จรัญ มะลูลีม : ภาษาแห่งกวีนิพนธ์ ของชาวอาหรับยุคโบราณ

จรัญ มะลูลีม

ความรู้สึกในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเติบโตขึ้นในหมู่ชาวเผ่าผู้ทำการเลี้ยงสัตว์ที่แสดงออกเป็นภาษากวีที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งเกิดมาจากภาษาอาหรับท้องถิ่นต่างๆ เป็นภาษาแบบแผนพร้อมไวยากรณ์และคำศัพท์ที่ละเอียดประณีต ซึ่งวิวัฒนาการขึ้นมาตามลำดับจากภาษาท้องถิ่นภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ หรือบางทีก็อาจเป็นการผสมผสานกันของภาษาหลายภาษา

ภาษาเช่นนี้ใช้โดยกวีจากกลุ่มเผ่าที่แตกต่างกัน หรือที่มาจากเมืองโอเอซิส บทกวีของพวกเขาอาจพัฒนาขึ้นมาจากการใช้ภาษาที่มีจังหวะความสูงส่งและคล้องจองซึ่งใช้ในการสวดหรือคาถาศักดิ์สิทธิ์

แต่ภาษาที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ล้วนเป็นผลิตผลของขนบประเพณีที่สะสมกันมาช้านาน ซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในการชุมนุมของเผ่าและเมืองที่เป็นตลาดเท่านั้น แต่ยังมีในราชสำนักของราชวงศ์อาหรับตามชายแดนของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นฮิรอบนฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส ซึ่งเปิดรับอิทธิพลคริสเตียนและอิทธิพลของลัทธิมาชดา

 

ระเบียบแบบแผนด้านบทกวีซึ่งเกิดจากจารีตนี้มีความประณีตบรรจง รูปแบบของบทกวีที่มีค่าสูงสุดคือ บทกวีสำหรับร้องหรือกอศิดะฮ์ (qasida) อันเป็นบทกวีที่มีความยาวถึง 100 บรรทัด เขียนขึ้นในฉันทลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับ มีการสัมผัสอย่างเดียวกันตลอดบทกวีนั้น

แต่ละบรรทัดประกอบด้วยสองวรรค คำสัมผัสมีอยู่ในวรรคทั้งสองในบรรทัดแรก แต่มีเฉพาะในวรรคหลังของบรรทัดต่อๆ ไป

โดยทั่วไปหนึ่งบรรทัดก็คือหน่วยหนึ่งของความหมาย หาได้ยากที่จะมีความจากบรรทัดหนึ่งต่อเนื่องอยู่ในบรรทัดต่อไป แต่ก็มิได้กีดกันความต่อเนื่องของความคิดหรือความรู้สึกจากบรรทัดหนึ่งไปยังอีกบรรทัดหนึ่งและตลอดบทกวีทั้งบท

ไม่มีการเขียนบทกวีเป็นลายลักษณ์อักษรถึงแม้ว่าจะทำเช่นนั้นได้ก็ตาม เพราะว่าในคาบสมุทรนั้นก็รู้จักกันการเขียนอยู่แล้ว เช่นข้อความที่จารึกไว้ในภาษาของอาระเบียภาคใต้ที่สามารถย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี

ข้อความที่จารึกไว้เป็นภาษาอาหรับในระยะแรกสุดซึ่งอยู่ในรูปตัวอักษรแบบอารามาอิกนั้นสามารถย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 4 และต่อมาตัวอักษรภาษาอาหรับก็พัฒนาขึ้น

นอกจากการเขียนคำจารึกแล้ว งานเขียนอาจจะใช้ได้เป็นอย่างดีในการค้าขายทางไกล อย่างไรก็ดี บทกวีถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อจะอ่านในที่สาธารณะ อาจจะอ่านโดยกวีเองหรือโดยรอวี (rawi) คือผู้ท่องบทกวีก็ได้

เหตุนี้จึงหมายถึงว่าความรู้สึกจะถูกถ่ายทอดลงในบรรทัดเป็นหน่วยหนึ่งของถ้อยคำซึ่งผู้ฟังสามารถจับความหมายได้ และผู้แสดงทุกคนมีเอกลักษณ์ของตนเองและแตกต่างจากคนอื่น

 

กวีหรือรอวี มีขอบเขตที่จะแต่งทันควันภายในกรอบของรูปแบบและแบบแผนของถ้อยคำที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป รวมทั้งการใช้ถ้อยคำบางถ้อยคำหรือการผสมผสานถ้อยคำเหล่านั้นเพื่อจะแสดงความคิดหรือความรู้สึกบางประการ

เพราะฉะนั้น จึงอาจจะไม่มีบทกวีฉบับแท้จริงอยู่แม้แต่บทเดียว เมื่อบทกวีเหล่านั้นตกทอดมาถึงพวกเราจึงได้มีการผลิตต้นฉบับขึ้นภายหลังโดยนักภาษาศาสตร์หรือนักวิจารณ์วรรณกรรมในรูปของมาตรฐานทางภาษาหรือบทกวีในสมัยของพวกเขาเอง

ในกระบวนการดังกล่าว พวกเขาอาจนำเอาส่วนประกอบใหม่ๆ เข้ามาสู่บทกวีเหล่านั้นด้วยก็ได้และอาจเปลี่ยนภาษาให้เหมาะสมกับความคิดของพวกเขาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

และแม้กระทั่งอาจจะวางรูปกอศิดะฮ์ขึ้นมาใหม่ด้วยการผสมผสานบทกวีสั้นๆ ชิ้นต่างๆ เข้าด้วยกัน

 

ในช่วงทศวรรษ 1920 นักวิชาการสองคน คนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ อีกคนหนึ่งเป็นชาวอียิปต์ได้สร้างทฤษฎีขึ้นมาจากข้อเท็จจริงดังกล่าว บทกวีเหล่านั้นเป็นผลิตผลของสมัยหลัง แต่ตอนนี้ผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยว่าโดยเนื้อหาแล้วบทกวีมาจากสมัยที่กวีเขียนขึ้นแต่เดิม

ในหมู่นักวิชาการและนักวิจารณ์สมัยต่อมานั้น นับเป็นเรื่องธรรมดาที่จะกล่าวถึงบทกวีบางบทในบรรดาบทกวีที่หลงเหลืออยู่มากมายว่าเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของบทกวีอาหรับโบราณ

บทกวีเหล่านี้ถูกเรียกว่า มุ-อัลละกอต (Mu”allaqat) (มุอัลละกอต เป็นบทกวีชั้นยอดเยี่ยมซึ่งชนะการแข่งขันในยุคก่อนอิสลาม บทกวีที่ชนะการแข่งขันนี้จะถูกนำไปแขวนไว้ที่วิหารกะอ์บะฮ์) หรือ “บทกวีที่เขียนค้าง” อันเป็นชื่อซึ่งที่มาและความหมายยังคลุมเครืออยู่

กวีซึ่งเขียนบทกวีเหล่านี้ได้แก่ ลาบิด สุฮัยร์ อิมรุล-ก็อยส์ (Labid, Zuhayr, Imur”l-Qays) และกวีอื่นๆ อีก 6 คนซึ่งถือกันว่าเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ของศิลปะนี้

เป็นประเพณีที่จะเรียกบทกวีของสมัยนี้ว่าดิวาน (diwan) ของชาวอาหรับ เป็นการบันทึกในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำหรือเป็นการแสดงถึงการรวบรวมความทรงจำของพวกเขา

แต่ก็ยังมีรอยประทับแห่งบุคลิกภาพของกวีแต่ละคนอยู่ในบทกวีด้วย

นักวิจารณ์และนักวิชาการในสมัยต่อมานั้นคุ้นเคยในการแยกความแตกต่างของส่วนประกอบ 3 ประการของกอศิดะฮ์ แต่นี่เป็นการวางรูปแบบให้แก่ข้อปฏิบัติหลวมๆ และหลากหลาย

 

บทกวีนั้นมักจะเริ่มต้นด้วยการรำลึกถึงสถานที่ซึ่งกวีเคยอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นการรำลึกถึงความรักที่สูญเสียไปด้วย โดยที่อารมณ์มิได้ข้องเกี่ยวกับเรื่องความพิศวาสมากเท่ากับการรำลึกถึงความไม่ยั่งยืนแห่งชีวิตมนุษย์ ดังเช่น

บ้านเรือนเหล่านี้ล้วนแต่ถูกทิ้งให้รกร้าง

สถานที่ต่างๆ ที่เราหยุดพักและที่พวกเราตั้งค่ายพักอยู่ในมีนา

ทั้งฆอว์ลและริญานต่างก็ถูกทอดทิ้ง

ในทางน้ำที่รอยยานนั้นท้องแม่น้ำเปล่าเปลือยและราบเรียบ

เหมือนกับรอยเขียนถูกเก็บรักษาไว้บนหิน

มูลสัตว์ซึ่งกลายเป็นสีดำกองอยู่อย่างไม่ถูกรบกวนนับตั้งแต่บรรดาผู้ที่อยู่ที่นั่นได้จากไป

กาลเวลาหลายขวบปีได้ผ่านพ้นไปเหนือเจ้าสิ่งนั้น

ทั้งขวบปีของเดือนอันศักดิ์สิทธิ์และธรรมดา

สายธารซึ่งดวงดาวทำให้ไหลไปหล่อเลี้ยงมัน

และมันได้รับการทำนุบำรุงด้วยน้ำจากเมฆฝนทั้งที่ตกลงมาอย่างหนักและประโปรยมาเบาๆ หมู่เมฆยามค่ำคืน

หมู่เมฆที่ครอบคลุมท้องฟ้ายามเช้าและหมู่เมฆยามเย็นซึ่งเสียงของมันตอบรับกันและกัน

(F.A. al-Bustani and others (eds.), al-Majani al-haditha, Vol. I (Beirut, 1946), p.103 ; English trans, A.J. Aberry, The Seven Odes (London, 1957, p.142)

 

หลังจากนี้ก็อาจมีการเดินทางบนหลังอูฐซึ่งกวีจะบรรยายถึงเรื่องอูฐ แถบชนบทและการล่าสัตว์ และกล่าวเป็นนัยๆ ถึงเรื่องที่ความเข้มแข็งและความมั่นใจของเขากลับมาใหม่เมื่อถูกทดสอบด้วยพลังแห่งธรรมชาติ

บทกวีอาจจะจบลงด้วยการสรรเสริญเผ่าของกวีเองดังนี้

ได้มีการสร้างบ้านหลังสูงขึ้นสำหรับพวกเรา

ทั้งคนหนุ่ม-สาวและแก่ชราต่างก็พยายามที่จะยื่นมือออกไปให้ถึงความสูงของมัน

พวกเขาคือผู้ที่ต่อสู้เมื่อเผ่าตกอยู่ในความทุกข์โศก

ทั้งอัศวินและผู้ชี้ขาด พวกเขาเป็นเหมือนกับฤดูใบไม้ผลิสำหรับผู้ที่แสวงหาความช่วยเหลือจากพวกเขา

หรือสำหรับหญิงหม้ายซึ่งขวบปีของความโศกเศร้ายาวนาน

พวกเขาเป็นเผ่าพันธุ์เช่นนั้น

ความอิจฉาริษยาไม่อาจทำอันตรายพวกเขาได้

และไม่มีคนใดในหมู่พวกเขาที่ไร้คุณค่าพอที่จะไปกับศัตรู

(Ibid., pp. 112-13; English trans, p.147)

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การสรรเสริญและการโอ้อวดนั้น บางครั้งก็จะได้ยินสำเนียงอีกอย่างหนึ่งที่พูดถึงขีดจำกัดแห่งความเข้มแข็งของมนุษย์เมื่อเผชิญหน้ากับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยอำนาจทุกอย่าง ดังนี้

ข้าเหนื่อยอ่อนจากภารกิจของชีวิต

ไม่ผิดอะไรหรอก

ใครก็ตามที่มีชีวิตอยู่ในวัยแปดสิบย่อมรู้สึกเหนื่อยอ่อน

ข้ารู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในวันนี้

และอะไรได้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้

แต่ข้าไม่อาจบอกได้ว่าพรุ่งนี้จะนำอะไรมา

ข้าได้เห็นชะตากรรมกระทืบเท้าเหมือนกับอูฐในความมืด

ผู้ที่มันแตะต้องก็จะถูกฆ่าและผู้ที่มันข้ามไปก็จะอยู่ต่อไปเพื่อจะแก่ชราลง

(Ibid., pp. 88 ; English trans, p.118)