กรองกระแส / รากฐาน กำเนิด แห่ง คณะราษฎร 2563 กับ การเมืองไทย

กรองกระแส

 

รากฐาน กำเนิด

แห่ง คณะราษฎร 2563

กับ การเมืองไทย

 

ประหนึ่งว่ากำเนิดแห่ง “คณะราษฎร 2563” ซึ่งจะขับเคลื่อนการชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14  ตุลาคม จะมีรากฐานมาจาก “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18  กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อาจใช่ แต่มีมากกว่านั้น

หากใครผ่านสถานการณ์ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ณ ท้องสนามหลวง หากใครผ่านสถานการณ์ “44 ปี วีรชน 6 ตุลาคม” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะเข้าใจ

เข้าใจไปยังสถานการณ์ “47 ปี วีรชน 14 ตุลาคม” เมื่อปี 2516

เข้าใจไปยังการต่อสู้ของ “คณะราษฎร” เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในเดือนมิถุนายน เมื่อ 88 ปีก่อน

แท้จริงแล้ว กำเนิดแห่ง “คณะราษฎร 2563” คือผลึกแห่งการต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย”

เป็นผลึกอันผนึกแน่นจากยุคแห่ง “เทียนวรรณ” “ไพร่เป็นฟื้นยืนร้องทำนองชอบ ตามระบอบปาเลียเมนต์ประเด็นขำ” กระทั่งมาถึงยุคเดือนมิถุนายน 2475

และมาถึงยุคแห่ง “ดิจิตอล” พร้อมกับการเบ่งบานของ “ความคิดใหม่”

 

ทศวรรษ อันมืดมน

ทศวรรษ รัฐประหาร

การต่อสู้ทางการเมืองของไทยในห้วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาได้สร้างความขัดแย้ง แตกแยกในทางความคิดอย่างแหลมคม กว้างขวาง ใหญ่หลวง

เพราะการปรากฏขึ้นของพรรคไทยรักไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

ไม่เพียงแต่ได้เปิดโอกาสให้นายทักษิณ ชินวัตร หากที่สำคัญโอกาสนั้นอยู่ที่การผลักดันการเมืองให้ก้าวไปสู่การต่อสู้เชิง “นโยบาย”

ยิ่งกว่านั้น คือการแปร “นามธรรม” แห่งนโยบายไปสู่ “รูปธรรม” ทางการปฏิบัติ

ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย ความสำเร็จภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นั้นเองได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างสูงให้กับกลุ่มอำนาจเก่า

เกรงว่าผลงานและความสำเร็จนี้จะทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ยากแก่การควบคุมบงการ

จึงได้ก่อการเคลื่อนไหวผ่านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนเกิดรัฐประหาร 2549 จึงได้ก่อการเคลื่อนไหวผ่านมวลมหาประชาชนจนเกิดรัฐประหาร 2557

ความหวังคือต้องการทำลายพรรคไทยรักไทย ทำลายนายทักษิณ ชินวัตร

 

ทำลาย ทักษิณ ชินวัตร

กลับสร้าง ปีศาจตัวใหม่

ความสำเร็จจากรัฐประหาร 2549 อาจกำจัดนายทักษิณ ชินวัตร ได้ แต่ก็ยังปรากฏบทบาทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้น จึงจำเป็นต้องก่อรัฐประหาร 2557

ในทางกายภาพ อาจทำลายได้ แต่ในทาง “ความคิด” กลับทำลายไม่ได้

ขณะเดียวกัน ภายในกระบวนเคลื่อนไหวเพื่อบดขยี้และทำลายนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เพียงแต่ไม่สามารถบดขยี้ได้อย่างแหลกลาญ

ตรงกันข้าม กลับปรากฏ “ปีศาจ” ตัวใหม่ขึ้นมา

ในเบื้องต้น ฝ่ายกุมอำนาจคิดว่าปีศาจตัวใหม่คือ พรรคอนาคตใหม่ คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จึงดำเนินการเหมือนกับที่ทำกับพรรคไทยรักไทย

เหมือนกับที่ทำกับนายทักษิณ ชินวัตร เหมือนที่ทำกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เป็นผลผลิตจากการทำลายล้างผ่านกระบวนการรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหาร 2557 กลับมิได้ดำรงอยู่ในฐานะตัวบุคคล

ตรงกันข้าม กลับปรากฏผ่านพลังใหม่ ความคิดใหม่ กลายเป็นปีศาจตัวใหม่

 

ปีศาจ การเมืองใหม่

คณะราษฎร 2563

มีความเข้าใจว่า “คณะราษฎร 2563” มีรากฐานมาจากการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดย “เยาวชนปลดแอก”

เป็นเช่นนั้น แต่มีมากกว่านั้น

แท้จริงแล้ว รูปการเคลื่อนไหวอย่างที่เรียกว่า “แฟลชม็อบ” อันเป็นนวัตกรรมที่ปรากฏมาจากการเคลื่อนไหวในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 เพียงแต่ยังไม่ได้ดึงดูดคนเข้าร่วมมากนัก

โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ “แกนนอน” อย่างนายสมบัติ บุญงามอนงค์

กระนั้น ในยุคหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกรุกไล่จากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องได้เกิดปรากฏการณ์แฟลชม็อบขึ้นในเดือนธันวาคม 2562

และเกิดอย่างคึกคักในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

เพียงแต่ว่าต้องชะงักงันเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในเดือนมีนาคมจึงหยุดและมาปรากฏอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม กระทั่งกลายเป็นกระแสที่ได้รับการหนุนเสริมเป็นอย่างสูง

กระทั่งพัฒนามาเป็น “คณะราษฎร 2563” ในที่สุด

 

ขบวนการ คนรุ่นใหม่

อิสระ แต่ก็มีเอกภาพ

หากมองด้วยสายตาของคนที่ผ่านยุคแห่งสงครามเย็นก็จะเริ่มต้นจากใครหรือพรรคการเมืองใดหนุนหลัง ท่อน้ำเลี้ยงมาอย่างไร

นี่คือความจัดเจนก่อนรัฐประหาร 2549 ก่อนรัฐประหาร 2557

แต่ความจริง “เยาวชนปลดแอก” ปรากฏขึ้นตามสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่การรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 1 ทศวรรษก่อให้เกิดภาวะบิดเบี้ยวในทางการเมือง

กระทั่งทำให้ให้คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็น “เหยื่อ” ไม่สามารถยอมรับได้

การลุกขึ้นมาของ “เยาวชนปลดแอก” การลุกขึ้นมาของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” จึงเป็นไปตามกฎแห่งสังคมที่ต้องการปรับตัวเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

    เป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ “ใหม่” เป้าหมายเพื่อทำลายพื้นที่ “เก่า”