วิเคราะห์การเมืองร้อน | ตุลา ระวัง ปังปุริเย่

เปิดเผยออกมามากขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับการนัดชุมนุมอีกครั้ง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563

ก่อนหน้านี้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า

“…พอแล้วกับรัฐบาลที่ตั้งพวกของตัวเองมาช่วยสืบทอดอำนาจ ให้ตัวเองได้กอบโกยผลประโยชน์บนความทุกเข็ญของประชาชน

พอแล้วกับรัฐบาลที่ขวางทางแก้กฎหมายสูงสุดของบ้านเมือง ขวางทางของประชาชนในการไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

DRG ขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ผู้อยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่า ต้องการให้อนาคตของประชาชนมองเห็นแสงสว่าง ไม่อาจทานทนกับสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เอื้อพวกพ้อง ทุนผูกขาด

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนา แรงงาน พนักงานออฟฟิศ LGBT ออกมายืนยันร่วมกันว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 14:00 น. เป็นต้นไป พร้อมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

นี่ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการเคลื่อนไหวของราษฎรทุกคน เพราะเราทุกคนล้วนเป็น #คณะราษฎร…”

ประสานกับเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration ที่โพสต์ข้อความว่า “ประกาศจากคณะราษฎร วันที่ 14 ตุลาคม 2563 บ่ายสองโมงเป็นต้นไป นัดรวมพลกันที่ถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“เพราะเราทุกคนคือคณะราษฎร และคณะราษฎรยังไม่ตาย””

ขณะที่เพจเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ระบุว่า ม็อบพร้อมกัน เมื่อรัฐสภาไม่ฟังก์ชั่น นี่คือเวลาแห่ง “ท้องถนน”

ทางด้านนายอานนท์ นำภา แกนนำม็อบประชาชนปลดแอก ได้ขยายท่าทีผ่านเฟซบุ๊กว่า

สำหรับคนที่บอกว่า ถ้าม็อบพูดเรื่องสถาบันคนจะถอย ไม่มาร่วมชุมนุม ตนเห็นว่าไม่จริง

ถ้าไม่พูดเรื่องสถาบันต่างหากคนจะหนี

เพราะคนเขาที่มาชุมนุมเขาอยากฟัง นี่วัดจากการชุมนุม 4-5 ครั้งล่าสุด

ดังนั้น พูดแบบตรงๆ ถ้าการชุมนุมลดเพดานเรื่องการพูดเรื่องสถาบันลง อย่าว่าแต่คนจะไม่ไปชุมนุมเลย ตนเองก็จะไม่ไปขึ้นเวทีพูดด้วย

“อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า การเพิ่มการพูดเรื่องรัฐบาล เรื่องรัฐธรรมนูญ เรายังเน้นน้อยไป อันนี้เห็นตรงกัน ดังนั้น เราต้องพูดต้องเน้นเรื่องรัฐบาล เรื่องรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น ชัดขึ้น โดยไม่ต้องลดเรื่องสถาบันลง” นายอานนท์ระบุ

และชี้แจงว่า ที่โพสต์ว่าจะเป็นการต่อสู้แบบ “ม้วนเดียวจบ”

ไม่ได้หมายความว่าจบในวันเดียว แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะขยายการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่ลาออก ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการร่วมกันขีดเส้นในวันที่ 14 ตุลาคม อีกครั้ง

สำหรับการเคลื่อนไหวในวันดังกล่าวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าคนจะมาเป็นแสน หรือเป็นล้าน

คนจะมามากน้อยแค่ไหน ตนไม่ทราบ แต่ที่ผ่านมาคนเดินทางมาร่วมชุมนุมมากขึ้นเป็นเท่าตัวทุกครั้ง เช่น วันที่ 19 กันยายน เชื่อว่ามาเกือบ 1 แสนคน คาดว่า 14 ตุลาคมนี้ คนจะมามากกว่า

“14 ตุลาคมนี้จะไม่กลับ จะค้างคืน ส่วนจะเคลื่อนขบวนหรือไม่ อย่างไร อยู่ที่มวลชน เป้าหมายคือให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ออกไป และให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ส.มีแนวโน้มรับร่างสูงมาก ส่วนการนำเสนอวันที่ 14 ตุลาคม จะเข้มข้นเหมือนเดิม” นายอานนท์กล่าว

และว่า คิดว่ารัฐบาลปากกล้า ขาสั่น มีการส่งทหารล้างสมองเด็ก เชื่อว่าครั้งนี้ไม่มีฟางเส้นสุดท้าย แต่ถ้ามีน้ำผึ้งหยดเดียวอาจเกิดปัญหา ขอให้รัฐบาลรับฟังประชาชน ไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำรอย พวกเราอาจล่วงเกินกฎหมายไปบ้าง เช่น การชุมนุมบนถนน แต่สัญญาว่าจะอยู่ในกรอบ

หากจะสรุปจากท่าทีแกนนำฝ่ายต่างๆ ข้างต้น

การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม มีแน่นอน ที่ถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อันเป็นจุดเดียวกับที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

โดยมีจุดเน้น กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก ไม่แก้รัฐธรรมนูญ

ดังที่นายอานนท์กล่าวย้ำว่า “เราต้องพูดต้องเน้นเรื่องรัฐบาล เรื่องรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น ชัดขึ้น”

แต่ก็ได้ประกาศล่วงหน้าเช่นกันว่า “จะไม่ลดเรื่องสถาบันลง”

ซึ่งก็คงคอยดูต่อไปว่า จะทำให้มวลชนผละออก หรือลดลง หรือไม่

แต่นายอานนท์มั่นใจว่าจะไม่ลด

กระนั้น การหยัดยืนเช่นนี้ ย่อมมีแรงเสียดทานเกิดขึ้นหนักหน่วงแน่

และก็ปรากฏให้เห็นในงานรำลึก 44 ปี “6 ตุลา” ที่เปรียบเหมือนการอุ่นเครื่องหรือปูทางไปสู่การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม

เมื่อผู้บริหารธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้เพนกวิน (นายพริษฐ์ ชิวารักษ์) และรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ และทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) ซึ่งเป็นทนายสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมเสวนาในงานดังกล่าว บนเวทีหอประชุมศรีบูรพา ตามกำหนดที่คณะกรรมการได้เตรียมไว้

โดยผู้บริหารธรรมศาสตร์ให้เหตุผลว่า “ไม่สบายใจ”

แม้ว่านายกฤษฎางค์ นุตจรัส กรรมการจัดงาน 44 ปี 6 ตุลาคม จะออกมาคัดง้าง ว่าการจัดงาน 6 ตุลาคม 2519 ก็เพราะเราเรียกร้องให้สังคมไทยในปัจจุบันรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันมิใช่หรือ

“การสั่งห้ามน้องทั้งสามมาพูดในงาน 6 ตุลาปีนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีทางจะรับได้” นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ระบุ

แต่ที่สุด เพนกวิน รุ้ง และทนายอานนท์ กลายเป็น “ผู้ต้องห้าม” ในการขึ้นเวทีวันที่ 6 ตุลาคม 2563

ถือเป็นสัญญาณเตือนแรกๆ ว่า การชุมนุม 14 ตุลาคม คงมีกระแสต่อต้าน คู่ขนานอยู่ด้วย

และไม่ปล่อยให้ม็อบที่หลอมรวมเรียกตัวว่า คณะราษฎร 2563 ขับเคลื่อนโดยอิสระและไม่ถูกคัดค้านต่อต้าน

ดังที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ได้โชว์จุดยืนออกมาแล้ว

ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊ก Warong Dechgitvigrom

ในหัวข้อ อย่าทำให้เจตนารมณ์ 14 ตุลาเสียหาย โดยอ้างว่า

ม็อบปลดแอกคงเกิดไม่ทัน 14 ตุลาคม 2516 จึงคิดจัดชุมนุม 14 ตุลาคมนี้

เทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มันคนละเรื่อง เพราะ

1. เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาต่อสู้กับเผด็จการทหาร ภายใต้การนำของจอมพลถนอม-ประภาส และเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่การชุมนุมครั้งนี้จงใจต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์แบบเบิ้มๆ

2. เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิต นักศึกษา และประชาชน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งประเทศ แต่การชุมนุมที่จะเกิด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่

3. ในเหตุการณ์จริงของ 14 ตุลาคมนั้น มีนักศึกษาที่บริสุทธิ์เป็นแกนนำจริงๆ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ครั้งนี้ แกนนำเป็นคนใกล้ชิดพรรคการเมือง

4. การชุมนุม 14 ตุลาคมในอดีต เป็นบรรยากาศที่เผด็จการจริง แต่ตอนนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เพียงแต่ฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังนักศึกษา แพ้แล้วไม่รู้จักคำว่าแพ้

5. ผู้ชุมนุม 14 ตุลาคมในยุคก่อน ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การชุมนุม 14 ตุลาคมครั้งนี้ ต้องการล้มล้างการปกครองเพื่อเป็นระบอบสาธารณรัฐ

จึงอยากเรียกร้องอย่าทำให้เจตนารมณ์ 14 ตุลาเสียหาย อย่าทำให้ความรู้สึกดีๆ ของประชาชนต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เสื่อมลง ทางที่ดีควรเปลี่ยนวันนัดชุมนุม

กระแสเห็นต่างและต่อต้านนี้เอง ทำให้มีความกังวลว่า การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมนี้ จะมีการเผชิญหน้าที่นำไปสู่ความรุนแรงหรือบานปลายไปสู่ความไม่สงบ ด้วยเพราะมีการแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะเป็นเป้าหมายถูกโจมตีจากกลุ่มราษฎร 2563 ก็ออกตัว โดยบอก “คาดหวังว่าไม่อยากให้รุนแรงขึ้น หรือมากขึ้น มันไม่เป็นผลดีกับประเทศในเวลานี้”

โดยยืนยันจุดยืนที่จะสร้างความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น แม้ยังมีคนที่บิดเบือนอยู่

ที่น่าสนใจ คือท่าทีของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ ที่ประกาศอุดมการณ์ทหาร คือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน

มองการชุมนุมทางการเมืองที่มีการโยงถึงสถาบัน ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 14 ตุลาคม ว่า

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ

แต่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมี 2 เรื่องประกอบ คือ

1. ต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิของคนอื่น

2. ต้องมีความรับผิดชอบต่อเสรีภาพที่ตนเองกระทำ ถ้าไปก้าวล่วงหรือทำผิดกฎหมาย

สำหรับข้อเรียกร้องการปฏิรูปของนักศึกษา พล.อ.ณรงค์พันธ์บอกว่า การปฏิรูปคือการแก้ไขปรับปรุง ดังนั้น ทุกคนควรกลับมามองและปฏิรูปตนเองก่อน

“เหมือนกับคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นชาวพุทธที่นับถือสมเด็จโตท่านสอนเรื่องกระจกหกด้าน ไม่ใช่มองแต่ด้านตัวเองว่าดีและถูกต้องหมดทุกอย่าง ต้องมองมุมอื่นด้วยทั้ง 6 ด้าน อยากให้ทุกคนมองตนเองก่อนและกลับไปดูว่ามีความถูกต้อง สมบูรณ์ และมีความวิริยะ ก่อนที่จะไปบอกให้คนอื่นทำแบบนั้นแบบนี้”

เมื่อถูกถามว่า หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุม จะเป็นเงื่อนไขที่ทหารจะออกมาทำรัฐประหารหรือไม่

พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า รุนแรงอย่างไร ต่างฝ่ายต่างบอกว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง แล้วความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

“เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ความรุนแรงไม่มีประโยชน์สำหรับทุกสังคมในโลก” บิ๊กบี้กล่าว

ก็อาจเบาใจได้ระดับหนึ่งเมื่อผู้กุมนโยบายคือ พล.อ.ประยุทธ์ และผู้ปฏิบัติคือ พล.อ.ณรงค์พันธ์

ยืนยันที่จะไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

การชุมนุม 14 ตุลาคม ที่มีเสียงเตือนให้ “ระวัง”

คงไม่ได้นำไปสู่เสียง “ปัง” อันมาจากปืน

ที่เคยลั่นเข้าใส่นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2516

หากแต่เป็น ปังปุริเย่

ที่สะท้อนความสดใสของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รับฟังอย่างอดทน เปิดกว้าง และพร้อมจะแลกเปลี่ยน

เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน หรืออย่างน้อยที่สุดแม้จะไม่มีจุดร่วม แต่ก็ไม่มีการปะทะ หรือเกิดความรุนแรงขึ้น