คุยกับทูต / ‘ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี’ สิ่งไหนอันตราย : แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม JCPOA หรือการจัดระเบียบโลกหลัง WWII

“ปัจจุบัน สื่อต่างประเทศกล่าวถึงประเด็นร้อนสำคัญๆ หลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโควิด-19 ซึ่งใกล้จะครบรอบหนึ่งปีในอีกไม่ช้านี้ และเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้ความสำคัญแก่ชีวิตคนผิวดำ (Black Lives Matter: BLM) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากลัวของการฟื้นฟูกฎหมายจิมโครว์ (Jim Crow Laws) รวมถึงเรื่องของความพยายามอย่างไม่ลดละของสหรัฐ ที่จะทำลายกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติและประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) ซึ่งมารับหน้าที่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงเหตุผลว่า เหตุใดคณะผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาจึงพยายามทำอันตรายต่อระบบความมั่นคงที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นับเป็นจุดยืนที่แปลกประหลาดของสหรัฐอเมริกาในการไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่มีการวางโครงสร้างมาอย่างดี รวมถึงหลักการปฏิบัติที่กระทำกันมาเพื่อปกป้องโลกจากความโกลาหลและการกระทำโดยมิชอบ

แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) เป็นความตกลงระหว่างประเทศต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งบรรลุในกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.2015 ระหว่างประเทศอิหร่าน พี 5+1 (สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติห้าประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ บวกเยอรมนี) และสหภาพยุโรป

ส่วนจิมโครว์ (Jim Crow) เป็นชื่อกฎหมายในมลรัฐทางตอนใต้ของประเทศในช่วงปี 1877 จนถึงช่วงกลางยุค 1960 ใจความสำคัญคือ เพื่อแบ่งแยกที่ทางและรับรองการปฏิบัติที่ต่างกันระหว่างคนขาว-คนดำ

“สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านต้องการชี้ให้เห็นว่า คำอธิบายของสหรัฐอเมริกาที่ว่า จะกลับไปใช้กลไก “snapback” บทลงโทษขององค์การสหประชาชาติในการคว่ำบาตรระลอกใหม่ต่ออิหร่านนั้น เป็นการกระทำที่ไม่มีความน่าเชื่อถือและมิชอบด้วยกฎหมาย”

ท่านทูตอิหร่านโนบัคตีกล่าวย้ำ โดยชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวว่า

 

1.การยุติการมีส่วนร่วมของสหรัฐอเมริกาในแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) :

– การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาจากแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมและดำเนินการลงโทษประเทศอิหร่าน (Unilateral Sanctions) อีกทั้งยังเพิ่มมาตรการการลงโทษให้รุนแรงขึ้นเป็นการกระทำที่ผิดต่อมติ UNSCR 2231 ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมแล้ว และไม่มีสิทธิดำเนินการภายใต้ มติ UNSCR 2231

– ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่า “ผม โดนัลด์ เจ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินใจแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 2018 ว่า มีความประสงค์ให้ประเทศสหรัฐอเมริกายุติการมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมที่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมปี 2015”

– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ไมก์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) ยังได้ประกาศอีกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ยุติการมีส่วนร่วมทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาในแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม

– ซึ่งหลังจากมติ UNSCR 2231 ได้ถูกนำมาใช้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดบทลงโทษประเทศอิหร่านกว่า 145 บทลงโทษ นอกจากนั้น ยังไม่เคยเข้าร่วมการประชุมหรือกิจกรรมใดๆ ของทางแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมตั้งแต่การประกาศถอนตัวเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 2018

– กฎข้อตกลงพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นก็คือ ประเทศใดที่ไม่ทำหน้าที่ของตนตามข้อตกลง จะไม่ถูกยอมรับให้มีสิทธิเสมอภาคกับประเทศอื่น

 

2.มูลเหตุทางกฎหมายสำหรับกลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้มติ UNSCR 2231 และแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) :

– การแจ้งเตือนภายใต้มติ UNSCR 2231 ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลการและไม่ถือว่าเป็นการกระทำตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่เป็นส่วนสำคัญของขั้นตอนในการระงับข้อพิพาท ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อคุณสมบัติและเงื่อนไขมากมาย ประเทศผู้เข้าร่วมแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม – ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าร่วม – มีหน้าที่ในการส่งการแจ้งเตือนต่างๆ ภายใต้ย่อหน้า 11 ของมติ UNSCR 2231 พร้อมด้วย “คำอธิบายถึงเจตนาที่ดีที่ประเทศผู้เข้าร่วมได้ดำเนินการทุกอย่างที่สามารถทำได้ตามขั้นตอนในการระงับข้อพิพาท” ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่แม้แต่ที่จะพยายามดำเนินการทุกอย่างที่สามารถทำได้ตามขั้นตอนในการระงับข้อพิพาท เรื่องมีเจตนาที่ดีนี้ลืมไปได้เลย

– การที่สหรัฐอเมริกาบังคับใช้บทลงโทษกับอิหร่านเป็นการแสดงให้เห็นถึง “ความไม่ปรารถนาดี” ซึ่งเป็นการทำผิดกฎแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม มติ UNSCR 2231 และผิดคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในบริบทนี้ควรกล่าวถึงข้อกำหนดของ “เจตนาที่ดี” ที่นำมาใช้กับการชี้แจงข้อมติ UNSCR 2231 และได้รับการสนับสนุนโดยกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 (2)

– สหรัฐอเมริกาได้ทำผิดกฎโดยการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ภายใต้มติ UNSCR 2231 และกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 25 โดยการดำเนินการบังคับใช้บทลงโทษโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นแบบอย่างที่อันตรายและจะต้องได้รับการปฏิเสธจากสภาและสมาชิก การอ้างอิงถึงวรรคที่ 10 ของมติ UNSCR 2231 โดยไม่คำนึงถึงบริบทและจุดประสงค์จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดี

– กระบวนการไม่ได้เป็นรูปแบบดำเนินการด้วยตนเอง อีกทั้งยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะวรรค 36 และ 37 ของแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม ซึ่งได้รับการรับรองโดยมติ UNSCR 2231 และวรรค 10-13 ของมติ UNSCR 2231 ความพยายามโดยมิชอบด้วยกฎหมายของสหรัฐอเมริกาในการใช้กลไกการระงับข้อพิพาทในทางที่ผิด เพื่อทำลายมติ UNSCR 2231 และแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม

ซึ่งการกระทำนี้มีผลกระทบในทางลบต่อความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

การตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในการถอนตัวออกจากแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) ไม่ได้เกิดจากการละเมิดพันธกรณีของอิหร่านภายใต้ JCPOA แม้ว่าอิหร่านจะปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างสมบูรณ์ ดังที่ระบุไว้ในรายงาน 15 ฉบับ ของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่ได้ทำการรายงานไว้นับจากวันที่สรุปผลของแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมจนถึงวันที่สหรัฐถอนตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เห็นได้ชัดว่าแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นสันติภาพระหว่างประเทศต่างหากที่ถูกโจมตีโดยประเทศสหรัฐอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้น คณะผู้นำหัวรั้นของสหรัฐอเมริกาได้เพิกเฉยต่อหลากหลายมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รวมถึงข้อห้ามในการลงโทษทางเศรษฐกิจโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ บางคนอาจพูดได้ว่า สหรัฐอเมริกาพยายามทำให้องค์กรระหว่างประเทศมีอำนาจและบทบาทลดลง

ประเทศต่างๆ และประชาคมโลกควรระวัง และจับตาดูการใช้อำนาจสหประชาชาติในทางที่ผิด รวมถึงความเอกภาคนิยมอย่างป่าเถื่อนของสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไม่มีผู้ใดลืม “พฤติกรรมของโจรสลัดสมัยใหม่” (Modern Piracy) ของสหรัฐอเมริกาในช่วงที่โรค COVID-19 ระบาดเป็นแน่

หลักสำคัญของแนวคิดแบบพหุภาคี คือการเคารพสิทธิของกันและกันโดยไม่มีข้อยกเว้น และหลักนิติธรรมจะต้องไม่ถูกทำลาย

ท้ายสุด ท่านทูตซัยยิด เรซ่า โนบัคตี สรุปว่า

“อิหร่านในฐานะประเทศที่มีอิทธิพลในตะวันออกกลางเชื่อว่า สันติภาพและเสถียรภาพควรเป็นประเด็นหลักของทุกประเทศ การคว่ำบาตรและการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกา และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ อาจเป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลกและความสำเร็จของมนุษยชาติ”