สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย ep.12 การเมืองใหม่ 2523-2531

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การเกี่ยวข้องของทหารกับการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ และสามารถถอยกลับไปได้ อย่างน้อยในยุคโรม แต่ปรากฏการณ์ของรัฐบาลทหาร ที่รัฐบาลมาจากกองทัพ และใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจหลัก เป็นเรื่องใหม่มากกว่า”

Robert Pinkney (1990)

การเมืองไทยในยุครัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หลังจากการเลือกตั้ง 2522 แล้ว มีลักษณะเป็น “ระบอบพันทาง” หรืออาจเรียกทับศัพท์ว่าเป็น “ระบอบไฮบริด” (hybrid regime) ซึ่งเป็นการเมืองในรูปแบบใหม่ที่เป็นการผสมระหว่างปัจจัยประชาธิปไตยและอำนาจนิยมให้อยู่ในระบอบเดียวกัน

ซึ่งในทางทฤษฎีของวิชาการเมืองเปรียบเทียบแล้ว ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะในความรับรู้แบบเดิมนั้น เรามักจำแนกการเมืองออกเป็นสองระบอบคือ ประชาธิปไตยกับเผด็จการ

และมองไม่เห็นถึงการเมืองในแบบที่อยู่ตรงกลางของสองระบอบนี้

การจำแนกการเมืองที่เป็นระบอบตรงกลางเช่นนี้จึงมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำความเข้าใจผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ไม่สมบูรณ์ (เช่นที่เป็นความหวังในทางทฤษฎี)

เพราะการเปลี่ยนผ่านในหลายครั้งไม่ได้จบลงด้วยการกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

แม้นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมักมีความฝันเสมอว่า สุดทางของการเปลี่ยนผ่านแล้ว ประชาธิปไตยจะต้องมีความเข้มแข็ง

แต่หลายครั้งที่ความฝันนี้ถูกตอบด้วยความเป็นจริงทางการเมือง ที่เมื่อเปลี่ยนผ่านแล้ว การเมืองกลับเป็นประชาธิปไตยแบบ “ครึ่งใบ” คือ ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ก็ไม่ถอยกลับไปเป็นเผด็จการเต็มรูปเช่นเดิม

จนอาจต้องถือว่า “ระบอบครึ่งใบ” เช่นนี้คือความสำเร็จของการปรับตัวของกลุ่มผู้นำเก่าในการเมืองใหม่ และทำให้ผู้นำทหารเผชิญแรงกดดันน้อยลง

การคงอยู่ของระบอบนี้ในการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่นรัฐบาลจอมพลถนอมหลังการเลือกตั้ง 2512 แต่ความสำเร็จสำคัญเกิดขึ้นในสมัยของ พล.อ.เปรม

ฉะนั้น “การเมืองยุคเปรม” จึงเป็นตัวอย่างของระบอบไฮบริดที่ประสบความสำเร็จในการดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน ต่างจากเดิมที่เป็น “ระบอบเผด็จการทหาร” ซึ่งไร้เสถียรภาพ และขาดความชอบธรรมในตัวเอง เพราะเป็นการเมืองที่ได้อำนาจมาด้วยการรัฐประหาร

แต่ระบอบพันทางกลับมีกลไกของการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการมีอำนาจ

ระบอบใหม่ของผู้นำทหาร!

การเมืองยุค พล.อ.เปรมเริ่มต้นในวันที่ 3 มีนาคม 2523 อันเป็นวันที่ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา เปิดประชุมสภาเพื่อสรรหาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางสภาในตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์

ผลการลงมติในสภา เป็นที่ชัดเจนด้วยคะแนน 395 คะแนน จากผู้เข้าร่วมประชุมสภาในวันนั้น 496 คนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคเปรม” และยุคดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2531 จากการประกาศของ พล.อ.เปรมที่ไม่ขอรับตำแหน่งอีกต่อไป

ซึ่งเป็นการตัดสินใจลงจากตำแหน่งด้วยการประกาศยุติบทบาทเองในสภาในเดือนกรกฎาคม 2531 และเป็นตัวแบบของการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอีกครั้งที่ไม่ต้องใช้อำนาจรถถังบนถนน

แน่นอนว่าการขึ้นหรือลงจากอำนาจมีบทบาทของฝ่ายทหารอยู่เบื้องหลัง

ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทหารยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเมืองไทยหลังปี 2519 แต่ไม่ได้เป็นการแทรกแซงทางตรง ด้วยการใช้การยึดอำนาจเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

หากเปลี่ยนด้วยการกดดันหลังฉาก ซึ่งอย่างน้อยต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประเพณีทางการเมืองใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้น ที่การเปลี่ยนตัวผู้นำสามารถกระทำได้ด้วยกระบวนการทางรัฐสภา

เมื่อ พล.อ.เปรมได้รับเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น แทบทุกคนดูจะเชื่อว่ารัฐบาลเปรมน่าจะมีอายุไม่นาน โดยเฉพาะ พล.อ.เปรมไม่ได้มีประสบการณ์มาก จึงแทบไม่มีใครเชื่อว่า การเมืองยุคเปรมจะยาวนานมากกว่า 8 ปี

เพราะหลังจากชัยชนะในเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษา ประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว มองไม่เห็นเลยว่าจะมีรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้นำจะสามารถอยู่ได้ยาวนานในการเมืองไทยได้อย่างไร… สองจอมพลก็ต้องออกจากประเทศไปตอนปี 2516 อีกหนึ่งพลเอกที่อยู่กับการเมืองไทยมาพอสมควรก็ต้องลาออกจากสภาไปตอนปี 2523

แล้วพลเอกคนใหม่จะอยู่ได้นานเท่าใด?

แต่ พล.อ.เปรมก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่เป็นรัฐบาลของผู้นำทหารในระบบรัฐสภาและอยู่ได้นาน… นานกว่าที่หลายคนคิด

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผู้นำทหารในอดีตแล้ว เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนานถึงสองช่วงคือ ระบอบพิบูล 1 (16 ธันวาคม 2481-24 กรกฎาคม 2487) และระบอบพิบูล 2 (8 เมษายน 2491-16 กันยายน 2500) แทบจะกล่าวได้ว่าในการเมืองไทยยุคใหม่แล้ว โอกาสที่จะมีผู้นำทหารสามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้นานเช่นระบอบพิบูลนั้น เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายแล้วระบอบพิบูลก็จบลงด้วยการถูกรัฐประหาร

นอกจากนี้เราคงต้องไม่ลืมว่ายุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้จะเป็นสมัยของรัฐบาลทหารที่เข้มแข็ง และเป็นตัวอย่างของ “ระบอบทหารเต็มรูป” ที่มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการเมืองไทย แต่ระบอบนี้ก็ไม่มีอายุยาวมากนัก (20 ตุลาคม 2501-8 ธันวาคม 2506) อันเป็นผลจากปัญหาสุขภาพของตัวผู้นำ

ในกรณีของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ดูจะมีอายุยาวกว่า และมีอำนาจอย่างมาก แต่ก็จบลงด้วยการถูกโค่นจากพลังของนักศึกษาประชาชน (9 ธันวาคม 2506-14 ตุลาคม 2516)…

ระบอบทหารที่มีอายุยาวจบลงสองแบบคือ ถูกทหารไล่ หรือถูกประชาชนไล่

สามจอมพล-สามพลเอก

หากเปรียบเทียบ พล.อ.เปรมกับระบอบทหารของ “สามจอมพล” แล้ว จะเห็นได้ว่า จอมพล ป.ถูกรัฐประหารและโดนเนรเทศจนไปเสียชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น

จอมพลสฤษดิ์ป่วยเสียชีวิตในตำแหน่ง พร้อมกับทิ้งปัญหาใหญ่ไว้ในการเมืองไทยคือ “การคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ของผู้นำทหาร”

ในยุคต่อมาจอมพลถนอมถูกโค่นจากพลังประชาชนและต้องใช้ชีวิตในต่างประเทศ และการกลับเข้าประเทศไทยนำไปสู่เหตุการณ์ “นองเลือด” ครั้งใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519…

ชีวิตในทางการเมืองของ “จอมพล” ทั้งสามจบในแบบไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลย!

น่าสนใจว่า พล.อ.เปรมก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการออกเสียงของรัฐสภา และตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองด้วยตัวเอง ดังคำตอบต่อข้อเรียกร้องของผู้สนับสนุนที่จะให้รับตำแหน่งต่อ แต่ พล.อ.เปรมได้กล่าวว่า “ขอขอบคุณ ได้ตัดสินใจแล้วว่า ผมขอพอ ไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี…”

ในสภาพเช่นนี้จึงน่าสนใจว่า พล.อ.เปรมก้าวลงจากตำแหน่งจากการตัดสินใจเอง ในขณะที่ผู้นำทหารอีกหลายคนไม่อยากลงจากตำแหน่ง… อยากสืบทอดอำนาจ แต่ก็ต้องจบด้วยการถูกยึดอำนาจหรือการถูกขับไล่

ดังจะเห็นได้ว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างมากในความเป็นผู้นำทหาร แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว กลับไม่ประสบความสำเร็จทางการเมืองเท่าที่ควร และอยู่ในตำแหน่งไม่นานนัก

ในที่สุด พล.อ.ชวลิตต้องยอมลาออกจากแรงกดดันของการเดินขบวนขับไล่รัฐบาล (25 พฤศจิกายน 2539-6 พฤศจิกายน 2540)

ในกรณีหลังสุดคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ถูกโค่นด้วยพลังประชาชนอีกครั้งในเหตุการณ์นองเลือด “พฤษภาคมทมิฬ” รัฐบาลของผู้นำทหารชุดนี้จึงมีอายุสั้นมาก (7 เมษายน 2535-18 พฤษภาคม 2535)

เมื่อการขึ้นและลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรมเป็นไปตามระบบรัฐสภา จึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ “สถานะทางการเมือง” ของ พล.อ.เปรมหลังการหมดตำแหน่ง ยังเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในสังคมไทย และแม้จะไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ “บารมี” (หรืออาจเรียกสิ่งนี้ในภาษาทหารว่า “อำนาจที่ไม่มีตัวตน”) ลดลง

ซึ่งด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะหลังจากออกจากทำเนียบรัฐบาลเพียงไม่นานนัก พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในวันที่ 23 สิงหาคม 2531

อีกหกวันถัดมา ในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 พล.อ.เปรมได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “รัฐบุรุษ”

และที่สำคัญในอีกสิบปีถัดมา วันที่ 4 กันยายน 2541 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.เปรมเป็น “ประธานองคมนตรี” อันเป็นการก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญสูงสุดอีกครั้งในชีวิตของนายทหารที่เป็นสามัญชนคนหนึ่ง

จนต้องยอมรับว่าเขาเป็นนายทหารที่ประสบความสำเร็จในการเมืองไทยสมัยใหม่อย่างมาก

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า เขาเป็นอดีตผู้นำทหารที่มีอิทธิพลในทางการเมืองไทยยุคใหม่อย่างมากด้วย

หากเปรียบเทียบสามจอมพลและสามพลเอก เห็นได้ชัดว่า พล.อ.เปรมเป็นผู้นำทหารคนเดียวที่ประสบความสำเร็จในทางการเมือง

ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรมเป็นผู้นำทหารคนเดียวที่สามารถจบบทบาทของตนเองได้อย่างแตกต่าง

แม้จะกล่าวว่าจอมพลสฤษดิ์จบลงด้วยการเสียชีวิต ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองที่เสียชีวิตในตำแหน่ง จอมพล ป.ถูกรัฐประหาร จอมพลถนอม และ พล.อ.สุจินดาถูกขับไล่ด้วยพลังประชาชน พล.อ.ชวลิตลงด้วยการชุมนุมของประชาชน

ลงจากหลังเสือ!

สามจอมพลและสามพลเอกที่เป็นนายกรัฐมนตรีมีวิถีของการยุติบทบาททางการเมืองที่แตกต่างกันไป แต่ต้องยอมรับว่าการประกาศไม่รับตำแหน่งของ พล.อ.เปรม เป็นจังหวะก้าวทางการเมืองที่ดีที่สุด ที่ไม่ต้องลงจากตำแหน่งด้วยการชุมนุมประท้วงของฝูงชน

การกำหนดจังหวะก้าวของผู้นำทางการเมืองมีความสำคัญต่ออนาคตของพวกเขาเสมอ เช่น ถ้าตัดสินใจถูกกับเวลาและถูกเงื่อนไขของสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว นายทหารท่านนั้นอาจกลายเป็นวีรบุรุษให้คนจดจำ และบ่งบอกถึงการกล้าที่จะตัดสินใจเดินออกจากเวทีการเมือง ก่อนที่เวทีนี้จะเต็มไปด้วยผู้ประท้วงที่พร้อมจะดาหน้าต่อต้าน และอาจจะต้องลงด้วยการถูกขับไล่

ฉะนั้น การตัดสินใจที่ลงเองหรือถูกไล่ลงนั้น อาจขึ้นอยู่กับเส้นเวลาบางๆ แต่อย่างที่เรารับทราบว่า ผู้นำทหารมักเชื่อมั่นใน “อำนาจปืน” ว่า กองทัพยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เสมอ หรือที่เปรียบเป็นสำนวนว่า ผู้นำทหารยัง “ขี่เสือ” ได้ และถ้าลงจากหลังเสือ ก็กลัวว่าจะถูก “เสือกัด”

เราอาจเห็นผู้นำทหารหลายคนที่ตัดสินใจเดินเข้าสู่ถนนสายการเมืองแล้ว กลับไม่ประสบความสำเร็จ และไม่ได้ทิ้งมรดกทางการเมืองอะไรที่มีนัยสำคัญ นอกจาก “มรดกบาป” บางประการไว้ให้คนรุ่นหลังวิจารณ์ไม่จบสิ้น

แต่ว่าที่จริงแล้วเราคงปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่า ในกรณีของ พล.อ.เปรมที่แม้จะมีเสียงสรรเสริญอย่างมาก แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบในหลายประเด็น

กระนั้นคงต้องยอมรับว่า ยุคเปรมเป็นมรดกชุดใหญ่ของผู้นำทหารในการเมืองไทยสมัยใหม่!