คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เทวดาจะอยู่ข้างไหน?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หลายคนคงคิดว่าผมบ้า หากผมเอาคำถามที่ว่า “เทวดาจะอยู่ข้างไหน?” ไปถามผีสางเทวดา โดยเฉพาะ “ข้าง” ในคำถามหมายถึงข้างฝ่ายทางการเมือง ระหว่างเผด็จการอำนาจนิยมและประชาธิปไตย/ประชาชน

แน่นอน ใครจะรู้จิตใจเทวดาได้ คนที่อ้างว่ารู้จิตใจเทวดาหรือพระเจ้าล้วนแต่น่าสงสัย เพราะมักใช้ข้ออ้างนั้นไปสู่อำนาจต่างๆ ที่ฉ้อฉล ดังประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เราเห็นอยู่

กระนั้นภายใต้สถานการณ์ที่แหลมคมในเวลานี้ คำถามว่าเทวดาจะอยู่ข้างไหน คงไม่ได้เป็นคำถามบ๊องๆ ของคนบ้าและโง่อย่างผม

แต่คิดว่ามันเป็นคำถามที่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน

 

ผมเคยคุยกับน้องๆ นักศึกษาที่สนใจด้านศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งหลายคนเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย พวกเขาสนใจว่า การต่อสู้ทางการเมืองในขณะนี้จะขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มอื่นๆ ในสังคมอย่างถ้วนทั่วได้อย่างไร

คนหนุ่ม-สาวที่เคลื่อนไหวนำหน้าพวกเราอยู่ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเขาเห็นว่ามีหลายสิ่งที่สมควรจะต้องเปลี่ยนหรือยกเลิกไป บางคนประกาศชัดแจ้งว่าไม่ได้นับถือศาสนา เพราะนอกจากจะไม่อินแล้ว ยังเห็นว่าศาสนานี่แหละที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในทางสังคมการเมืองอีกด้วย

ที่จริงผมในฐานะผู้นับถือศาสนาก็เห็นด้วยกับน้องๆ นะครับ ว่าศาสนาโดยเฉพาะที่เป็น “ศาสนองค์กร” กับ “ศาสนวัฒนธรรม” มีส่วนอย่างมากในการขัดขวางความก้าวหน้าทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะการส่งเสริมอำนาจนิยม การกดขี่และการแบ่งแยก

แต่ส่วน “ศาสนธรรม” นั้น ผมคิดว่ามันมีทั้งส่วนที่ขัดขวางและยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์ หากสามารถตีความให้ไปกันได้กับคุณค่าของโลกสมัยใหม่

 

ผู้ใหญ่หลายคนที่นับถือศาสนาอาจรู้สึกหวั่นๆ เมื่อเห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่หลายคนเขาชัดเจนว่าไม่เอาศาสนา ทำให้บางคนคิดไปว่าสังคมไทยที่น้องๆ อยากให้เป็นคือสังคมที่ไม่มีศาสนาเลย น่ากลัวราวกับคอมมิวนิสต์ในสมัยก่อน

ผมคิดว่านั่นเป็นความกลัวที่เกินเหตุไปหน่อย หากยืนยันหลักประชาธิปไตย สังคมที่เปิดกว้างคือคุณจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาก็ได้เพราะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ทว่าไม่มีองค์กรทางศาสนาที่รับเอาผลประโยชน์จากรัฐ หรือรัฐใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือดังที่เป็นอยู่

กระนั้น หากเราต้องการสังคมใหม่ที่ได้ถ่ายถอนคุณค่าเดิมของโลกเก่าออกไปแล้ว คำถามที่ตามมาคือ เราจะเสนออะไรเป็นคุณค่าใหม่สำหรับสังคมนั้น หรือหากยังมีคนที่เขาผูกพันกับวัฒนธรรมและคำสอนทางศาสนา เราจะทำอย่างไรที่จะรวมเอาคนเหล่านั้นเข้ามาร่วมในสังคมใหม่ของเรา มีที่ทางให้เขา

งานนี้ทำให้ผมนึกถึง “การออกแบบประเทศ” ก่อนการได้รับเอกราชจากอังกฤษของอินเดีย

นักชาตินิยมอินเดียไม่ได้ทำแค่การต่อต้านอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันก็วางแผนออกแบบประเทศอินเดียหลังได้รับเอกราชไปด้วย ประเทศที่ว่าจะมีระบบรัฐสภาอย่างไร ระบบการทหารอย่างไร เศรษฐกิจและสังคมอย่างไร

รวมทั้งเรื่องศาสนาด้วย

โจทย์ของผมและเพื่อนที่ทำงานด้านศาสนา จึงคิดว่าทำอย่างไรที่เราจะสามารถตีความศาสนธรรมให้ไปกันได้กับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ หรือก็คือคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย เช่น ความเท่าเทียม สิทธิและเสรีภาพ ฯลฯ ซึ่งผมและเพื่อนเชื่อว่ามันน่าจะมีอยู่แหละน่า และจะช่วยดึงเอาคนที่ยังนับถือศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้

อีกทั้งจะทำให้ศาสนายังคงอยู่อย่างมีความหมาย

นอกจากนี้แล้ว งานที่สำคัญอีกอย่างคือการ “ช่วงชิง” ความหมายของตำนาน พิธีกรรมและวัฒนธรรมให้กลับมาอยู่ในฟากฝั่งประชาชน

ซึ่งมาสู่คำถามที่ว่า “เทวดาจะอยู่ข้างไหน”

 

ตัวจริงๆ ของผีสางเทวดาเป็นอย่างไรใครจะรู้ แต่ผู้มีอำนาจในรัฐช่องใช้ผีสางเทวดามาเป็นประโยชน์แก่ตนมาตั้งแต่นมนานแล้ว

ใครสนใจเรื่องจีนๆ เทพเจ้าจีนใหญ่ๆ เช่น เจ้าแม่ทับทิม (เทียนส่งเส้งโบ้) โป้เส้งต่ายเต่ หรือบรรดาเทพนายทัพ ต่างมีตำนานเคยช่วยพิทักษ์องค์ฮ่องเต้หรือช่วยทัพหลวงปราบปราบข้าศึกทั้งนั้น ทำให้ฮ่องเต้อวยยศให้สูงขึ้นและประกาศเกียรติคุณให้สังคมรับรู้

วิธีการแบบนี้ เท่ากับประกาศแก่คนทั่วๆ ไปว่าเทพนั้นอยู่ข้างฮ่องเต้ ใครจะตั้งตนคิดร้ายต่อฮ่องเต้ขอให้คิดดีๆ ก่อนนะเว้ย เพราะเทพจะลงโทษทัณฑ์แก่มันผู้นั้นได้

วิธีการเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงในจีนแต่มีอยู่ทั่วไป ในบ้านเราเอง สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อมีเหตุการณ์ฟ้าผ่าพระมหาปราสาท รัชกาลที่หนึ่งก็ทรงอธิบายไว้ว่าเทวดาบันดาลให้ฟ้าผ่าปราสาทแทนที่จะเสียบ้านเมืองอีก และในทุกรัชกาลมีความเชื่อเรื่องเทวดารักษาพระเศวตฉัตร

ดังนั้น คนในราชสำนักจึงกลัวเกรงพระเศวตฉัตร (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจ) มาก

 

มีสองรัชสมัยที่เรื่องเทวดาสำคัญเป็นพิเศษ คือสมัยรัชกาลที่สี่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีประกาศเทวดาครั้งรถล่ม เนื้อความว่ามีเทวดาปกปักรักษาพระองค์อยู่ และทรงตั้ง “พระสยามเทวาธิราช” ขึ้นมา

เพื่อนๆ ผมที่สนใจทางไสยศาสตร์บอกว่า พระสยามเทวาธิราชเป็นดวงวิญญาณพระราชบรรพชน ผมก็ไม่ทราบว่าข้อสรุปนี้มาได้อย่างไร แต่เขาจึงเชื่อกันว่า ด้วยเหตุนี้พระสยามเทวาธิราชจึงมีหน้าที่อภิบาลรักษาพระราชวงศ์โดยเฉพาะ

ส่วนในสมัยรัชกาลที่หกนั้น ทรงตั้งท้าวหิรัญพนาสูรหรือท้าวหิรัญฮู ซึ่งว่ากันว่าเป็นวิญญาณเทพชาวป่ามาปรากฏให้ข้าราชบริพารเห็นและช่วยปกป้องพระองค์ในระหว่างประพาสหัวเมืองต่างๆ

หากพิเคราะห์จากมุมทางประวัติศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่สี่และรัชกาลที่หกเป็นช่วงเวลาที่ไม่สะดวกราบรื่นในการขึ้นครองราชสมบัติ ในสมัยรัชกาลที่สี่ บรรดาขุนนางในราชสำนักมีอำนาจมาก ส่วนในสมัยรัชกาลที่หกก็ทรงครองราชย์หลังพระราชบิดาที่ทรงมีอิทธิพลและความนิยมมากกว่า การสร้างเทวดาให้มาอยู่ข้างๆ จึงเป็นการป้องกันรักษาพระองค์โดยใช้ความเชื่อเป็นเครื่องมือ

เทวดาหลวงเริ่มเป็นที่รู้จักของชนชั้นกลางไม่กี่ทศวรรษมานี้ ที่จริงใครนับถือเทวดาอะไรก็บอกตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในสังคมนั้นๆ ด้วย ชนชั้นกลางจึงมักอ้างถึงพระสยามเทวาธิราชและเทพฮินดูระดับสูงบ่อยๆ เพราะบ่งบอกระดับของตนเองว่ามีการศึกษาและอยู่ในฟากฝ่ายของคนรักชาติรักสถาบัน ในขณะที่ก็เหยียดชาวบ้านที่นับถือผีว่างมงายโง่เง่า

และมักอ้างพระสยามเทวาธิราชมาสาปมาแช่ง “พวกชังชาติ” อยู่ในโลกโซเชียลเป็นประจำ

ดังนี้แล้ว เทวดาจึงถูกช่วงใช้จากฝักฝ่ายผู้มีอำนาจเสมอ มนุษย์ทำให้เทวดาไม่เป็นกลางมาตลอด และคนที่อยากให้เทวดาเป็นกลางก็ไม่เคยกลางจริงๆ แต่ถ้าเรายังรักเทวดา อยากให้เทวดายังอยู่อย่างมีความหมาย อยากคบค้ากับเทวดาและอยากให้คนเชื่อถือเทวดามาร่วมกับเราด้วย ก็ต้องช่วงชิงเทวดามาอยู่ฟากฝั่งเราให้ได้

 

ที่จริงมีตัวอย่างของผีสางเทวดาที่อยู่ฝั่งประชาชนให้เห็นนะครับ ในพม่า มีผีนัตตนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก คนไทยไปเที่ยวเมืองพม่าต้องไปขอพร นัตสตรีตนนี้ชื่อว่าอะมาดอว์เมียะ หรือที่คนไทยตั้งชื่อว่านัตกระซิบ อยู่ที่พระมหาเจดีย์โบตาตอง กรุงย่างกุ้ง

คนมักกล่าวถึงนัตอะมาดอว์เมียะว่าเป็นธิดาพญานาค แต่บางตำนานก็ว่าท่านเป็นแม่ชีในวัดนั้นแหละ เมื่อตายลงก็กลายเป็นผีนัตดูแลวัด

มีเรื่องร่ำลือกันว่า ในสมัยพม่าปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ผีนัตตนนี้ไปเข้าฝันด่านายพลตานฉ่วยว่าเลิกกดขี่ประชาชนได้แล้ว ตื่นขึ้นนายพลตานฉ่วยสั่งให้คนเอาโซ่ไปล่ามเท้ารูปปั้นอะมาดอว์เมียะไว้ เพราะกลัวจะมาเข้าฝันอีก อะมาดอว์เมียะจึงมีโซ่ล่ามเท้าอยู่หลายปี พอหมดยุคตานฉ่วย เขาก็ปลดโซ่จากเท้ารูปปั้นออก

ผีนัตอะมาดอว์เมียะจะไปเข้าฝันตานฉ่วย จริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าคนลือกันว่าเธอไปเข้าฝัน เพราะนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลือกฝั่งไหน และเผด็จการขาดความชอบธรรมแม้แต่ในหมู่ผีสางเทวดา ซึ่งย่อมมีความหมายต่อคนที่เชื่อถือ

ผมเลยเข้าใจว่า สำหรับคนพม่าแล้ว อาจนับถือนัตอะมาดอว์เมียะในความหมายที่ต่างจากเราคนไทย

เห็นไหมล่ะครับว่า ผีสางเทวดานั้นเลือกข้างได้

แต่คนเรานี่แหละที่ต้องช่วยทำให้ผีสางเทวดาอยู่ถูกข้าง