นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เหยื่อของพญาอินทรี

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนังสือที่ต้องอ่านในช่วงนี้คือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง อย่างน้อยก็เพราะใครๆ เขาก็อ่านกัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หากใครยังตาไม่สว่างก็ควรอ่านอย่างยิ่ง ใครที่ตาสว่างแล้วก็ควรอ่านเพราะผู้เขียนให้หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ควรตาสว่างอย่างละเอียด ซ้ำเป็นหลักฐานที่แน่นอนมั่นคงยากจะปฏิเสธด้วย

และอาจเป็นด้วยเหตุนี้ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ณัฐพล ซึ่งใช้เป็นฐานในการปรับปรุงให้แก่หนังสือเล่มนี้จึงถูกมหาวิทยาลัยซึ่งให้ปริญญาเอกแก่อาจารย์ณัฐพลห้ามเผยแพร่ เพราะมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอยากให้สังคมไทยสว่างเป็นที่ๆ เท่านั้น บางที่กลับมีภาระต้องปิดให้มืดมิดตลอดไป (แม้เป็นภารกิจที่น่าจะเห็นอยู่แล้วว่าไม่มีทางเป็นไปได้)

และเพราะเชื่อว่าใครๆ เขาก็อ่านกันแล้ว ผมจึงขอไม่คุยถึงเนื้อหาของหนังสือเท่ากับเรื่องปฏิกิริยาของตัวเองเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะมันทำให้เกิดความคิดและข้อสังเกตไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกมาก

สิ่งแรกที่นึกขึ้นมาทันทีก็คือ อำนาจใหญ่จากภายนอกที่เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศ ย่อมกระทบต่อการแย่งชิงและต่อรองอำนาจของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โปรตุเกส, บริษัทการค้าของวิลันดาหรือ VOC, บริษัทการค้าของอังกฤษหรือ EIC, บริษัทการค้าของฝรั่งเศส ล้วนเคยมีบทบาททางการเมืองในประเทศไทยมาแล้ว บางบริษัทและบางยุคสมัย เกือบเป็นปัจจัยตัดสินเด็ดขาดไปเลย

ก่อนหน้าบริษัทตะวันตกขึ้นไป กองเรือของเจิ้งเหอและชุมชนจีนก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการแย่งอำนาจกันของราชวงศ์ท้องถิ่นต่างๆ ในอยุธยา เพียงแต่เรายังไม่พบหลักฐานเท่านั้น แต่ที่มีหลักฐานให้เห็นมากพอสมควรคือ ชุมชนเปอร์เซีย, อินเดีย, โปรตุเกส, มลายู ล้วนมีบทบาทในการแย่งอำนาจกันของเจ้าและขุนนางในอยุธยาทั้งสิ้น

และหลังจากนั้น เมื่ออังกฤษเลือกสนับสนุนเจ้าในราชวงศ์จักรีแทนตระกูลบุนนาคในวิกฤตการณ์วังหน้า ก็เป็นอันปิดฉากการแข่งขันอำนาจของตระกูลบุนนาคไปได้ถาวรเลย

ในแง่นี้ จึงไม่ประหลาดใจแต่อย่างไรที่พญาอินทรีย่อมทำให้เกมแย่งอำนาจของขุนศึก, ศักดินา, เสรีนิยมไทย และสังคมนิยมไทย อีนุงตุงนังยิ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน แม้ว่าเป้าหมายของพญาอินทรีเป็นเพียงชัยชนะในสงครามเย็น แต่ด้วยเหตุนั้นแหละที่ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ยุ่งกับการเมืองภายในของไทย

การ “ขายชาติ” เป็นการค้าที่สลับซับซ้อนกว่าการขายก๋วยเตี๋ยวเป็นอันมาก และผู้กล่าวหามักไม่เข้าใจความสลับซับซ้อนนั้น

รายละเอียดของการต่อสู้ต่อรองอำนาจของนักการเมืองไทยกลุ่มต่างๆ ภายใต้เงาพญาอินทรี เผยให้เห็นบุคลิกภาพของผู้คนที่อยู่ในวงการเมืองระดับสูงของไทย พวกเขาหลอกลวงกัน, หักหลังกัน, ล่อหลอกกันด้วยผลประโยชน์ และรุกไล่กันโดยไม่เคยเคารพต่อกฎหมายและประเพณีใดๆ (จนกระทั่งการรัฐประหารเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของการย่ำยีกฎหมายเท่านั้น) ทุกฝ่ายล้วนเป็น “ซาก๊กนั้ง” ทั้งนั้น

อันที่จริง ไม่เฉพาะแต่ตัวละครในเรื่องสามก๊กเท่านั้นที่ร้อยเล่ห์พันเหลี่ยมอย่างไม่น่าคบ อันที่จริงขุดลึกลงไปในการแย่งชิงและต่อรองอำนาจของทุกสังคม ก็คงเห็นอย่างเดียวกัน

เพียงแต่เราไม่นึกว่ามีในเมืองไทย เพราะวรรณกรรมไทยมุ่งจะสั่งสอนเรื่องความดี-ความชั่วอย่างตื้นๆ และง่ายๆ เกินไป จึงไม่ขุดลงไปถึงก้นบึ้งของความสัมพันธ์เชิงแข่งขันของมนุษย์ จนทำให้เรามองไม่เห็นว่าตัวละครในวรรณกรรมไทยก็ “ซาก๊กนั้ง” เหมือนกัน

แต่จากความประทับใจต่อบุคลิกของผู้คนในประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ณัฐพลแสดงไว้ ก็เกิดคำถามตามมาว่า อุดมการณ์มีบทบาทสักเพียงไรในพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทย ตลอดประวัติศาสตร์ไทย ดูเหมือนมีคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างไม่เสื่อมคลายอยู่คนเดียวคือพันท้ายนรสิงห์ และน่าสนใจด้วยว่า หากเรื่องนี้ไม่ใช่นิทาน เรื่องของพันท้ายฯ ถูกเล่าในหลักฐานไทยให้กลายเป็นความจงรักภักดีต่อบุคคล ไม่ใช่ต่ออุดมการณ์

เพราะหากแปลการกระทำของพันท้ายฯ ให้เป็นอุดมการณ์ ก็จะเป็นว่า พันท้ายฯ ยอมสละชีวิตเพื่อหลักการ Rule of Law และหากหลักของนิติรัฐ นิติธรรมมีความสำคัญในสังคมไทย ก็แปลว่ากฎหมายย่อมอยู่เหนือพระราชอำนาจ

…ยุ่งละสิโว้ย

เช่นเดียวกับตัวละครในประวัติศาสตร์ ขุนศึก, ศักดินา, เสรีนิยม, สังคมนิยม และพญาอินทรี อาจไม่มีความภักดีที่แน่นแฟ้นกับอุดมการณ์ใดนัก พวกเขาพร้อมจะเปลี่ยนข้าง หรือเปลี่ยนหลักการเพื่อทำให้ตัวเป็นฝ่าย “ได้” เสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าค่อนข้างมั่นคงยืนนานที่สุด คือความภักดีต่อบุคคล

ผมเรียกว่าความภักดีอาจผิด เพราะเราวัดความรู้สึกนึกคิดของเขาไม่ได้ เรียกว่า “เกาะกลุ่ม” ที่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้นำจะตรงกว่า กลุ่มภายใต้บุคคลนี่แหละครับ ซึ่งมักอยู่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะผันผวนไปอย่างไรก็ตาม

และเพราะบุคคลมีความสำคัญเป็นแกนกลางของกลุ่มเช่นนี้ บางทีที่เราไปเรียกว่าขุนศึก, ศักดินา, เสรีนิยม, สังคมนิยม ฯลฯ เช่นนี้อาจผิด เพราะในท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองหลังสงครามโลกเป็นต้นมานั้น ไม่มีกลุ่มใดที่มีเอกภาพอย่างแท้จริงสักกลุ่มเดียว กลุ่มขุนศึกเมื่อยึดอำนาจได้ใน 2490 ก็มีความแตกแยกภายในระหว่างกลุ่มซอยราชครูกับกลุ่มของพลตรีกาจ กาจสงคราม ซ้ำยังมีกลุ่มที่ภักดีต่อแนวทางการเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์แทรกอยู่ในกองทัพด้วย

ผลก็คือจาก 2490-2500 มีการปะทะกันของกองกำลังต่างๆ อยู่เสมอมา ภายในกองทัพบกเอง, ระหว่างกองทัพบกกับกองกำลังอื่นๆ ฯลฯ

ซํ้าร้ายหลักฐานที่อาจารย์ณัฐพลยกขึ้นมาให้ดูยังบอกด้วยว่า กองทัพบกก็ไม่ใช่ “สฤษดิ์” ทั้งหมด, กองทัพเรือก็ไม่ใช่ “หลวงสินธุ์” ทั้งหมด, ตำรวจก็ไม่ใช่ “เผ่า” ทั้งหมด, ศักดินาเองก็ประกอบด้วยกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้านายสายต่างๆ ที่ไม่ตรงกัน เพื่อสืบราชสมบัติต่อจาก ร.8 ระหว่างบริพัตร จักรพงษ์ และมหิดล ยังไม่พูดถึงยุคลซึ่งอาจแทรกขึ้นมาในฝ่ายเจ้าบางกลุ่ม, ฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยมเองก็มีความเห็นไม่ตรงกันด้านยุทธวิธี ระหว่างการใช้กำลังเข้าขับไล่คณะรัฐประหาร กับการแทรกเข้าไปทำงานร่วมกับจอมพล ป.เพื่อจับจองพื้นที่ทางการเมืองไว้

แม้แต่อเมริกันในเมืองไทยก็ไม่ได้มีเอกภาพนัก เพราะนโยบายที่ขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานสำคัญสองหน่วยคือ CIA และ JUSMAG Thailand โชคดีที่ระบบบริหารของอเมริกันยอมให้วอชิงตันซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจท้ายสุด จึงทำให้เกิดเอกภาพทางนโยบายขึ้นได้

กลุ่มที่เราเรียกชื่อตามอุดมการณ์นั้น เอาเข้าจริงคือสหภาพพันธมิตรของบุคคลอันหลากหลาย ซึ่งร่วมมือกันหรือขัดแย้งกันภายใต้สถานการณ์หนึ่ง และเปลี่ยนไปสังกัดสหภาพอื่นได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน

ผมคิดว่า 14 ตุลาและอุบัติการณ์นานาชนิดหลังจากนั้นต่างหากที่นำการเมืองเชิงอุดมการณ์มาสู่ประเทศไทย แม้การเมืองเชิงอุดมการณ์ไม่ได้ครอบงำคนไทยทั้งหมด แต่ก็กลายเป็นกระแสหลักมากขึ้นทุกที

ความไม่เป็นเอกภาพของทุกกลุ่มการเมือง ยังแถมมาด้วยผลประโยชน์เฉพาะและจุดอ่อนเฉพาะของทุกกลุ่มด้วย ดังเช่นกรณีสวรรคตอันไม่เคยกระจ่างเลย ก็ทำให้ทุกกลุ่มต้องแบกจุดอ่อนทางการเมืองไว้กับตัวทั้งสิ้น นับตั้งแต่มีส่วนเกี่ยวข้องไปจนถึงสร้างพยานเท็จปรักปรำกัน

ผลประโยชน์ – ทั้งทางวัตถุและอุดมการณ์ – ก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การสร้างพันธมิตรทางการเมืองต้องปรับเปลี่ยนกันตลอดเวลา เช่น ศักดินาเคยร่วมกับกลุ่มปรีดีเพื่อโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วต่อมาก็ย้ายค่ายมาร่วมมือกับคณะรัฐประหารซึ่งมีจอมพล ป.เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อโค่นล้มปรีดี กลุ่มเผ่าที่เคยขจัดพรรคพวกของปรีดีอย่างทารุณโหดร้ายมาก่อน จะเปลี่ยนไปสู่การปูทางให้ปรีดีกลับเข้าประเทศ เพื่อต่อสู้กับกลุ่มศักดินา

พญาอินทรีโฉบเข้ามาในช่วงนี้ ท่ามกลางความสับสนอ่อนแอของกลุ่มการเมืองไทยทุกฝ่าย โฉบเข้ามาด้วยทรัพยากรและสถานะในการเมืองระหว่างประเทศที่เพียบพร้อมกว่าทุกกลุ่มการเมืองด้วย กลายเป็นพลังที่อยู่เหนือ (แปลว่า over ในภาษาอังกฤษ) การเมืองของทุกกลุ่ม ฝ่ายใดได้รับการอุ้มชูจากพญาอินทรี ก็จะมีพลังเหนือกลุ่มอื่น

ด้วยเหตุดังนั้น ไทยจึงอาจเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไร้พลังต่อรองกับนโยบายสงครามเย็นของสหรัฐโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องไปเปรียบกับเวียดนาม, พม่า, กัมพูชา หรืออินโดนีเซียหรอกครับ แม้แต่เปรียบเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นอาณานิคมเก่าของอเมริกันเอง ไทยก็เป็นลูกไล่ซึ่งไม่เคยมีปากเสียงกับลูกพี่สักแอะ

ที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เรียกว่า “ยุคอเมริกัน – American Era” ในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีในประเทศอื่นของภูมิภาคนี้เลย

ที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กลุ่มที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการดึงการอุ้มชูจากสหรัฐคือกลุ่มศักดินา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะก่อน 2500 นโยบายสงครามเย็นของอเมริกันในไทยได้เปลี่ยนไปสู่การใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่นั่นเป็นการมองไทยจากสายตาของพญาอินทรี ถ้ามองจากสายตาไทยกลับไปสู่พญาอินทรีบ้าง ก็จะพบว่า ในบรรดากลุ่มการเมืองทั้งหมดในช่วงนั้น กลุ่มศักดินาเป็นกลุ่มเดียวที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมแองโกล-แซกซอนที่สุด

มองจากสายตาไทยขึ้นไปสู่พญาอินทรีที่โฉบอยู่ข้างบนเช่นกัน รากฐานของการฟื้นอำนาจและเกียรติยศของกลุ่มศักดินาก็เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งนี้เอง คือตั้งแต่ 2490 จนถึงทศวรรษ 2510 อำนาจและเกียรติยศของกลุ่มศักดินาที่ได้ฟื้นฟูขึ้นแล้วนี้แหละ ที่ทำให้ศักดินาไทยเผชิญกับการเคลื่อนไหวของประชาชนสู่ระบอบประชาธิปไตยมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ต้องถอยกลับไปมีสถานะเดิมหลัง 24 มิถุนายน 2475 อีก

เหยื่อชิ้นแรกของพญาอินทรีในเมืองไทยคือประชาธิปไตย

ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ทำให้เกิดความเข้าใจความสลับซับซ้อนของการเมืองไทยในยุคหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จบลงที่หน้าสุดท้ายของหนังสือเท่านั้น ความรู้และความคิดที่ถูกกระตุ้นขึ้นจากหนังสือเล่มนี้ยังช่วยส่องให้เข้าใจการเมืองไทยสืบต่อจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน เหมือนหนังสือประวัติศาสตร์ชั้นดีทั้งหลาย ที่ไม่ได้บอกให้เราเข้าใจอดีตเท่านั้น แต่ส่องแสงสว่างมาถึงปัจจุบันและหนทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้าด้วย