สถานีคิดเลขที่ 12 สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร/ปัง-ปุริเย่ ไม่ใช่ ปัง-ปืน

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

——————————

ปัง-ปุริเย่ ไม่ใช่ ปัง-ปืน

————————

ก่อนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2563

ที่กลุ่มมวลชนต่างๆในนาม คณะราษฎร จะชุมนุมที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี

2. เปิดประชุมวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับ

3. ปฏิรูปสถาบัน ให้กลับมาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตย

คงต้องรอดูว่าจะ “ปังปุริเย่” (อันมีความหมายตามที่คนรุ่นใหม่ ให้นิยามว่า “เป็นอะไรที่มากกว่าสุดปังมันเริ่ด มันอลังมาก แบบมากกกกกจริง ๆ)หรือไม่

ซึ่งคาดหวัง”ในทางดี”ว่าจะเป็นเช่นนั้น

ไม่ใช่เหลือเพียงแค่ “ปัง”

“ปัง” อันหมายถึงเสียงปืน

หรือ สัญญลักษณ์ของความรุนแรงในทุกรูปแบบ

เพราะนั่นย่อม ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์ ที่จะให้เกิดขึ้น

ดังที่เคยเกิดขึ้น เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดํารัสผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อเวลา 19.15 น. ความตอนหนึ่งว่า

“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บ ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจล มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิต…”

14 ตุลาคม 2563 ไม่ควรเกิด มหาวิปโยค ขึ้นมา ไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม

เพราะบัดนี้ 47 ปีผ่านไปแล้ว แผลเป็นก็ยังคงดำรงอยู่

แม้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) จะพยายามปลอบประโลม ด้วยการให้ความหมายในเชิงบวก วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ว่า วันมหาปิติ ก็ตาม

แต่ ความรุนแรง ก็ยังเป็นด้านมืด ของเหตุการณ์นั้นอยู่

ทั้งนี้”วันมหาปีติ” นั้น ปรากฏขึ้น เมื่อ อมธ.ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยตอนนั้น

ได้จัดทำหนังสือ บันทึกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 5-15 ตุลาคม 2516

โดยต้องการให้เป็นหนังสือ ที่รายงานข้อเท็จจริง ในเหตุการณ์ที่ตรงกับความเป็นจริง ให้มากที่สุด

ผ่านปากคำผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รวมถึงภาพถ่ายต่างๆ

โดยให้ชื่อ หนังสือ “วันมหาปีตี”

ทั้งนี้ ได้มีการระบุในคำนำ บางส่วน ว่า

“…14 ตุลาคม 2516 วันที่เราได้สูญเสียชีวิตของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน นักต่อสู้ วีรชนผู้มีค่ายิ่ง เป็นจำนวนมาก

…มันเป็นความวิปโยค โศกเศร้าอย่างยิ่ง

แต่หลังจากนั้น ความสำนึกทางการเมืองได้แล่นเข้าสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว

สำนึกในการต่อสู้ได้แพร่สะพัด

ความรักชาติ ได้แทรกซึมไปในสายเลือด

ความจริงได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นชัดเจนว่า ประชาชนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์

…14 ตุลาคม 2516 วันมหาปีติของประชาชน

ที่จะต่อสู้กับความเลวร้ายที่เหลืออยู่ รากเหง้าของความชั่วที่ยังฝังรากลึกอยู่

มีเรื่องจะต้องต่อสู้อีกมากและใช้เวลานาน จนกว่าจะได้ประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง

วันที่ประชาชนได้ลืมตาอ้าปากกันอย่างล้วนทั่ว

ร่าเริงในการต่อสู้ มีความหวังและเชื่อมั่นในกำลังของประชาชน…”

14 ตุลาคม นอกเหนือจากวันมหาวิปโยค ยังเป็น วัน มหาปีติ ด้วยประการฉะนี้

และคำว่า “ปีติ”นี้ ก็อยากให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากการชุมนุม ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้ด้วย

ไม่ใช่ วิปโยค

หรือไม่ใช่ ปัง-ปืน

แต่ถ้า ปัง ก็ขอเป็น ปังปุริเย่

วันแห่งความปีตี สมกับที่คณะรัฐมนตรี เคยมีมติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ยกให้วันนี้

เป็น วัน “14 ตุลา ประชาธิปไตย” โดยแท้จริง