เจาะเทคโนโลยียานยนต์โลก รถขับอัตโนมัติ-คุยกันเองได้?

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

ปัจจุบันเทคโนโลยียานยนต์ของโลก พัฒนาชนิดที่เรียกว่าแทบไม่ต่างจากหนังไซไฟ เพราะหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นหรืออยู่ในขั้นทดลองตอนนี้ อาจจะเคยเห็นในจินตนาการของผู้สร้างภาพยนตร์ในอดีต

ตอนนี้มีรถหลายรุ่นที่เข้าข่ายเป็นรถอัตโนมัติ โดยเฉพาะเวลาจอด เมื่อหลายปีก่อนมียี่ห้อฟอร์ด ที่นำเทคโนโลยีจอดแบบขนาน หรือเทียบข้างฟุตปาธมาใช้ในรถเก๋งรุ่น “โฟกัส” ที่ขายในเมืองไทย

แต่ตอนนี้พัฒนาสามารถถอยจอดได้แล้ว

ขณะที่ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็มีระบบถอยจอดอัตโนมัติเช่นกัน โดยกดปุ่มเดียว-เข้าเกียร์ทีเดียว จากนั้นรถจะทำหน้าที่อัตโนมัติทั้งหมุนพวงมาลัย กดคันเร่ง-เบรกและเข้าเกียร์เอง

รวมทั้งสามารถใช้ระบบนี้หากต้องการขับออกจากที่จอดได้ด้วย

การขับเคลื่อนอัตโนมัติยังพัฒนาไปถึงขั้นสามารถขับ-เบรกตามรถคันหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องมีผู้ขับขี่ ซึ่ง “จีเอ็ม” ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของอเมริกา กำลังพัฒนาและกำลังจะเริ่มนำมาใช้จริง หลังจากได้รับใบอนุญาตจากรัฐเนวาดา และอยู่ระหว่างทดสอบในรัฐแคลิฟอร์เนีย

การพัฒนายานยนต์ไร้คนขับที่เอาจริงเอาจังไม่พ้น “กูเกิล” ที่กำลังขมีขมันเพราะอยากให้เกิดขึ้นจริงๆ เหมือนในหนังไซไฟที่รถไม่ต้องมีคนขับ หรือมีหุ่นยนต์เป็นคนขับ

อย่างไรก็ตาม ระบบเหล่านี้อาจใช้ได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่การขับขี่ค่อนข้างมีวินัยเนื่องจากบทลงโทษรุนแรง

ส่วนในบางประเทศอาจทำได้ยาก เพราะหากตั้งเซ็นเซอร์ทิ้งช่วงจากรถคันหน้ามากเกินไป มีหวังโดนรถเลนข้างๆ แทรกเข้ามาแน่

การขับขี่แบบอัตโนมัติ ยังพัฒนาไปอีกขั้นซึ่งอยู่ระหว่างทดลองระบบ ซึ่งเป็นของค่าย “วอลโว่” ที่สามารถสั่งการผ่านรีโมต หรือโทรศัพท์มือถือ ที่รถสามารถขับไปหาที่จอดได้เอง และยังขับมารับเจ้าของได้ยังจุดที่ต้องการ

เปรียบเสมือนมีคนขับรถประจำตัว

จากปัจจุบันที่เวลาเราไปห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ใดสักแห่ง ต้องไปขับวนหาที่จอด ก่อนเดินมายังอาคาร

แต่ระบบที่วอลโว่กำลังทดสอบ เจ้าของรถสามารถลงจากรถที่หน้าประตูทางเข้าแล้วสั่งการให้รถขับไปหาที่จอดเอาเอง

เมื่อเสร็จธุระก็เดินออกมาหน้าอาคารแล้วกดเรียกให้รถออกจากที่จอดมารับยังจุดที่รออยู่

รถจะมีเซ็นเซอร์สามารถเบรกหากมีคนหรือรถคันอื่นผ่านหน้า รวมทั้งหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดเพื่อมารับเจ้านาย

เป็นไงล่ะครับ…รถในอนาคตฉลาดได้ขนาดนั้น

นอกจากนี้ นับวันรถยนต์ค่อยๆ พัฒนาและฉลาดขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยหลักคือป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ รวมทั้งรถคันอื่นและคนเดินถนนด้วย หรือเรียกว่าระบบ “PRE-SAFE” หรือการป้องกันก่อนเกิดเหตุ

โดยสมัยก่อนรถยนต์จะเน้นแก้ไขหลังเกิดเหตุ เช่น การคิดค้นเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ฯลฯ ซึ่งจะได้ใช้งานก็ต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว

แต่ปัจจุบันทุกค่ายรถพยายามหาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันมากกว่าการแก้ไข

เช่น ระบบเตือนการเบรก หากรถเข้าใกล้วัตถุด้านหน้าจนเซ็นเซอร์จับได้ว่าอันตรายเกินไปแล้วก็จะส่งเสียงเตือน พร้อมชาร์จระบบเบรกไว้ให้พร้อม เพียงแตะเบรกเบาๆ ก็เหมือนเหยียบเบรกเต็มแรง

ก่อนที่จะพัฒนาเป็นระบบ “เบรกอัตโนมัติ” โดยรถจะเบรกให้เราเองหากประเมินแล้วว่าจะชนกับวัตถุด้านหน้า หรือกรณีมีรถ-คน-สิ่งของตัดหน้ากะทันหัน เมื่อเซ็นเซอร์หรือเรดาร์หน้ารถจับความเคลื่อนไหวที่อันตรายนี้ได้ ก็จะเบรกให้ทันที

ระบบป้องกันการขับทับเลน หรือเบี่ยงเลนโดยไม่ตั้งใจ ก่อนหน้านี้จะมีเสียงเตือนให้ผู้ขับขี่รู้สึกตัว แต่ปัจจุบันพัฒนาไปถึงขั้นสามารถดึงพวงมาลัยกลับเข้าเลนได้เองแล้ว ซึ่งจะได้ประโยชน์มากเวลาหลับใน หรือง่วงจนเผลอขับรถออกนอกเลน หรือทำท่าจะลงข้างทาง ระบบนี้จะช่วยป้องกันได้

ล่าสุดพัฒนาไปถึงขั้นการสื่อสารกันเองของรถยนต์ หรือ “Car-to-Car connection” หรือ “Vehicle-to-Vehicle (V2V) Communications”

แต่รถที่จะสื่อสารกันได้ต้องมีระบบเดียวกัน อาจเป็นดาวเทียม จีพีเอส และคอมพิวเตอร์ในรถทำงานร่วมกัน

หลายค่ายก็พัฒนาไปพอสมควรไม่ว่าจะเป็นฟอร์ด วอลโว่ หรืออื่นๆ

ระบบนี้รถยนต์สามารถสื่อสารกันเองได้ เพื่อป้องกันการขับชนกัน ทั้งทางตรงหรือรถออกจากซอย รวมไปถึงแจ้งเตือนในระยะไกล เช่น ห่างไปอีก 2-3 กิโลเมตรเกิดอุบัติเหตุ หรือรถเสีย รถก็จะสื่อสารถึงคันอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ว่าหากผ่านจุดนี้ให้เพิ่มความระมัดระวัง หรือทำงานคู่กับระบบนำทางเพื่อหาเส้นทางเลี่ยงอื่นๆ

เช่นเดียวกับกรณีรถพยาบาลที่ต้องการส่งผู้ป่วยไปถึงมือแพทย์โดยเร็ว รถก็จะส่งสัญญาณไปถึงคันอื่นๆ ให้ช่วยหลบทาง

ระบบ “Car-to-Car connection” หรือ “Vehicle-to-Vehicle” อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งหากในอนาคตรถทุกคันสามารถสื่อสารกันได้ เชื่อว่าอุบัติเหตุคงน้อยลงอย่างมาก

ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีที่เพิ่มความปลอดภัยและสะดวกสบายให้ผู้ขับขี่เท่านั้น แต่หลายค่ายรถกำลังซุ่มพัฒนาไปถึงขั้นดูแลผู้ขับขี่ชนิดละเอียดทุกเม็ด

ทุกวันนี้มีระบบติดตั้งกล้องภายในรถเพื่อจับอาการของผู้ขับขี่ เช่น หากมีอาการเหนื่อยล้า หรือทำท่าจะหลับ รวมไปถึงขับรถส่ายไปส่ายมาบ่อยๆ ระบบจะช่วยเตือนเป็นสัญญาณเสียงหรือสัญญาณภาพบริเวณเรือนไมล์ ที่อาจจะเคยเห็นเป็นรูป “ถ้วยกาแฟ”

นั่นหมายถึงกล้องในรถจับภาพอาการผิดปกติของผู้ขับขี่ จึงเตือนว่าควรจะพักสักหน่อยไหม

แต่ในอนาคตที่หลายค่ายกำลังทดลองอยู่ถึงขั้นจับความรู้สึกเครียดของผู้ขับขี่ โดยอาจเปิดเพลงให้ผ่อนคลาย หรือลดกระจกเพื่อให้ผู้ขับขี่รู้สึกตัวในกรณีมีอาการผิดปกติ เช่น ง่วง หรือทำท่าจะหลับ

รวมไปถึงพัฒนาเบาะนั่งที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ อุหณภูมิของร่างกายซึ่งจะเกี่ยวเนื่องถึงอารมณ์และสุขภาพ เพื่อไปต่อยอดระวังอันตรายขณะขับรถด้วย

ทั้งหมดนั้นคือเทคโนโลยีเพื่อยานยนต์ในอนาคต ที่จะค่อยๆ ทยอยออกมาเพิ่มความปลอดภัยและสะดวกสบายให้ผู้คนบนท้องถนนทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้