ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ผมโชคดีมากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมประชุมเรื่องอาเซียนกับนักวิชาการระดับท็อปของภูมิภาค พวกเขาเตรียมการอย่างดีเพื่อทำความเข้าใจอาเซียนที่จะก้าวสู่ 50 ปีในปีหน้าที่จะถึงนี้ นอกจากความคิดเห็นที่แหลมคมแล้ว การเปิดกว้างรับฟังการวิจารณ์อย่างมากและมากกว่าที่ผมคิด ผมจึงเรียนรู้อะไรอีกมากมาย
มีหัวข้อหนึ่งที่ถูกตระเตรียมอย่างดีจากนักวิชาการชั้นนำ คืออนาคตอันท้าทายต่ออาเซียนในเวลานี้และอีกอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษข้างหน้า
ฟังดูแล้ว หัวข้อนี้ใครๆ ก็พูด และไม่มีอะไรลึกซึ้ง
แต่วงสนทนานี้น่าสนใจมาก เพราะมีการตระเตรียมโดยยกตัวอย่างว่า ประเด็นอะไรที่ท้าทายอาเซียนบ้าง
ซึ่งผมขอสรุปอย่างย่อๆ ดังนี้
เงื่อนไขภายในและภายนอก
มีนักวิชาการท่านหนึ่งในที่ประชุมแห่งนั้นยกตัวอย่างสิ่งท้าทายอาเซียนในปัจจุบันและอนาคต ว่า เงื่อนไขภายใน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการเติบโตที่มีการแพร่กระจายในระดับต่ำ อีกทั้งยังมีการบูรณาการด้านเศรษฐกิจไม่ดีนักในเรื่องความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียน ประเด็นการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นไปได้ว่าอาเซียนมีการแข่งขันในเชิงลบ และยังมีแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่ประสาทๆ อยู่ด้วย
ปัญหาภายในของอาเซียนอีกประการหนึ่งคือ มีการปฏิรูปการเมืองภายในของแต่ละประเทศน้อยมาก
และนโยบายต่างประเทศของอาเซียนเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาตินั้นๆ มากกว่าเพื่อภูมิภาค
นโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศยังมีมุมมองที่แยกจากกัน แล้วแต่อิทธิพลของชาติมหาอำนาจต่างๆ จะส่งผลต่อผลประโยชน์และการมีมุมมองของประเทศนั้นๆ อย่างไร
ส่วนเงื่อนไขภายนอกที่ท้าทายอาเซียนในปัจจุบันและในวันข้างหน้าได้แก่ นโยบายสหรัฐอเมริกาต่อเอเชีย หากว่าแต่ละชาติยังคงสงสัยเคลือบแคลงนโยบายนี้จะเป็นเงื่อนไขที่ไม่ดี ควรจะมีลักษณะมีพหุภาคีกับสหรัฐอเมริกา (a Multilateral America) ดีกว่า
ส่วนประเด็นอาเซียน-จีน การก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของจีนเป็นสิ่งท้าทายต่ออาเซียนมากซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่ดี หากจะดี จีนควรเป็นผู้เล่นฝ่ายหนึ่งที่มีความมั่นใจ
อีกประเด็นหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา นักวิชาการท่านนี้มองว่า เงื่อนไขที่ก่อผลเสียคือ การแข่งขันในระดับโลก สิ่งที่ควรจะเป็นคือ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Interdependence)
พวกเราและนักวิชาการเหล่านี้โต้เถียงกันอย่างเปิดอกและออกรสออกชาติ เรายังไม่ได้ข้อสรุปอะไร แต่เรากำลังเรียนรู้ถึงสิ่งที่ท้าทายอาเซียนในปัจจุบันและอนาคตอีกมาก
ผมก็เลยโพล่งขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนในที่ประชุม สิ่งที่ผมเขียนขึ้นนี้ดีกว่าที่ผมพูด (ภาษาอังกฤษ) เป็นระบบกว่ามากเพราะได้เรียบเรียงขึ้นในภายหลัง ทั้งหมดเป็นความคิดของผมเองไม่เกี่ยวกับที่ประชุมแห่งนั้น
และถึงแม้บทความนี้จะตีพิมพ์ช้า แต่น่าเชื่อมโยงได้เพราะเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ สำหรับทุกๆ คนในอาเซียน เรื่องนี้คือปัญหาทะเลจีนใต้ (South China Sea-SCS)
ทะเลจีนใต้กับอาเซียน
ตามรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ เสาร์ที่ 23 กรกฎาคม มีการประชุมที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อหาข้อยุติในการรักษาเอกภาพและการรวมกลุ่มที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน ในปัญหาอันสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับทะเลจีนใต้ อันจะเป็นหัวข้อหลักในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จะจบสิ้นในวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม¹
นี่เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรก หลังจากศาลโลกได้ตัดสินเมื่อ 12 กรกฎาคม ให้เป็นประโยชน์ต่อฟิลิปปินส์และแถลงว่าดินแดน 9 แห่งที่จีนทำขึ้นมา เป็นการอ้างที่ผิด
หลังจากมีคำตัดสินของศาลโลกไม่นาน กลุ่มอาเซียนได้ยกเลิกความพยายามจัดทำประเด็นเพื่อออกแถลงการณ์ต่อคำตัดสินของศาลโลก ซึ่งบางประเทศสมาชิกสนับสนุนจีน
การพบปะประชุมกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาเซียนที่นครเวียงจันทน์ มีการต่อสู้เพื่อให้ไปถึงแนวคิดที่เป็นส่วนร่วมกัน เพื่อมีแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ประจำปีที่จะเป็นข้อสรุปของเหตุการณ์ ปัญหาคือ บางประเทศ เช่น ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ประกาศจุดยืนของตนต่อคำตัดสินของศาลโลก ทำให้ยากต่อการประนีประนอมระหว่างกัน
หลายประเทศในอาเซียนมีการทะเลาะวิวาทกับจีนเรื่องข้อพิพาทมาช้านานแล้ว ความตึงเครียดรุนแรงขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อทางการจีนอ้างความเป็นเจ้าของที่ชอบธรรมในทะเลจีนใต้ และก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สามารถใช้ได้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร
รัฐบาลฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องกรณีนี้ต่อศาลโลกในปี 2013 และศาลได้ตัดสินในประเด็นสำคัญๆ เช่น ไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ใดที่จะอ้าง 9 เกาะซึ่งทางการจีนทำปะการังเทียมและทำการประมงในทะเลที่มีการละเมิดสิทธิต่างๆ ของประเทศฟิลิปปินส์ อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ ของจีนในทะเลสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยพื้นฐาน อาเซียนต้องการกฎหมาย คือ UN Convention on the Law of the Sea-UNCLOS อันเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ในภูมิภาคนี้ การประชุมในวันที่ 24 กรกฎาคม และจะประชุมต่อไปกับเจ้าหน้าที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาในวันจันทร์ 25 อังคาร 26 กรกฎาคม ทำเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการประชุม
สปป.ลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ แต่ดูเหมือนมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับจีน ได้พยายามผลักดันผลประโยชน์จนสำเร็จ
สปป.ลาวและราชอาณาจักรกัมพูชาถูกวิจารณ์ว่าทำการทูตอลหม่าน เนื่องจากมีการย้อนกลับไปเรื่องแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนเรื่อง ทะเลจีนใต้ หลังจากที่มีการพบกันกับทางการจีนที่เมืองคุนหมิง มลฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา² การพบปะระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีนถูกครอบงำด้วยประเด็นนี้จะทำให้การทูตล้มเหลวอย่างมาก การย้อนกลับไปที่แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนที่กังวลกับการก่อสร้างเกาะเทียมในทะเล หลังจากมติในที่ประชุมแถลงการณ์ไม่ได้เกิดขึ้น ทำให้ล้มเหลวสิ้นดี
หากย้อนกลับไปเราจะเห็นว่า ในปี 2012 สมัยที่ราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นประธานอาเซียน มันมีประวัติศาสตร์ของตัวเองสำหรับอาเซียน คือ ความล้มเหลวเป็นครั้งแรกในการออกแถลงการณ์ร่วม หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศมีความเห็นแตกต่างกันเรื่องทะเลจีนใต้
ย้อนกลับไปที่ห้องประชุมเล็กๆ ของผมและเพื่อนนักวิชาการ สิ่งท้าทายอาเซียนแน่นอนคือ ทะเลจีนใต้ มีทั้งเงื่อนไขภายในและภายนอกที่คู่ขนานกันไปในหลายมิติพร้อมๆ กัน
ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเลหรืออยู่ใกล้ทะเลไม่มาก ครอบงำอาเซียนได้อย่างไง?
¹Supaluk Ganjanakundee, “ASEAN foreign ministers face challenge to reach consensus after South China Sea ruling” The Nation July 24, 2016 : 8.
²Ibid.,