ทำไมคำว่า “คมนาคม” ถึงอ่านว่า [คะมะนาคม] ?

มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ ได้ลงพิมพ์จดหมายจากคณะครู แสดงความสงสัยว่า ทำไมคำว่า คมนาคม กับ สมดุล จึงกำหนดให้อ่านใหม่ว่า คะ-มะ-นา-คม กับ สะ-มะ-ดุน โดยเฉพาะคำหลังนี้เดิมเขียนว่า สมดุลย์ ใครเป็นคนแก้

อีกทั้งยังได้อ้างไปถึง ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ที่เคยให้ความเห็นไว้ว่า “คำใดที่คนจำได้จนติดตา อ่านได้จนติดปากแล้ว ก็ไม่ควรแก้ไข เพราะภาษาเป็นเพียงสื่อความหมายให้คนเข้าใจกันเท่านั้น”

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” จึงขอค้นคว้าหาข้อมูลมาเสนอดังนี้

คมนาคม

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ เก็บคำไว้ว่า

คมนาคม [คะมะนาคม] น. ทางไปและทางมา, การติดต่อ. (ป. คมน + อาคม)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เก็บคำไว้ว่า

คมน-, คมน์ [คะมะนะ-, คมมะนะ-, คม] (แบบ) น. การไป, การถึง, มักใช้ประสมกับคําอื่นเช่น สรณคมน์ คมนาการ. (ป.). คมนาการ [คะมะนากาน, คมมะนากาน] น. การไป, การถึง. (ป. คมน + อาการ). คมนาคม [คะมะนาคม, คมมะนาคม] น. การติดต่อไปมาถึงกัน, การสื่อสาร; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการคมนาคม การขนส่ง การพาณิชยนาวี การสื่อสาร และการอุตุนิยมวิทยา. (ป. คมน + อาคม).

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ และฉบับปัจจุบัน คือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ก็ยังคงเก็บคำไว้เช่นเดียวกับฉบับ พ.ศ.๒๕๒๕

สมดุล

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ เก็บคำไว้ว่า

สม ๑ ว. เหมาะ, รับกัน, ร่วมด้วยกัน, รวมกัน

สม ๒ [สะมะ] น. ความสงบ, ความราบคาบ, (ป.)

สม ๓ [สะมะ] ว. เรียบ, เสมอ, เหมือนกัน, เท่ากัน, (ป.; ส.)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ และ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เก็บคำไว้คล้ายกันว่า

สม ๑ ว. เหมาะ, เหมาะกับ, ควรแก่, เช่น บ่าวสาวคู่นี้สมกัน เขาแต่งตัวสมฐานะ แสดงละครได้สมบทบาท เขาต่อสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี เด็กคนนี้แต่งตัวไม่สมวัย, รับกัน เช่น หัวแหวนสมกับเรือนแหวน; ตรงกับ เช่น สมคะเน สมปรารถนา สมความตั้งใจ. (ปาก) สมน้ำหน้า เช่น สมแล้วที่สอบตก เพราะขี้เกียจนัก.

สม ๒ ใช้ประกอบกับคำกริยาบางคำมีความหมายว่า ร่วมด้วยกัน รวมกัน เช่น สมคิด สมรู้.

สม- ๓ [สะมะ-, สมมะ-, สม-] ว. เท่ากัน, เสมอกัน.

สมดุล [สะมะดุน, สมดุน] ว. เสมอกัน, เท่ากัน. (อ. equilibrium).

จะเห็นได้ว่า คมนาคม ปรากฏเป็นครั้งแรกใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ และบอกเสียงอ่านไว้เพียงอย่างเดียวว่า [คะมะนาคม] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เริ่มระบุเสียงอ่านเป็น ๒ อย่าง คือ [คะมะ] กับ [คม] โดยเฉพาะ คมนาคม นั้น อ่านได้ ๒ แบบ คือ [คะมะนาคม, คมมะนาคม]

ส่วนคำ สมดุล นั้นปรากฏเป็นครั้งแรกใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ โดยระบุว่าอ่านได้ ๒ แบบ คือ [สะมะดุน, สมดุน]

แนวความคิดที่ทำให้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เริ่มบันทึกเสียงอ่านเป็น ๒ อย่างนั้น น่าจะมาจากการที่ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการใช้ภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถาน ได้มี บันทึกหลักเกณฑ์การอ่านออกเสียง ขึ้นมาฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๖ สรุปความได้ว่า การอ่านออกเสียงที่ควรถือเป็นมาตรฐานนั้นควรยึดหลัก ๒ ประการ คือ อ่านตามหลักในภาษาเดิม ซึ่งเรียกว่า อ่านตามมาตรฐาน และอ่านตามที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมอ่านกัน ซึ่งเรียกว่า อ่านตามความนิยม

เวลาสอนอ่าน ให้อ่านตามมาตรฐาน แต่ถ้าผู้อ่านต้องการอ่านตามความนิยมก็มิให้ถือว่าผิด

อนึ่งใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทุกฉบับ จะมี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ซึ่งจะยกเลิกประกาศฉบับก่อนหน้า แล้วให้ใช้ฉบับใหม่แทน ดังข้อความตอนหนึ่งในประกาศวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ว่า

“…ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ และต่อไปบรรดาหนังสือราชการ และการศึกษาเล่าเรียนให้ใช้ตัวสะกดตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เสมอไป หากกระทรวงทบวงกรมใดหรือบุคคลใดเห็นสมควรเปลี่ยนอักขรวิธีในคำใดแล้ว ให้ชี้แจงแสดงเหตุผลไปยังราชบัณฑิตยสถาน เมื่อราชบัณฑิตยสถานเห็นชอบด้วยและแก้ไขพจนานุกรมแล้ว จึงให้ใช้ได้ และให้ประกาศเพื่อทราบทั่วกัน”

จากหลักฐานที่ยกมาข้างต้น ก็คงจะพอตอบคำถามได้ว่า การอ่าน ๒ แบบมาจากไหน ใครกำหนด

ส่วนคำว่าสมดุลย์นั้น ไม่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน