ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : สาส์นสมเด็จ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงประชวรอยู่บ่อยครั้ง โดยทรงมีพระวินิจฉัยว่า อาการประชวรนั้นเกี่ยวกับการประทับอยู่ที่วังท่าพระ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ข้างพระบรมมหาราชวัง

จึงทรงมีพระดำริที่ประทับนอกเมืองเป็นครั้งคราว โดยได้สร้างพระตำหนักปลายเนินที่ย่านคลองเตยขึ้นมา

หลังจากที่พระตำหนักแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2457 กรมพระยานริศฯ ก็เสด็จไปประทับที่นั่นอยู่เรื่อยๆ

จนกระทั่งในช่วงปลายพระชนม์ชีพของพระองค์ก็ประทับอยู่ที่พระตำหนักปลายเนินเป็นการถาวร

ส่วนที่วังท่าพระนั้น จะเสด็จไปประทับในช่วงหน้าหนาว หรือช่วงที่มีงานพระราชพิธีเท่านั้น

และก็เป็นเพราะการเสด็จไปประทับที่พระตำหนักปลายเนิน ซึ่งถือว่านอกเขตเมืองกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นนี่แหละครับ ที่ทำให้พระองค์ต้องทรงมีลายพระหัตถ์ คือจดหมาย เพื่อจะพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ การงาน หรือปรึกษาเรื่องความรู้เรื่องต่างๆ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

ต่อมาจดหมายโต้ตอบระหว่างกรมพระยานริศฯ และกรมพระยาดำรงฯ ได้ถูกทายาทของสมเด็จทั้ง 2 พระองค์ (แต่ทั้งหมดก็ไม่มีข้อมูลบ่งชัดว่าผู้มอบคือใครแน่?) มอบให้กับหอสมุดแห่งชาติ จากนั้นจึงค่อยถูกนำมาตีพิมพ์ลงในวารสารศิลปากรเป็นตอนๆ โดยเริ่มตั้งแต่ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2490 ในชื่อ “สาส์นสมเด็จ”

ข้อความอธิบาย ที่มีลักษณะเป็นกึ่งคำนำของสาส์นสมเด็จ ที่ถูกนำลงตีพิมพ์ในวารสารศิลปากรเป็นตอนแรกนั้น ระบุเอาไว้ว่า

“สาส์นสมเด็จคือลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงปรึกษาหารือ และโต้ตอบกันในข้อปัญหาต่างๆ อันเกี่ยวกับศิลปะ วรรณคดี โบราณคดี และประวัติศาสตร์ เริ่มแต่ พ.ศ.2470 ถึง พ.ศ.2486 ลายพระหัตถ์เหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทายาทของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้ง 2 พระองค์ ประทานให้เป็นสมบัติของชาติ กรมศิลปากรจะได้นำลายพระหัตถ์สาส์นสมเด็จลงในวารสารเป็นประจำตามลำดับ”

ที่จดหมายเหล่านี้มีถึงแค่ พ.ศ.2486 เป็นเพราะเรือน พ.ศ.ดังกล่าวเป็นปีที่กรมพระยาดำรงฯ สิ้นพระชนม์ ดังนั้น ต่อให้ใครจะอยากให้เขียนต่อแค่ไหนก็คงเป็นไปไม่ได้แน่

ส่วนที่ในข้อความระบุว่าจดหมายเหล่านี้ เริ่มแต่ พ.ศ.2470 เป็นเพราะในขณะนั้นยังไม่มีการค้นพบจดหมายฉบับที่เขียนระหว่าง พ.ศ.2457-2469 ซึ่งถูกค้นพบในภายหลัง และเพิ่งถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อองค์การค้าคุรุสภาได้ตีพิมพ์หนังสือชุดสาส์นสมเด็จเมื่อ พ.ศ.2505 เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติของกรมพระยาดำรงฯ เท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บรรดาจดหมายที่เขียนขึ้นก่อน พ.ศ.2470 ที่เพิ่งถูกค้นพบภายหลังนี้ มีจำนวนน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย เมื่อเทียบกับจดหมายที่เขียนขึ้นหลังปี พ.ศ.ดังกล่าว

 

แต่อันที่จริงแล้ว ปี พ.ศ.ที่เป็นหลักหมายสำคัญในกรณีของสาส์นสมเด็จไม่ใช่ พ.ศ.2470 หรอกนะครับ ที่ถูกต้องควรจะเป็น พ.ศ.2475 ต่างหาก

เพราะหากจะนับดูปริมาณจดหมายที่สมเด็จทั้ง 2 พระองค์นี้ทรงส่งถึงกันช่วงก่อนหน้า พ.ศ.2475 นั้น บางปีก็น้อยมากเสียจนใช้นิ้วนับหมดได้ในฝ่ามือเดียว

แต่หลังจาก พ.ศ.2475 โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น สมเด็จทั้งสองพระองค์นี้ก็ทรงหันมาส่งจดหมายถึงกันถี่เสียจนทำให้ไม่สามารถตีพิมพ์เอกสารชุดนี้ได้จบในเล่มเดียว แต่ต้องพิมพ์เป็นชุด แถมชุดหนึ่งยังมีหลายเล่มอีกต่างหาก

แน่นอนว่า เหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งย่อมเป็นเพราะกรมพระยาดำรงฯ ทรงลี้ภัยทางการเมือง โดยเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล และที่ตำหนักซินนามอนฮอลล์ ในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ตามลำดับ

ในขณะที่กรมพระยานริศฯ ยังทรงพำนักอยู่ที่เดิมคือพระตำหนักปลายเนิน ทำให้การสื่อสารระหว่างสมเด็จทั้ง 2 พระองค์ จำต้องพึ่งพาจดหมายเป็นหลัก

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ เรื่องราวที่สมเด็จทั้งสองพระองค์นี้ทรงสื่อสารถึงกันผ่านทางจดหมายนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ รวมถึงโบราณคดี

ซึ่งหัวข้อสนทนาเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของความเป็นไทย ในสายพระเนตรของสมเด็จทั้งสองนั่นแหละครับ

แต่อะไรต่างๆ นานาเหล่านี้ นอกจากที่จะหมายถึงความเป็นไทยแล้ว ยังหมายถึงความรุ่งเรืองของฝ่ายนิยมเจ้า เพราะความรู้ต่างๆ ในสาส์นสมเด็จนั้น ส่วนใหญ่เลยทีเดียวเป็นความรู้ที่ตกทอดกันอยู่เฉพาะในราชสำนัก

เช่น ความรู้ในพระราชพิธี หรือประเพณีต่างๆ วรรณกรรมเและภาษาเก่าแก่ ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ชั้นสูง ที่ประชาชนทั่วไปอย่าหมายจะได้ใฝ่ฝันถึง และอะไรต่างๆ อีกมาก

เอาเข้าจริงแล้ว ข้อความส่วนใหญ่สาส์นสมเด็จจึงได้สะท้อนให้เห็นถึงความโหยหาอดีตอันรุ่งเรืองของฝ่ายนิยมเจ้า (ซึ่งในกรณีนี้คือตัวเจ้าเองด้วยซ้ำ) ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเพิ่งถูกโค่นล้มไปเมื่อ พ.ศ.2475 นี่เอง

 

แน่นอนว่า ข้อมูลและพระวินิจฉัยต่างๆ ในสาส์นสมเด็จนั้นนับได้ว่าเป็นคลังสมบัติทางความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และงานช่างของสยาม

ดังที่ส่วนหนึ่งของข้อความในคำนำหนังสือชุดสาส์นสมเด็จ ฉบับองค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ได้กล่าวไว้ว่า

“ทรงโต้ตอบวิจารณ์ ประทานคำอธิบายในระหว่างสมเด็จทั้งสองพระองค์ เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปะ และอักษรศาสตร์ เป็นต้น…ลายพระหัตถ์ที่ทรงมีโต้ตอบระหว่างสมเด็จทั้งสองพระองค์นั้น จึงมีคุณค่าต่อนักศึกษาวิทยาการต่างๆ ดังกล่าวแล้วเป็นอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงช่วงเวลาที่มีการ “เลือก” ที่จะนำเอาจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จทั้ง 2 พระองค์มาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารศิลปากร ซึ่งก็คือ พ.ศ.2490 นั้นก็ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

เพราะช่วงเรือน พ.ศ.ดังกล่าว เป็นช่วงหลังจากสงครามโลกที่ 2 สงบลงเรียบร้อยแล้ว คำประกาศที่ว่า ประเทศไทยไม่ได้แพ้สงคราม มาพร้อมกับการกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งของฝ่ายนิยมเจ้า และภาวะอำนาจเสื่อมถอยลงของคณะราษฎร

น่าสนใจนะครับว่า ในขณะที่ข้อความกึ่งคำนำในสาส์นสมเด็จตอนแรกสุดที่ตีพิมพ์ลงวารสารศิลปากรนั้น อ้างว่าจดหมายพวกนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2470

แต่จดหมายฉบับที่ถูกนำมาตีพิมพ์แรกสุดนั้น กลับเลือกเอาจดหมายของกรมพระยาดำรงฯ ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2475 อันเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จทั้ง 2 พระองค์ฉบับแรกสุดในปีพุทธศักราชนั้น (เมื่อ พ.ศ.2475 ยังนับว่าวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่) มาลงตีพิมพ์เป็นฉบับแรก แทนที่จะเป็นจดหมายที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470

พูดง่ายๆ ว่าที่ทางต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่คณะราษฎรพยายามทำให้เป็นเรื่องของประชาชน กำลังถูกช่วงชิงกลับไปเป็นเรื่องของราชสำนัก และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในรั้วในวังอีกครั้ง

และก็ช่วงชิงได้สำเร็จเสียด้วย

 

การตีพิมพ์หนังสือชุดสาส์นสมเด็จโดยองค์การค้าคุรุสภาเมื่อ พ.ศ.2505 อันเป็นยุคสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ชูธงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี

และนี่ผมยังไม่ได้นับรวมถึงการตีพิมพ์ในครั้งหลังจากนั้นอีกด้วยนะครับ

นอกเหนือจากที่ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในสาส์นสมเด็จจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษาศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดีแล้ว ประวัติของการก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นอะไรที่เรียกว่า “สาส์นสมเด็จ” ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย นับตั้งแต่ยุคที่กรมพระยานริศฯ ทรงร่างจดหมายที่พระตำหนักปลายเนิน เพื่อส่งถึงกรมพระยาดำรงฯ เรื่อยมาจนถึงสมัยที่มีการทยอยตีพิมพ์ลงในวารสารศิลปากร

จนกระทั่งถูกรวบรวมตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชุดสาส์นสมเด็จในที่สุด