โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/’พระปิดตา’หลวงปู่เฮี้ยง พิมพ์ 6 เหลี่ยมหลังตะแกรง วัดอรัญญิกาวาส จ.ชลบุรี

หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

‘พระปิดตา’หลวงปู่เฮี้ยง

พิมพ์ 6 เหลี่ยมหลังตะแกรง

วัดอรัญญิกาวาส จ.ชลบุรี

“พระวรพรตปัญญาจารย์” หรือ “หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเมืองชล ผู้ได้รับสืบทอดตำราการสร้างพระปิดตาทั้งเนื้อผง และเนื้อผงคลุกรัก จากพระเกจิอาจารย์ดังหลายรูปของเมืองชล

สำหรับพระปิดตานั้น สร้างในปี พ.ศ.2495 พิมพ์ที่สร้างพระปิดตาในปีดังกล่าว อาทิ พิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง พิมพ์เม็ดบัว พิมพ์สะดือเล็ก พิมพ์หลังอิติ เป็นต้น

ในครั้งนั้น ยังเป็นเจ้าอาวาส สร้างพระเครื่องไว้หลายอย่าง และในปี พ.ศ.2495 ดำริที่จะสร้างพระปิดตาขึ้น จึงรวบรวมพระเนื้อผงเก่าๆ ที่หักชำรุดและมีคนมาถวายไว้ อีกทั้งยังขอผงพุทธคุณหลวงพ่อแก้วที่วัดเครือวัลย์เก็บรักษาไว้มาบางส่วน รวมทั้งผงพุทธคุณของหลวงพ่อเจียม วัดกำแพง, ผงพุทธคุณของหลวงพ่อโต วัดเนินสุธาวาส, ผงพุทธคุณของหลวงปู่ภู่ วัดนอก เป็นต้น

ผงพุทธคุณเหล่านี้ แต่ละวัดเก็บรักษาไว้และนำมาถวายให้นำมาผสมเป็นมวลสารสร้างพระ

พระปิดตาพิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรงสร้างเป็นพิมพ์ที่สอง ต่อจากพระพิมพ์เม็ดบัว คือขยายปีกให้ใหญ่ขึ้น ด้านหลังใช้ตะแกรงรองแม่พิมพ์ จึงเป็นที่มาชื่อพิมพ์หลังตะแกรง

ชุดนี้จัดสร้างขึ้นจำนวน 1,000 องค์เศษๆ และมีจัดทำเป็นชุดพิเศษ อีก 108 องค์ ตามความประสงค์ของหลวงปู่เฮี้ยง โดยจัดสร้างต่อเนื่องกัน มีความแตกต่างกันตรงที่การผสมเนื้อมวลสารของพระพิมพ์ เป็นการผสมผงพุทธคุณของเกจิอาจารย์ที่โด่งดังต่างๆ มากมาย โดยมีปูนเปลือกหอยเป็นส่วนผสมหลัก ครั้งแรกใช้ปูนร้อยละ 60 ส่วนในชุดพิเศษ ลดน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ 45 เนื้อมีความเหนียวนุ่มมากขึ้น

เป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นหนึ่งที่หาได้ยากยิ่ง และราคานับวันจะสูงขึ้น

พระปิดตา-หลวงปู่เฮี้ยง พิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง

 

มีนามเดิมว่ากิมเฮี้ยง นาคไพบูลย์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรุณยวธนิชย์) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2441 เวลา 17.45 น. ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีจอ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี บิดาชื่อเร่งเซ็ง

เป็นคนเชื้อสายจีน มารดาชื่อผัน มีพี่-น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2

เมื่อเจริญวัยอายุประมาณ 9-10 ขวบ มารดาพาไปฝากเรียนหนังสือกับพระวินัยธรเส็ง เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แดง (วัดราษฎร์สโมสร) ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี

เมื่อพระวินัยธรเส็งมรณภาพลง จึงเลิกเรียน และกลับไปอยู่บ้านช่วยเหลือบิดา-มารดาประกอบอาชีพตามวิสัยที่พึงกระทำได้

ในปี พ.ศ.2464 เมื่ออายุ 23 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2464 เวลา 14.00 น. มีพระเขมทัสสีชลธีสมานคุณ วัดเขาบางทราย ต.บางทราย อ.เมือง จ.ชลบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธรเภา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดชื่น ธัมมสาโร วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่าปุณณัจฉันโท มีความหมายว่า ผู้มีความพอใจอันเต็มเปี่ยม

 

พํานักจำพรรษามาโดยตลอด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3

มีความสนใจด้านวิทยาคม ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดงหรือพระครูธรรมสารอภินันท์ วัดใหญ่อินทาราม (วัดหลวง) ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี ยอดพระเกจิอาจารย์ชาวเขมรจากพระตะบอง ที่มาพำนักจำพรรษาเวลายาวนานถึง 53 ปี

ทุ่มเทพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและถาวรวัตถุเสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง นับได้ว่าวัดป่าหรือวัดอรัญญิกาวาสแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองด้วยอำนาจบารมีแห่งวัตถุมงคล พระเครื่องต่างๆ ที่สร้างสรรค์ ทุกรุ่นเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณเมตตามหานิยม เป็นที่ปรารถนาของเซียนพระเครื่อง ด้วยอำนาจความเข้มขลังที่เป็นอมตะแห่งผงเก่าของยอดพระเกจิอาจารย์ชาวบางปลาสร้อยในอดีต อาทิ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์, หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง

ทุกรุ่นทุกพิมพ์ถูกเช่าบูชาไปจากตลาดพระเครื่องอย่างรวดเร็ว

เริ่มสร้างวัตถุมงคลครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ.2484-2486 โดยมีพระใบฎีกาแฟ้ม อภิรโต เป็นผู้ดำเนินการสร้างทั้งสิ้น โดยใช้ผงต่างๆ ของหลวงพ่อแก้วและหลวงพ่อเจียมเป็นส่วนผสมและทำการปลุกเสกอธิษฐานจิต

 

ลําดับงานปกครอง พ.ศ.2467 เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า)

พ.ศ.2483 เป็นเจ้าคณะแขวงบางละมุง และเป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต

พ.ศ.2486 เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมชั้นตรี ในสนามหลวง

พ.ศ.2496 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอชลบุรี

พ.ศ.2507 รักษาการเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี-ฉะเชิงเทรา

พ.ศ.2509 เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเขาบางทราย จ.ชลบุรี

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2473 เป็นพระครูสังฆรักษ์ ฐานานุกรมของเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี

พ.ศ.2479 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวรพรตศีลขันธ์

พ.ศ.2498 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวรพรตปัญญาจารย์ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ

เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้การอุปสมบทกุลบุตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 สนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรและชาวบ้านในชุมชน ด้วยการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลและโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นภายในวัดอรัญญิกาวาส

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2511 เวลา 19.50 น. ที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี

สิริอายุ 70 ปี พรรษา 47