เทศมองไทย : ความตายกับที่ทำกิน ที่คลองไทรพัฒนา

เรื่องราวของชาวชุมชนคลองไทรพัฒนา ที่รินา จันดราน ของมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส นำเสนอผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ส เมื่อ 6 ตุลาคมนี้ เริ่มต้นด้วยความตายของสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 4 ราย จากเหตุลอบสังหารในช่วงระหว่างปี 2010 ถึงปี 2015

แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของการต่อสู้ยาวนานเพื่อให้ได้ที่ทำกินสิทธิเหนือที่ดินชุมชนที่ดำเนินมานานนับ 10 ปี

รินาบอกว่า นอกเหนือจากความตายของคนทั้ง 4 แล้ว ยังมีสมาชิกชุมชนอีกมากมายที่ทั้งถูกดำเนินคดี หรือถูกจับกุมคุมขัง เพราะการต่อสู้ที่ว่านี้

 

ชุมชนคลองไทรพัฒนา ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ราว 1,000 ไร่เศษ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานของสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ให้สัมปทานนายทุนทำสวนปาล์ม

เมื่อหมดสัมปทานนายทุนเอกชนกลับพยายามยึดครองพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ต่อ

เรื่องลุกลามถึงขั้นศาล แม้ศาลจะตัดสินให้บริษัทเหล่านั้นแพ้คดี แต่เมื่อมีชาวบ้านเข้ามาจับจองพื้นที่กลับถูกคุกคามจากผู้มีอิทธิพลในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การฟ้องร้องดำเนินคดี ทำลายบ้านเรือนทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งการลอบยิงจนเสียชีวิตดังกล่าว

“ไม่มีใครถูกจับกุม ถูกดำเนินคดีและตัดสินว่ามีความผิด ทั้งๆ ที่บรรดาชาวบ้านรู้ดีว่ามือปืนที่ลงมือได้รับการว่าจ้างมาจากมาเฟียที่ดินในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกเพียงว่า คดีเหล่านี้ต้องปิดลงเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป” รินาระบุ

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจของรินา จันดราน ก็คือ ราว 1 ใน 3 ของประชากรไทย 69 ล้านคนต้องพึ่งพาที่ดินทำกินเพื่อยังชีพให้อยู่รอด

แต่ในขณะเดียวกัน ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินภาคเอกชน กลับตกอยู่ในมือของนายทุนที่ดินในจำนวนเพียงไม่ถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ

รินาบอกเอาไว้อีกตอนหนึ่งโดยอ้างข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินทั้งหลายว่า โดยประมาณแล้วมีประชากรในประเทศไทยอีกมากกว่า 8 ล้านคนอยู่ในสภาพที่ไร้ที่ดินทำกิน

 

เจสสิกา แมรี่ เวชบรรยงรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับรอยเตอร์สว่า ทางการไทยรับเอากฎหมายที่ดินแบบตะวันตกเข้ามาบังคับใช้ในปี 1901 กฎหมายดังกล่าวกลายเป็นพื้นฐานของการถือครองที่ดินของเอกชน “ซึ่งทำให้หลงเหลือพื้นที่น้อยมากสำหรับการถือครองที่ดินในแบบอื่น รวมทั้งสิทธิที่ดินของชุมชน”

แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับปรุงแก้ไข จนเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการให้สิทธิในที่ดินทำกินสำหรับคนบางกลุ่มเพิ่มมากขึ้น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เคยมีการ “ยกเครื่อง” ระบบการบริหารจัดการที่ดินโดยสมบูรณ์เกิดขึ้นแต่อย่างใด

สกต.ต่อสู้เรียกร้องให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า เรียกร้องให้มีธนาคารที่ดินเพื่อสนับสนุนชาวไร่ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกิน และเรียกร้องให้คุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับเกษตรกร

เคยเข้าร่วมกับกลุ่มเรียกร้องสิทธิเกี่ยวกับที่ดินอื่นๆ ประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2018 จนทางการรับปากว่าจะเร่งรัดเรื่องโฉนดที่ดินชุมชนให้เร็วขึ้น

 

กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิอย่าง “โปรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล-พีไอ” ให้ข้อมูลกับรินาไว้ด้วยว่า ในช่วง 50 ปีหลังมานี้มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 70 ราย

ที่มากมายยิ่งกว่าคือ นักเคลื่อนไหวที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่บรรดาบริษัทต่างๆ เริ่มนำมาใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากชาวบ้านในหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ

ที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนาที่สุราษฎร์ธานีเช่นเดียวกัน มีชาวบ้าน 14 รายถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุกและทำให้ทรัพย์สินเสียหายเมื่อปี 2017

ในจำนวนที่ถูกฟ้องร้อง มี 7 รายที่ถูกตัดสินว่าผิดจริง และถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปีกับอีก 8 เดือน

 

รินา จันดราน บอกว่า ที่คลองไทรพัฒนา ทุกคนต้องร่วมมือกันจัดเวรยามลาดตระเวน 24 ชั่วโมง รวมทั้งทีมลาดตระเวนในยามกลางคืน พร้อมอุปกรณ์สำคัญคือวิทยุวอล์กกี้ทอล์กกี้ เพื่อการสื่อสารระหว่างกันและกัน

ในหอประชุมของชุมชน มีภาพถ่ายเตือนให้รำลึกถึง 4 สมาชิก สกต. และชาวชุมชนคลองไทรพัฒนาที่ถูกยิงเสียชีวิต 2 ราย ในจำนวนนั้นเป็นสุภาพสตรี

สมฤดี บุญทองเล็ก สูญเสียผู้เป็นบิดาไปกับการต่อสู้เพื่อชุมชนแห่งนี้ ผู้เป็นสามีเพิ่งถูกลอบยิง รอดชีวิตมาได้หวุดหวิด แต่เธอยืนยันกับรินา จันดราน ว่า จะต่อสู้ต่อไป

นี่คือทั้งหมดเท่าที่ทุกคนมี นี่คือสิ่งที่ผู้เป็นพ่อของเธอต้องการ ดังนั้น ทุกคนต้องสู้เพื่อสิทธิที่ดินของชุมชนต่อไป แม้จะเหมือนไม่มีวันจบสิ้นก็ตามที

ที่มาภาพ : สิทธิในที่ดิน ชุมชนคลองไทรพัฒนา