุนแรงส่วนใหญ่ มันเข้าร่วมได้สะดวกกว่า

กล่าวโดยทั่วไปแล้วเสี่ยงต่ำกว่า มันเรียกร้องต้องการความสามารถทางกายภาพน้อยกว่า มันเรียกร้องต้องการการฝึกอบรมระดับล้ำหน้าน้อยกว่า และนั่นหมายความว่าวิธีการจำนวนมากของปฏิบัติการแบบไม่รุนแรงนั้นเข้าถึงได้

ดังนั้น คุณมีแนวโน้มที่จะเห็นอัตราการเข้าร่วมสูงกว่าในหมู่ผู้หญิง เด็กเล็ก คนชรา ผู้ทุพพลภาพ และคนกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบในหมู่ประชากร ด้วยเหตุว่าวิธีการของปฏิบัติการแบบไม่รุนแรงอย่างเช่นการชุมนุมแสดงพลังนั้นเปิดให้ผู้คนเข้าร่วมได้ง่ายกว่าและเสี่ยงต่อตัวเองและอนาคตของตัวต่ำกว่าการรณรงค์ด้วยอาวุธนั่นเอง

เอ็ดมอนด์ส : กลุ่มก่อการร้ายและแก๊งล่าสังหารจึงมักไม่ค่อยมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายอายุ 70-80 ปีเป็นสมัครพรรคพวก ทว่าการรณรงค์แบบไม่รุนแรงกลับแตกต่างเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว

เชอโนเว็ธ : ถูกเผงเลยค่ะ อันที่จริงในเซอร์เบียระหว่างการปฏิวัติรถปราบดินซึ่งกำลังพยายามขับไล่ประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิช ออกจากตำแหน่งตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 และปี ค.ศ.2000 นั้น (Bulldozer Revolution สมญานามการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนเซอร์เบียดังกล่าว ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์วิศวกรขับรถปราบดินบุกตะลุยตึกที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งเซอร์เบียในครั้งนั้น) มียุทธวิธีเฉพาะหนึ่งที่เรียกว่า “ปู่-ย่า ตา-ยายประท้วง”

โดยคนหนุ่ม-สาวซึ่งเป็นตัวการหลักในการระดมกันลุกฮือครั้งนี้จะพาปู่-ย่า ตา-ยายของตนมายืนประกบตัวเองทั้งสองข้าง เพราะลำพังคนหนุ่มสาวมักโดนตำรวจรุมทุบตีข่มเหงรังแกค่อนข้างหนัก แต่พอปู่-ย่า ตา-ยายมาอยู่ด้วย มันก็ไปเข้าข่ายข้อห้ามทางสังคมและวัฒนธรรมนานาชนิดที่ไม่ให้รังแกคนแก่ ทำให้พวกลูกหลานปลอดภัยมากขึ้น

(ต่อสัปดาห์หน้า)