อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : 19 กันยายน ในความหมายใหม่

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาและนักเรียนในบ้านเรามีความหมายทางการเมืองหลายประการ

แค่นักศึกษาและนักเรียนบ้านเราไม่ใช่นักเรียนเลว นักศึกษาไม่เอาไหนที่ไม่เข้าห้องเรียน ไปหลับหรือเล่นโทรศัพท์มือถือไปวันๆ ก็มีความหมายมากแล้ว

ทว่าพวกเขาเป็นนิวเจเนอเรชั่น ผู้สนใจปัญหาการเมือง กระตือรือร้นทางการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขามีความคิดทางการเมือง

เรามองเห็นได้จากการชุมนุม 19 กันยายน 2563

 

19 กันยายน 2563
ในความหมายใหม่

จากปลายปีที่แล้ว มีการชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาและนักเรียนหลายครั้ง ทุกครั้งกรอบความคิดของพวกเขาเป็นกรอบใหญ่นั่นคือ เสนอแก้กติกาทางการเมือง ได้แก่ แก้รัฐธรรมนูญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น

แล้วเวลาสั้นๆ นั่นเอง การเปลี่ยนกติกาการเมืองได้อุบัติขึ้นในการชุมนุม 19 กันยายน 2563

 

ความหมายใหม่อันแรก

การชุมนุมทางการเมือง 19 กันยายน 2563 โจมตีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตรงไปตรงมา

แต่ไม่ได้โจมตีแค่ปฏิวัติเสียของ ประชาธิปไตยไทยถอยหลังและการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น

19 กันยายน 2563 อธิบายรากเหง้าที่แท้จริงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเริ่มต้นการก่อรูปของ Royalist Coup อันประกอบด้วยชนชั้นนำและกลุ่มทหารที่ไม่ใช่แค่มาจากกองทหารที่ภักดีกษัตริย์ ได้แก่ กองทัพภาคที่ 1 กองพล 1 รักษาพระองค์ ทหารของพระราชา แล้วยังรวมกลุ่มทหารบูรพาพยัฆค์ ชนชั้นนำและนายทหารเหล่านี้อ้างว่าปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์1

แต่ในความเป็นจริง ทำรัฐประหารเพื่อผู้นำทหารกลุ่มของเขาเอง

เพียงแต่หลังจากนั้น พวกเขาสร้างและใช้การเมืองเครือข่ายพวกเสื้อเหลือง พวกเสื้อฟ้า กปปส. แล้วทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในปี 2557 แล้วหลังจากนั้นก็สถาปนา ระบอบประยุทธ์ (Prayuth regime)

นักศึกษาและนักเรียนพร้อมด้วยผู้คนหลากหลายจำนวนมากให้ความหมายใหม่ของ 19 กันยายน 2563 โดยชี้ให้เห็นจุดเริ่มต้นของ Royalist Coup อันเป็นความจริงทางการเมืองแล้วเปลี่ยนเป็นการเมืองของราษฎร

 

สนามหลวง-สนามราษฎร
: ความหมายใหม่ที่ 2

การข้ามรั้วกั้นแล้วปักหลักที่สนามหลวงเป็นความหมายใหม่ที่ 2 ที่ทรงพลังมาก ไม่เพียงอธิบายรากเหง้าของระบอบประยุทธ์ พวกเขาได้บั่นทอนอุดมการณ์ของรัฐ โดยเปลี่ยนความหมายทางการเมืองและอุดมการณ์ของสนามหลวงเป็นสนามราษฎร

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สนามหลวงถูกอ้างว่าเป็น “พื้นที่สาธารณรัฐ” (Public space) อันกลับหมายถึงพื้นที่ส่วนตัวของคนชั้นสูง คนชั้นสูงจัดงาน จัดการแสดงเพื่อใช้พักผ่อนหย่อนใจในกลุ่มของชนชั้นสูงเท่านั้น ห้ามคนสามัญ คนทั่วไปเข้าไปไม่ได้

ทว่าสนามหลวงถูกเปลี่ยนให้เป็นสนามราษฎร นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 มีการจัดเมรุเผาศพให้ทหารและตำรวจจำนวน 17 นายที่เสียชีวิตจากกบฏบวรเดชปี 2476 ทหารและตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านี้คือไพร่แท้ๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หลังจากนั้น สนามหลวงมาเป็นสนามราษฎร มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เปิดให้มีการออกร้านขายของ เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นตลาดนัด ฉายหนังกลางแปลง การแสดงวงดนตรีลูกทุ่ง ลูกกรุง เปิดให้ประชาชนไปใช้พักผ่อน เล่นว่าว ออกกำลังกาย ประชาชนเข้ามานั่งเล่น มีพ่อค้าแม่ค้าให้เช่าจักรยานให้เด็กๆ ฝึกหัดขี่จักรยาน ประชาชนซื้อ-ขายเครื่องดื่ม ของกินเล่นและนอนปูเสื่อกัน เล่นกีฬา มีการแข่งขันตะกร้อ แข่งฟุตบอลชิงถ้วยกรุงเทพมหานคร

สนามราษฎรของสามัญชน ยังเป็นพื้นที่ปราศรัยแสดงออกความคิดทางการเมือง เป็นที่ไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) หาเสียงเลือกตั้งมาหลายยุคหลายสมัย เป็นพื้นที่แห่งการปฏิวัติมหาประชาชน 14 ตุลาคม 2516

แต่ต่อมาปี 2555 มีการห้ามใช้สนามหลวง สร้างรั้วเหล็กกั้น ทางเท้าที่เดินก็ทำให้แคบจนกระทั่งใช้เดินหลบรถเมล์ รถยนต์ไม่ได้

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทว่าเป็นอุดมการณ์รัฐเพื่อแย่งชิงพื้นที่การเมืองเพื่อผลักไสสามัญชน คนธรรมดาและชีวิตธรรมดาให้ออกไป เพื่อลดทอนอำนาจประชาชนให้แคบลงและเบาบางลง

นับแต่นั้นมา อุดมการณ์แห่งรัฐเพื่อแย่งชิงพื้นที่การเมืองแผ่กว้างไปทั่ว ขุด ทับ ทิ้ง ย้าย แยก ยึด วัตถุ สถานที่และพื้นที่ตัวแทนอุดมการณ์ท้าทายรัฐ

เมื่อนักศึกษา-นักเรียน และสามัญชนปักหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2 เมื่อย่ำรุ่งวันที่ 20 กันยายน 2563 ความหมายทางการเมืองของราษฎรอุบัติขึ้นแล้ว ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้วอย่างไม่มีวันหวนกลับคืน

หากอ่านคำจารึก…หมุด จะเห็นอำนาจราษฎรแผ่ไพศาล ไม่ได้อยู่แค่สนามราษฎรอีกต่อไปแล้ว

(1) ดูเพิ่มเติม Ukrist Pathmanand, “A Different coup d” etat” Journal of Contemporary Asia 38 (1) 2008 : 124-142.