ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของวัตรทรงธรรมกัลยาณี บนถนนเพชรเกษม ระหว่าง ก.ม.52-53 นั้น เดิมเป็นของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี อันนี้เป็นที่มาว่าทำไมผู้เขียนจึงสนใจศึกษาเกี่ยวกับพระองค์ท่าน
เมื่อ 11 สิงหาคม 2563 ท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์ไปทำพิธีให้กับลูกศิษย์ที่อำเภอกำแพงแสน เพิ่งได้เห็นอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านอยู่ริมถนนที่มุ่งหน้าจะไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.กำแพงแสน นั่นเอง
ก็คิดดูเถิด อยู่ในจังหวัดเดียวกันแท้ๆ หูหนาตาปิด ไม่เคยทราบว่ามีอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านที่นั่น
โรงเรียนที่อยู่ติดกันนั้น ชื่อโรงเรียนอินทรศักดิ์ ชาวบ้านที่นั่นอธิบายว่า เดิมเป็นที่ตั้งของพระตำหนักของพระองค์ท่าน ก็เกิดความสงสัยอีกว่า ทำไมท่านไม่สร้างพระตำหนักตรงที่ดินที่ขายให้วัตรทรงธรรมฯ ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากกว่ากันถึง 30 ก.ม.
แต่ท่านอาจจะมาสร้างพระตำหนักหลังจากที่ขายที่ดินให้วัตรทรงธรรมฯ แล้วก็เป็นได้ เพราะที่ดินที่วัตรทรงธรรมฯ นั้น ซื้อมาตั้งแต่ พ.ศ.2501 ขณะที่พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ พ.ศ.2518
จากจุดที่ตั้งของวัตรทรงธรรมฯ นั้น อยู่ห่างจากพระราชวังสนามจันทร์เพียง 3 ก.ม. การสร้างพระตำหนักที่กำแพงแสนจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เดี๋ยวพาท่านผู้อ่านลงไปชมอนุสาวรีย์ก่อนนะคะ
พระรูปของพระองค์ท่านประทับยืนในฉลองพระองค์ชุดทหาร ขนาดประมาณว่าเท่าพระองค์จริง ตรงแท่นใต้พระรูปเป็นหินแกรนิตสีดำ สลักอักษรสีทอง ตอนนี้ดำหมดแล้ว มีข้อความว่า
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประสูติ วันที่ 10 มิถุนายน 2445
สิ้นพระชนม์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2518
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า ประไพ สุจริตกุล ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ 2 ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้)
ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในสมัยนั้น จากโรงเรียนราชินี เมื่อ พ.ศ.2463 วิชาโปรด คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การฝีมือ ดนตรี และกีฬา เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2464 และทรงสถาปนาพระอิสริยยศตามลำดับ ดังนี้
1 มกราคม 2465 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี
15 กันยายน 2468 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงเป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อชาติเป็นอันมากในทุกด้าน
ด้านการพยาบาล ทรงดำรงตำแหน่งเป็นสภานายิกาของวชิรพยาบาล
ด้านการทหาร ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
ด้านกิจการเสือป่า ทรงดำรงพระยศเป็นนาวาตรี แห่งราชนาวีเสือป่า
ด้านการศึกษา ทรงสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา โดยพระราชทานทุนแก่นักเรียน-นักศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ประถมถึงชั้นอุดมศึกษา รวมทั้งการพระราชทานทุนให้ได้ไปศึกษาที่ต่างประเทศด้วย
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกุลบุตร กุลธิดาชาวกำแพงแสนเป็นล้นพ้น หาที่สุดมิได้ โดยได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์และพระตำหนักให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย (บ้านยาง) และส่วนราชการอื่นๆ เมื่อ พ.ศ.2482
ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน องค์กรเอกชนและพระประยูรญาติได้พร้อมใจกันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นศูนย์รวมใจของชาวกำแพงแสนทั้งมวลสืบไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างเมื่อ 29 ธันวาคม 2538 เททองหล่อรูปจำลอง กรกฎาคม 2539 และวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ กรกฎาคม 2539
เบื้องหน้าพระราชานุสาวรีย์ มีนกยูงคู่ เคยทราบในพระประวัติของพระองค์ท่าน ในอักษรย่อของพระนามคือ อ.นั้น มีนกยูงปรากฏอยู่ด้วย
เมื่อตอนที่ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระบรมราชินีนั้น ทรงพระครรภ์ ก็เป็นข่าวที่เป็นมงคลในพระราชสำนัก ด้วยมีความคาดหมายว่าจะมีพระโอรสหรือพระธิดา หากเป็นพระโอรส ก็จะเป็นพระโอรสองค์แรก นั่นหมายถึงว่า จะทรงมีโอกาสสูงที่จะได้ครองบัลลังก์สืบต่อไป หากพระมารดาเป็นพระบรมราชินี พระโอรสที่ประสูติก็จะเป็นเจ้าฟ้า
แต่น่าเสียดายที่ทรงแท้งเสียก่อน แม้ทรงครรภ์ครั้งที่สอง ทรงแท้งไปอีกเช่นกัน ประกอบกับมีเหตุการณ์ที่ไม่ต้องพระทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศเป็นพระบรมราชินีเพียง 3 ปี 5 เดือน 15 วัน ก็โปรดฯ ให้ออกพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
แม้กระนั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะทรงมีพระชายาอื่นๆ แต่ก็เป็นพระวรชายา มิได้ยกย่องพระองค์ใดขึ้นเป็นพระบรมราชินีอีกเลย
เรื่องราวของพระองค์ท่านก็มิได้มีปรากฏให้สาธารณชนรับรู้ แม้ตอนที่สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ.2518 เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากพระญาติและข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้เขียนด้วย ก็มิเคยได้ทราบข่าวคราวของพระองค์ท่าน
ในยูทูบสามารถค้นประวัติเรื่องราวของพระองค์ท่านได้มากขึ้น แต่ที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั่วไป ก็มีที่เฉพาะที่กำแพงแสน ที่มีพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านที่ผู้เขียนนำเสนอนี้เท่านั้น
ผู้เขียนในฐานะที่อาศัยอยู่บนที่ดินที่เดิมเป็นทรัพย์สินของพระองค์ท่าน ขอถวายพระเกียรติบนพื้นที่ในคอลัมน์นี้
ในพระไตรปิฎก พูดถึงพลังของสตรี 5 ประการ หนึ่งในนั้นคือ บุตร บุตรเป็นพลังของผู้เป็นมารดา ดูจะปรากฏชัดเป็นรูปธรรมในประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ หากพระองค์ท่านมีพระโอรส ท่านอาจจะเป็นพระบรมราชินีได้ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีเรื่องราวในครั้งพุทธกาลที่การมีลูกชายเป็นพรอันประเสริฐสำหรับผู้เป็นแม่ ดังเช่นเรื่องราวของนางกีสาโคตมี ที่ถูกบิดา-มารดาของสามีใช้งานหนักอย่างยิ่ง แต่ครั้งเมื่อนางมีบุตรที่น่ารัก เป็นที่ชื่นชอบของผู้เป็นปู่-ย่า พลอยให้ฐานะของนางที่เป็นลูกสะใภ้ เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง บุตรจึงเป็นพลังสำคัญของสตรีในบริบทของอินเดียในสมัยนั้น
ในการประกอบบุญกุศลต่างๆ บนพื้นที่ที่เดิมเคยเป็นที่ดินของพระองค์ท่าน ขอพระวิญญาณของพระองค์ท่านได้ทรงรับทราบและได้โมทนา
พระบรมราชินีพระองค์เดียวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว