กาแฟดำ | สูตรสร้าง Startup Nation

สุทธิชัย หยุ่น

ผมชวนผู้รู้เกี่ยวกับความเป็นประเทศนวัตกรรมของอิสราเอลมาตั้งวงเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อวิเคราะห์แนวทางให้คนไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

เพราะไทยก็ต้องการจะเป็น Startup Nation หรือประเทศที่สร้างนวัตกรรมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

หัวข้อวันนั้นคือ

Disruptive Innovation – Israel as Startup Nation

โดยมีผู้ร่วมสนทนาสามท่าน

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (Dr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

คุณเพ็ญประภา วงษ์โกวิท อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน)

ผมแซวท่านทูตอิสราเอลว่าประเทศของท่านมีประชากรเพียง 9 ล้านคนเศษๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางศัตรูรอบด้าน

สงสัยนั่นจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อิสราเอลจำเป็นต้องใช้สมองเพื่อคิดอะไรใหม่เพื่อความอยู่รอด

“นั่นแปลว่าอิสราเอลต้องสร้างศัตรูตลอดเวลาใช่หรือไม่ครับ”

ผมล้อเล่นท่านทูต

ท่านทูตชโลโมตอบอย่างอารมณ์ดีว่านั่นเป็นสัจธรรมทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น

“แต่การจงใจสร้างศัตรูเพื่อสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นน่าจะเป็นวิธีที่แพงเกินเหตุ คงไม่มีใครตั้งใจจะให้เห็นเช่นนั้น…”

“อิสราเอลเป็นประเทศที่มีผู้คนหลากหลาย คิดอะไรแตกต่างกันมากมาย ถกแถลงกันอย่างร้อนแรงตลอดเวลา และท้ายที่สุดสามารถสร้างประเทศที่เป็นประเทศ Startup ของโลก…ผมว่าเป็นผลงานที่ไม่เลวเลยครับ…”

ผมบอกว่าการจะสร้างสรรค์ได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องนั้น คนอิสราเอลจำเป็นต้องอยู่ภายใต้แรงกดดัน ดังนั้น ผมจึงล้อเล่นต่อว่าบางครั้งอาจจะต้องจงใจสร้างศัตรูเพื่อให้แรงกดดันนั้นๆ ยังดำรงอยู่เสมอ

อิสราเอลกลายเป็นประเทศที่มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสูงสุดของโลกหากวัดตามจำนวนประชากรต่อพื้นที่

ถึงวันนี้อิสราเอลได้รางวัลโนเบลไปแล้ว 12 คนส่วนใหญ่จะเป็นด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

“อิสราเอลขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เราตั้งอยู่ในทะเลทราย น้ำไม่มี ปลูกพืชผักยาก เริ่มต้นด้วยการเป็นประเทศยากจน…”

“เรามีทุนอย่างเดียวคือทุนมนุษย์…”

เมื่อดินแห้งแล้ง และธรรมชาติให้น้ำไม่เพียงพอ คนอิสราเอลก็ต้องหันไปสู่การค้นคว้า, วิจัยและสร้างสิ่งใหม่ๆ

เพราะเหตุที่ต้องป้องกันตัวเองจากศัตรูรอบด้าน กองทัพอิสราเอลจึงกลายเป็นศูนย์แห่งนวัตกรรมเพื่อสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือทางทหารเพื่อป้องกันตัวเอง

นวัตกรรมทางทหารนำไปสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเอกชน

และเพราะอิสราเอลเป็นประเทศเล็ก การหวังพึ่งตลาดภายในไม่อาจจะโอบอุ้มเศรษฐกิจทั้งประเทศได้

เป็นเหตุให้รัฐบาลและเอกชนต้องทำให้โลกทั้งโลกเป็นตลาดของสินค้าตัวเอง

ท่านทูตเพ็ญประภาใช้เวลาอยู่อิสราเอล 3 ปี

“คนอิสราเอลเป็นคนฉลาดมาก เวลาไปครั้งแรกก็ต้องไปเยี่ยมคารวะคนของกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงต่างประเทศ…ปกติแล้วเราก็เริ่มด้วย small talk แบบเจ๊าะแจ๊ะก่อน แต่พอนั่งลงเท่านั้นแหละ ฝั่งอิสราเอลก็เข้าเรื่องเลยตั้งแต่ความสัมพันธ์ทวิภาคี ประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง ไล่ลงมาหมด เขาจริงจังและทำการบ้านมาอย่างดี…”

ท่านทูตชโลโมบอกว่า ภาษาฮิบรูมีคำว่า Tachles (แทคเลส) : ซึ่งแปลว่า

“เข้าเรื่องเลยดีกว่า…”

การทักทายกันตามมารยาทสังคมเป็นเรื่องดี แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเจอกันแล้วต้องได้งานด้วย

ดร.พันธุ์อาจบอกว่าไปอิสราเอลครั้งแรกเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องนวัตกรรมก็จับได้ทันทีว่า

“อัตราความเร็วของการทำงานหรือ speed ของอิสราเอลกับของไทยคนละเรื่องกันเลย…เราเต้นวอลซ์ เขาเต้นแทงโก้…เขานั่งลงก็บอกว่า 1-2-3-4 จะเอายังไง ของเราอยู่ที่ 1 ก็วนอยู่ตรงนั้นก่อน แต่สักพักหนึ่งเราก็เข้าใจ เราก็ต้องปรับสปีดให้ทันเขา เขาจะไม่ปรับช้าลงให้เรา…แต่ก็สนุกครับ เราต้องเตรียมพลังไว้เยอะๆ หน่อย”

ผมหันไปถามท่านทูตชโลโมว่าความเร็วของการทำงานของเขาทำให้เราเหนื่อย…มีช่วงไหนที่อิสราเอลช้าลงบ้างไหม

ท่านทูตบอก “ใช่ ศิลปะการทูตคือการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เวลาเจ้าหน้าที่อิสราเอลมาไทย ผมจะบอกพวกเขาว่าให้ทำตัวสบายๆ หน่อย ไม่ต้องเครียด ในแง่ความเร็วเราต้องพบกันครึ่งทางกับคนไทย…”

ที่น่ายินดีคือคนอิสราเอลชอบประเทศไทยมาก…เป็นประเทศที่คนอิสราเอลมาเที่ยวนอกประเทศสูงอันดับสองของโลก

ผมเคยไปอิสราเอล ถามไถ่ได้ความว่า 10 คนที่ผมเจอประมาณ 8 คนเคยมาหรือมีเพื่อนหรือญาติเคยมาเที่ยวเมืองไทยทั้งนั้น

เพราะคนอิสราเอลทุกคนต้องเป็นทหารสองปี เมื่อเสร็จจากภารกิจทหารแล้ว คนอิสราเอลจำนวนมากจะขอมาพักผ่อนที่ประเทศไทยก่อนจะกลับไปเริ่มชีวิตนอกรั้วกองทัพ

“ทุกวันนี้ กระทรวงต่างประเทศของเราได้รับคำถามมากมายตลอดเวลาว่าพวกเขาและเธอจะมาเที่ยวเมืองไทยได้เมื่อไหร่หลังโควิดคลี่คลายลง…”

(ทูตชโลโมเองตอนเป็นนักศึกษาเคยชวนแฟนมาเที่ยวเมืองไทยถึงสองเดือน จึงมีความคุ้นเคยสนิทสนมประเทศไทยเป็นพิเศษ)

วันนี้อิสราเอลมีบริษัทที่เรียกตัวเองว่า Startups 6,000 แห่ง นั่นเท่ากับ 1 ต่อประชากร 1,500 คน หรือสูงสุดของโลก

เงินลงทุนจากต่างชาติในอิสราเอลต่อประชากรก็สูงที่สุดของโลกเช่นกัน

ท่านทูตอิสราเอลเล่าว่า เมื่อประเทศขาดน้ำ…นักวิจัยและนักค้นคว้าก็หาทางผลิตน้ำด้วยเทคโนโลยีให้ดีที่สุด

จนสามารถผลิตน้ำส่งออก ต่อมาก็สามารถส่งออกเทคโนโลยีเรื่องน้ำ

“เมื่อดินของเราไม่เหมาะกับการเกษตร เราก็ต้องวิจัยพัฒนาการทำการเกษตรที่มีผลผลิตสูงที่เรียกว่า Precision Farming และ Drip Irrigation หรือชลประทานน้ำหยดที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก…”

ที่น่าทึ่งก็คือแม้ในอุตสาหกรรมที่อิสราเอลไม่ได้ทำเอง นักวิจัยที่นั่นก็สามารถคิดค้นเทคโนโลยีด้านรถไฟฟ้าและรถไร้คนขับไปขายให้ประเทศอื่น

อีกสถิติหนึ่งที่น่าสนใจคือบริษัทอิสราเอลที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ สหรัฐมีสูงเป็นอันดับสามของโลก ตามหลังแค่จีนและสหรัฐเท่านั้น

ปีที่แล้ว อิสราเอลมีบริษัท Startup ใหญ่ระดับ Unicorn (บริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า $1,000 ล้าน (กว่า 32,000 ล้านบาท) สูงถึง 20 แห่ง

สูงกว่าเยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลีรวมกันเลยทีเดียว

ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่สะท้อนถึงที่มาของความสำเร็จด้านนวัตกรรมคืองบประมาณที่ใส่ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) อยู่ที่ 4.7% ของผลผลิตมวลรวมหรือ GDP โดยมีเกาหลีใต้ตามมาติดๆ

“ที่เกาหลีใต้ต่างจากอิสราเอลก็ตรงที่งบประมาณวิจัยพัฒนาของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล แต่ที่อิสราเอลเป็นงบของเอกชนล้วนๆ…ซึ่งรวมถึงบริษัทไฮเทคต่างชาติที่ไปตั้งหน่วยวิจัยที่อิสราเอลเช่น Microsoft, Google และอื่นๆ…”

ทุกครั้งที่บริษัทต่างชาติเหล่านี้ซื้อธุรกิจของอิสราเอล เป้าหมายหลักคือการซื้อผลงานวิจัย ไม่ได้ต้องการสินทรัพย์อย่างอื่นเท่าไหร่นัก

ที่ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง “คุณภาพคน” กับทัศนคติเรื่อง Chutzpah (อ่านออกเสียงว่า “ฮุซพ่า”)

คำนี้มีความหมายที่สำคัญคือ “ความกร้าว…ความกล้า…ความพร้อมลุย”

ท่านทูตชโลโมใช้คำว่า Assertiveness ซึ่งน่าจะแปลว่า “ความกล้าแสดงออก”

ผมบอกท่านทูตว่า Chutzpah น่าจะเป็นคำตรงกันข้ามกับ “เกรงใจ” ของไทย

หากคนไทยใช้ความเกรงใจในทุกสถานการณ์ก็จะไม่กล้าแสดงออก ไม่ตั้งคำถามตรงๆ แม้จะมีความสงสัยในข้อมูลและความเห็นของอีกคนหนึ่ง

แต่คนอิสราเอลมีวัฒนธรรมซักถาม ต้องการคำตอบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม

ไม่ถือว่าความเห็นต่างเป็นความขัดแย้ง

ท่านทูตชโลโมบอกว่าผู้น้อยในอิสราเอลกล้าท้าทายความคิดของผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนกับคนอายุน้อยกว่า

โดยไม่เห็นว่าเป็น “ความก้าวร้าวของเด็ก”

ตรงนี้กระมังที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างชาติที่ชื่อว่าประเทศไทยวันนี้!