วงค์ ตาวัน | ฆ่า 6 ตุลาฯ ก็หยุดนักศึกษาไม่ได้

วงค์ ตาวัน

ความสนใจต่อประวัติศาสตร์เหตุการณ์เดือนตุลาคมทั้งปี 2516 และปี 2519 เพิ่มขึ้นอย่างสูงมาก ในท่ามกลางงานรำลึกที่ธรรมศาสตร์ในปี 2563 นี้ ด้วยเป็นประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาอันทรงพลัง ที่เคยโค่นล้มกลุ่มอำนาจทหารเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะถูกปราบปรามสังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

แล้วในปี 2563 นี้ ขบวนการนักเรียน-นักศึกษา ได้ฟื้นกลับมาอย่างเต็มตัวอีกครั้ง

“จึงนับเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกันของคนหนุ่ม-สาวเมื่อกว่า 40 ปีก่อนมาจนถึงวันนี้”

ส่วนหนึ่ง คนรุ่นปัจจุบันสนใจเรียนรู้การต่อสู้ของนักศึกษาเมื่อปี 2516 และการถูกกวาดล้างในปี 2519 เพื่อศึกษาจิตใจความคิดอุดมการณ์ของคนรุ่นพี่

รวมทั้งค้นหาคำตอบว่า ใครคือศัตรูผู้สั่งฆ่านักศึกษา-ประชาชน

โดยเฉพาะขบวนการฝ่ายขวาที่ล้อมฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 นั้น มีใครบ้างที่มีบทบาทในระดับต่างๆ กลุ่มอำนาจอนุรักษนิยมล้าหลังนั้น มีเครือข่ายกว้างใหญ่เช่นไร

“ยิ่งได้เห็นภาพการต่อสู้ที่ยังคงสัมพันธ์กันต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปี 2519 และจนถึงปัจจุบัน จนทำให้เกิดข้อสรุปว่า ถ้าจะต่อสู้เพื่อผลักดันให้สังคมไทยก้าวรุดไปข้างหน้า ให้หลุดพ้นจากสภาพที่ถูกฉุดให้ล้าหลังเช่นนี้ จะต้องพุ่งเป้าไปที่ไหน”

แม้ว่าสังคมไทยจะแปรเปลี่ยนไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงปี 2516 ช่วงปี 2519 แล้วเทียบเคียงกับปัจจุบัน

แต่ปัญหาของบ้านเมืองก็ยังไม่พ้นการถูกกลุ่มอำนาจเดิมๆ ขุนศึกขุนนาง พยายามควบคุมครอบครองเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

เพียงแต่ว่า การตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ของนักเรียน-นักศึกษาปัจจุบัน เมื่อรวมกับยุคที่ข้อมูลแผ่กว้างในโซเชียลในออนไลน์ จนยากที่ฝ่ายอำนาจเก่าจะควบคุมปิดกั้นได้ ทำให้ความรับรู้ในข้อเท็จจริงในหมู่ประชาชนเป็นไปอย่างกว้างขวางมาก

ทำให้เป็นที่จับตามองอย่างมากว่า ตุลาคม 2563 นี้จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่

ขบวนการนักเรียน-นักศึกษาในยุคนี้ จะทำให้เดือนตุลาคมนี้มีพลังยิ่งใหญ่เช่นปี 2516 หรือไม่!?

กล่าวกันว่า ผู้คนที่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ คงใฝ่ฝันความเคลื่อนไหวอย่างเช่น 14 ตุลาคม 2516 ที่พลังนักศึกษา-ประชาชนต่อสู้จนได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ เบิกม่านประชาธิปไตยในสังคมไทยได้

แต่เมื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันกวาดล้างปราบปราม

ก็อดสงสัยกันไม่ได้ว่า กลุ่มอำนาจเดิมยังมีความคิดที่จะนำปฏิบัติการแบบ 6 ตุลาคม 2519 กลับมาใช้อีกหรือไม่

จะว่าไปแล้ว การเรียนรู้บทเรียนจาก 6 ตุลาฯ นั้น ฝ่ายผู้มีอำนาจเองก็ควรต้องศึกษาทบทวนให้ดีด้วย

“เอาเข้าจริงๆ แล้ว มีอะไรตามมา หลังก่อเหตุนองเลือดเมื่อปี 2519!?!”

อันดับแรก ทันทีที่ก่อเหตุสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม คงคาดหวังว่าจะสร้างความหวาดกลัวอย่างสุดขีด เพื่อให้เลิกคิดเลิกต่อสู้กันอีกต่อไป

ที่ไหนได้ เมื่อปิดหนทางต่อสู้อย่างสันติวิธีในเมือง ก็คือการผลักให้ปัญญาชนคนหนุ่ม-สาวเปลี่ยนเวทีไปสู่ป่า ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในทันที

ปลุกให้ขบวนการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายในป่าคึกคักขยายตัว

สื่อมวลชนตะวันตกแห่กันมารายงานข่าวการเข้าไปใช้ชีวิตในป่าของปัญญาชนไทย และภาพการเติบโตของฝ่ายทหารป่า

“ยิ่งเขย่ารัฐบาลไทยและกองทัพไทยให้สั่นไหว!”

พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเริ่มต่อสู้ด้วยอาวุธในปี 2508 ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในชนบทเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะปัญหาความยากจน การขูดรีด และการใช้อำนาจของผู้ปกครองและกลไกทหาร

เมื่อเกิด 6 ตุลาคม 2519 เป็นการเพิ่มพลังปัญญาชนเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ นำชนชั้นกลางหัวกะทิเข้าไปเสริม

สงครามสู้รบยิ่งขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ จนรุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวง

จากภาคใต้ขึ้นมาถึงอำเภอปากท่อ ราชบุรี จากเหนือ อีสาน เข้ามาจ่อที่อำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี

“เหลืออีกร้อยกิโลเมตรเศษก็จะเข้า กทม.แล้ว”

ยังโชคดีที่สถานการณ์คลี่คลายลงได้จาก 2 ส่วน คือ ความแตกแยกในโลกคอมมิวนิสต์ สร้างความระส่ำระสายในป่า แล้วกองทัพไทยในยุคมีนายทหารมันสมองผลักดันแนวทางการเมืองนำการทหาร ใช้สันติวิธีนำการปราบปราม

จึงยุติสงครามได้สำเร็จในปี 2523 หวุดหวิดที่ไฟสงครามจะเข้ามาถึงใจกลางอำนาจรัฐ

แต่ถ้าเรียนรู้ให้ดี นี่คือผลพวงส่วนหนึ่งของความผิดพลาดในการตัดสินใจปราบปรามเหี้ยมโหดเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นั่นเอง!

เพราะความหวาดผวาของฝ่ายผู้มีอำนาจ หลังจากขบวนการนักศึกษา-ประชาชนได้รับชัยชนะเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จากนั้นนักศึกษายังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เป็นองค์กรในการนำประชาชนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในทุกปัญหาสังคม

ความหวาดผวาของกลุ่มอำนาจเก่าต่อการเติบโตของขบวนการคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น ทำให้เกิดความคิดใช้อำนาจเถื่อนเข้าจัดการ หวังหยุดยั้งการขยายตัวเติบโตให้ได้

จึงเกิดปฏิบัติการขวาพิฆาตซ้าย ลอบฆ่าลอบสังหารผู้นำนักศึกษาหลายราย ในช่วงปี 2517 และ 2518

ก่อนจะกลายเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อล้อมฆ่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

“แต่ที่คิดว่าจะเป็นการปิดฉากขบวนการนักศึกษา กลับกลายเป็นการผลักให้เปลี่ยนพื้นที่ต่อสู้และเปลี่ยนแนวทาง ไปร่วมจับอาวุธสู้”

ถ้าไม่มีความแตกแยกในโลกสังคมนิยม ถ้าไม่มีนโยบาย 66/2523 จากกองทัพในยุคนั้น

ยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการเมืองการปกครองในประเทศไทย

แต่เป็นบทเรียนให้รู้ว่า การฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม ไม่สามารถหยุดคนที่คิดจะผลักดันสังคมเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าได้

นักศึกษายุคนั้นก็ไปเข้าป่า

นักศึกษารุ่นต่อๆ มาก็ยังเคลื่อนไหวเรียกหาเสรีภาพประชาธิปไตยไม่เคยสิ้นสุด

“จนกลายเป็นขบวนการเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขบวนการปลดแอกในวันนี้!”

ถ้าทุกฝ่ายเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์การต่อสู้และการนองเลือดที่ผ่านๆ มา

ไม่แค่ฝ่ายประชาชนเท่านั้นที่ศึกษาเรียนรู้กันมาตลอด แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจควรต้องเรียนรู้เพื่อทบทวนตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้การเมืองการปกครองในบ้านเราวนอยู่ในอ่าง และสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อกันไม่สิ้นสุด

หลายประเทศที่ผ่านยุคความขัดแย้งการเมืองรุนแรง ผ่านสงครามกลางเมืองมาแล้ว

“มีทางออกสุดท้ายเหมือนๆ กันคือระบอบประชาธิปไตย ให้อำนาจการเมืองอยู่ในมือประชาชน ใช้เสียงคนส่วนใหญ่ตัดสินชี้ขาดอย่างแท้จริง เป็นทางออกที่กระจายผลประโยชน์ได้ดี สงบสันติที่สุด”

จะเป็นฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายขวา ก็มีโอกาสเข้าสู่อำนาจได้ ถ้าสามารถครองใจประชาชนคนเลือกตั้งได้ โดยมีวาระผลัดเปลี่ยนชัดเจน 4 ปีหน

แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในวันนี้ ที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งเอื้อเฉพาะคนกลุ่มเดียว ทำให้เสียง 250 ส.ว.จากการแต่งตั้ง กำหนดตัวนายกฯ ได้ เหนือกว่าเสียงของประชาชนที่ไปเลือกตั้งหลายล้านเสียง

ต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมาตรฐานสากล ยุติกลไกต่างๆ องค์กรอิสระต่างๆ ที่สร้างความไม่เป็นธรรมทางการเมือง

“จึงจะเป็นทางออกของประเทศที่สงบสันติ”

เพราะถ้ายังกอดอำนาจไว้ไม่ยอมคาย หวังจะใช้อำนาจปราบปรามเพื่อกดฝ่ายอื่นเอาไว้ ไม่มีทางยุติปัญหาได้

ทำขนาด 6 ตุลาฯ กันมาแล้ว ก็ให้บทเรียนชัดเจนแล้ว ยิ่งลุกลามรุนแรงไปกันใหญ่!