ธงทอง จันทรางศุ | หลีกเลี่ยง เอา (ขวด) น้ำใส่บาตร

ธงทอง จันทรางศุ

ข้อเขียนวันนี้ออกจะแปลกอยู่สักหน่อย

ไม่ใช่แปลกในทางเนื้อหานะครับ

หากแต่ว่าแปลกไปในทางสถานที่นั่งเขียน

เพราะว่านั่งเขียนอยู่ที่ประตูบ้านของเพื่อนบ้าน ระหว่างนั่งรอพระมาบิณฑบาต

เรื่องคือว่าบ้านของผมนั้นอยู่ในซอยที่หักเลี้ยวเข้าไปลึกอยู่สักหน่อย จึงไม่อยู่ในเส้นทางที่พระภิกษุผู้เดินบิณฑบาตเป็นประจำในเส้นทางละแวกนี้จะเลี้ยวเข้าไปรับบิณฑบาตจนถึงหน้าบ้านของผม

วันใดที่นึกอยากจะใส่บาตร ผมก็ต้องเตรียมข้าวของให้พร้อมเพรียงและเดินมานั่งคอยอยู่ที่หน้าบ้านของเพื่อนรุ่นน้องซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก เพื่อรอเวลาที่พระท่านจะมารับบาตร

ด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ ผมจึงไม่มีโอกาสได้ใส่บาตรเป็นประจำทุกวัน จะสะดวกกว่าวันปกติก็ต้องเป็นวันเสาร์-อาทิตย์เพราะไม่ต้องรีบร้อนเดินทางไปไหน

ชีวิตหลังเกษียณที่ยังต้องประชุมบ้าง สอนหนังสือบ้าง ทำให้ต้องออกจากบ้านทุกวันก่อนที่การจราจรนอกบ้านจะเป็นจลาจล

จะมียกเว้นก็แต่วันนี้ซึ่งเป็นวันจันทร์ นัดหมายประชุมวันนี้เริ่มต้นที่ 10 โมงเช้า เดินทางออกจากบ้านตอน 9 โมงก็มีเวลาถมเถไป

จึงมานั่งรอใส่บาตรอยู่อย่างนี้แหละครับ

การใส่บาตรนั้นเป็นบุญกุศลที่คนไทยคุ้นเคยกันมาแต่อ้อนแต่ออก และเป็นการทำบุญที่พระภิกษุผู้เป็นเนื้อนาบุญเมตตาเดินมาจนถึงหน้าบ้านของเราเลยทีเดียว

เมื่อครั้งที่ผมมีบ้านพักอาศัยอยู่ในย่านถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 40 หรือซอยบ้านกล้วยใต้ พระภิกษุที่มารับบิณฑบาตเป็นประจำท่านเดินมาจากวัดสะพานซึ่งอยู่ห่างจากบ้านผมพอสมควร แต่ท่านก็เมตตาเดินมารับบาตรทุกวันเป็นประจำ

ทำให้ครอบครัวผมมีโอกาสทำบุญสม่ำเสมอเป็นประจำ

แม่ซึ่งเป็นผู้บัญชาการสรรพสิ่งทั้งหลายในบ้านดูแลให้มีการใส่บาตรเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยก็ต้องมีข้าวสวยหุงสุกใหม่ร้อนๆ ใส่ในถ้วยกระเบื้องที่แม่เรียกว่าถ้วยลายผักชีหนึ่งใบ พร้อมกับข้าวอีกหนึ่งอย่าง

ถ้าวันใดเป็นวันพิเศษของครอบครัว เช่น วันเกิดของใครก็ตาม หรือเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของคุณตาคุณยายหรือคุณปู่คุณย่า ของใส่บาตรก็จะมีพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น มีของหวาน ผลไม้ และดอกไม้ธูปเทียน

ผมสังเกตเห็นว่าในระยะหลังนี้ มีความนิยมของพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่จัดหาน้ำดื่มใส่บาตรด้วย

ถ้าจำไม่ผิดเรื่องนี้มีที่มาเนื่องมาจากนิตยสารเล่มหนึ่ง เมื่อราว 30 ปีมาแล้ว ได้เคยลงบทสัมภาษณ์ใครสักคนหนึ่งซึ่งเล่าว่า ตนเองใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่พ่อ-แม่เป็นประจำ ปรากฏว่าคุณพ่อคุณแม่มาเข้าฝันแจ้งข่าวว่าของที่ใส่บาตรไปให้นั้นได้รับแล้วทุกรายการ ขาดแต่น้ำดื่ม จึงต้องกินข้าวกินปลาโดยคอแห้งอยู่อย่างนั้น

ตั้งแต่นั้นมาผู้คนทั้งหลายเวลาใส่บาตรก็ต้องหาน้ำถวายพระที่บิณฑบาตด้วย เพื่อผู้ได้รับผลอุทิศจะได้มีน้ำดื่มคล่องคอ

บังเอิญก็ให้น้ำสมัยนี้สะดวกสบายเพราะอยู่ในขวดสวยงามเรียบร้อยพกพาง่ายเสียด้วย

ถ้าเป็นสมัยก่อนเมื่อสักร้อยปีมาแล้ว ต่อให้นึกอยากเอาน้ำฝนที่รองมาจากชายคาเรือนแล้วเก็บไว้ในตุ่มที่บ้านใส่บาตร เจ้าตัวเองก็ต้องจนปัญญาจนแต้ม เพราะไม่รู้จะเอาภาชนะที่ไหนมาใส่น้ำถวายพระได้

อย่าลืมนะครับว่า เมื่อ 100 ปีก่อนถุงพลาสติกยังไม่มี น้ำที่ใส่ขวดขายก็ยังไม่ปรากฏ ใจคอจะตักน้ำใส่ขันแล้วถวายพระ ให้พระถือบาตรมือหนึ่ง ถือขันมือหนึ่งไปอย่างไรได้

ปู่-ย่า ตา-ทวดของเราเวลาใส่บาตรจึงไม่เคยคิดถึงเรื่องการใส่น้ำไปในบาตรในย่ามของพระเลยเป็นอันขาด

อีกประการหนึ่ง น้ำสำหรับบริโภคก็มิได้ขาดแคลน ถ้าไม่ได้เกิดทุพภิกขภัยขึ้น โดยปกติวิสัยแล้วน้ำฝนน้ำท่าในบ้านเราก็เพียงพอใช้สอยและมีอยู่ทั่วไป

เพิ่งจะมามียุคหลังนี้เองครับที่เอาน้ำขวดใส่บาตรกันเป็นที่ครึกครื้น

เมื่อปีพุทธศักราช 2538 ผมจัดตารางชีวิตให้ตัวเองสามารถบวชได้เต็มหนึ่งพรรษา

บวชคราวนั้นอยู่ที่วัดโสมนัสวิหาร ริมคลองผดุงกรุงเกษมนี่เอง เวลาอรุณรุ่งแล้ว ตามพระวินัยบัญญัติว่าเห็นลายมือของตัวเองได้ถนัดชัดเจนก็เป็นเวลาที่จะเริ่มเดินออกบิณฑบาตได้

เส้นทางเดินของผมไม่ไกลหรอกครับ เดินลัดเลาะออกไปถึงถนนนครสวรรค์ในย่านตลาดนางเลิ้ง ละแวกบ้านย่านนี้ศรัทธายังพร้อมเพรียงบริบูรณ์ เดินบิณฑบาตไม่เกิน 20 นาทีก็ได้ของเต็มบาตรแล้วครับ

เวลาเดินบิณฑบาตผมไปเดินคนเดียว ไม่มีลูกศิษย์ตามหลังไปด้วย สิ่งที่หวาดกลัวอยู่ในใจมากที่สุด คือกลัวญาติโยมถวายน้ำใส่บาตรมาด้วย นึกในใจว่าถ้าเขาถวายน้ำอัดลมขวดลิตรมาเพียงหนึ่งขวด

กว่าจะเดินกลับถึงกุฏิได้อาตมาเห็นจะมรณภาพเสียก่อนกระมัง

แต่ในชีวิตจริงของความเป็นพระ เวลาเดินรับบาตรนี้เราเลือกไม่ได้นะครับ เช่น บ้านนี้กับข้าวไม่อร่อยเลยทำมองไม่เห็นเสียอย่างนั้น แบบนี้บาปกรรมเต็มที

การบิณฑบาตนี้ตามแนวความคิดอย่างของไทยตามหลักพระพุทธศาสนาคือการเดินโปรดญาติโยมให้ได้มีโอกาสทำบุญกุศล ญาติโยมทุกคนมีฐานะเสมอกันหมด จะไปเลือกยากดีมีจนไม่ได้

ที่ผู้คนเขายกมือไหว้และเตรียมอาหารอย่างประณีตตามกำลังสติปัญญาของเขาเพื่อใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์เวลาเช้า เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ

ข้างฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ก็ต้องวางตนอยู่ในฐานะสมควรแก่การที่เขาจะกราบไหว้นั้นด้วย

อย่างว่าล่ะครับ พระที่มารับบาตรท่านจะเกี่ยงงอนว่ารับนี่ไม่รับโน่นก็ลำบาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องน้ำขวดซึ่งหนักหนาสาหัสอยู่ เพราะการเดินถือบาตรถืออาหารที่ญาติโยมใส่บาตรถวายมาตามปกติ น้ำหนักก็ไม่ใช่เล่นแล้ว แถมน้ำไปอีกสองสามขวดก็เปลืองทั้งเนื้อที่และหนักทั้งน้ำหนัก

พระไม่ใช่นักกล้ามที่ต้องยกขวดน้ำขึ้นลงเป็นการออกกำลังทุกเช้า

จึงเป็นหน้าที่ญาติโยมอย่างผมนี่แหละที่จะต้องมากระซิบไว้ในที่นี้ เพื่อขอให้ช่วยกันกระซิบบอกต่อกัน ว่าถ้ามีศรัทธาจะถวายน้ำดื่มสำหรับพระภิกษุสงฆ์แล้ว จะเป็นการเอื้อเฟื้ออย่างยิ่งถ้านำไปถวายจนถึงกุฏิของท่านหรือที่วัด

ช่วยกันหลีกเลี่ยงการเอาน้ำใส่บาตรจะดีไหม

เรื่องความเชื่อของผู้คนนี้ห้ามกันลำบากนะครับ ผมเองก็ไม่สามารถมีข้อพิสูจน์ชัดเจนได้ว่าของที่ใส่บาตรและเรากรวดน้ำอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เอาเข้าจริงผู้ล่วงลับจะได้รับประทานอาหารครบชุดครบจำนวนแบบนั้นหรือไม่ ข้อนี้ผมจะไม่ทำร้ายและทำลายศรัทธาของญาติมิตรทั้งหลายครับ

เพียงแต่อยากจะบอกว่า ในทัศนะของผมแล้ว บุญกุศลอาจจะไม่ได้ตรงไปตรงมาเป็นเดลิเวอรี่เช่นนั้น ประมาณว่าทอดปลาทูใส่บาตรแล้ว ผู้รับผลอุทิศที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับประทานปลาทูตัวเดียวกันอย่างแน่นอน อารมณ์ประมาณเหมือนใช้บริการไปรษณีย์ไทยนั่นเลยทีเดียว

ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริง ผมก็ไม่ขัดข้อง

แต่ถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพียงใจต่อใจถึงกัน คนที่เป็นที่รักของผมและล่วงลับไปแล้วหากสามารถอย่างรู้ด้วยญาณอย่างใดก็ตามว่าผมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ แค่นี้ผมก็เชื่อว่าท่านจะมีความสุขแล้วครับ

ทางฝ่ายผมก็เหมือนกัน ความสุขเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มคิดจะใส่บาตรแล้ว และความสุขนี้ก็ยืนยาวไปจนถึงเวลาที่ได้ใส่บาตรจริง เวลากรวดน้ำ หรือแม้แต่ภายหลังเมื่อใจหวนไปคิดว่าได้ทำบุญตักบาตรเมื่อนั้นเมื่อนี้ ความปีติก็เกิดขึ้นเสมอไป

บุญกุศลตามความรู้ของผมเป็นเรื่องไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมาอย่างนี้นี่เอง

เขียนมาได้ถึงตรงนี้ สายตาก็มองเห็นพระที่จะมารับบาตรเดินเข้าซอยมาแล้ว

ใส่บาตรด้วยกันและร่วมอนุโมทนานะครับ