วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /แบ่งปันความรู้ เข้าสู่ยุค 5 G

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์       

แบ่งปันความรู้ เข้าสู่ยุค 5 G

 

ระหว่างโครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ปีต่อปี แต่ละกองบรรณาธิการประชุมกันว่าในปีนั้นจะทำโครงการอะไร ขณะที่ระหว่างเริ่มโครงการ มักมีรายการแทรกซ้อน

แต่ละโครงการมิได้เรียงเป็นลำดับก่อนหลัง เช่น “แบ่งปันความรู้” 9 มกราคม 2546 มีโครงการ “มติชน 25 ปี ระดมทุนซื้อหนังสือดีให้ 250 โรงเรียน” รวมทั้งโรงเรียนที่ถูกเผาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และห้องสมุดหลายหน่วยงาน อาทิ เรือนจำและทัณฑสถาน ห้องสมุดพระปริยัติธรรม 57 วัด มอบเงินให้แห่งละ 10,000 บาท จัดซื้อหนังสืออักษรเบรลล์ให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน 66 ศูนย์ เป็นเงินจำนวน 1 แสนบาท

เมื่อเกิดเหตุเผาโรงเรียน 20 โรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการได้ส่งเงินไปช่วยโรงเรียนละ 44,400 บาท พร้อมหนังสืออีกจำนวนหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 17 ล้านบาท มีนักเรียนประมาณ 1 แสนคนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

ปี 2550-2551 มีโครงการ “โรงเรียน I see Y” มติชน 30 ปี ระดมทุนเงิน หนังสือ อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน ครุภัณฑ์ ช่วยโรงเรียนที่ขาดแคลนและยากไร้ เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ (สมศ.) เป้าหมายเบื้องต้น 100 โรงเรียนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองจนสามารถผ่านการประเมินได้ ใช้งบประมาณกว่า 22 ล้านบาท

ปี 2551-2552 โครงการ “ตู้อักษรซ่อนปัญญา” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือที่ดีมีคุณภาพให้ห้องสมุดที่ขาดแคลน เน้นโรงเรียนที่เกณฑ์การศึกษาต่ำกว่ามาตรฐานซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพให้โรงเรียนกว่า 200 แห่ง ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท

ต่อมา โครงการ “34 ปี มติชนระดมทุนช่วยน้องฟื้นฟูห้องสมุดโรงเรียน” ด้วยเหตุเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ปลายปี 2553 พื้นที่ทั่วประเทศถูกน้ำท่วมอย่างหนัก โรงเรียนกว่า 4,000 แห่งได้รับผลกระทบ เป็นเหตุให้ห้องสมุดโรงเรียนเสียหายถึง 900 แห่ง ปี 2554 มติชนแบ่งปันความรู้จัดทำโครงการ “34 ปี มติชนระดมทุนช่วยน้องฟื้นฟูห้องสมุดโรงเรียน” จัดหาหนังสือและตู้หนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยดำเนินการช่วยเหลือโรงเรียนที่เดือดร้อนก่อนอย่างเร่งด่วน และดำเนินการต่อเนื่องจนจบโครงการทั้งหมด 473 โรง ใช้งบประมาณกว่า 19 ล้านบาท

ท้ายสุด แต่ยังไม่สุดท้าย ด้วยเป็นโครงการต่อเนื่องเชื่อมระหว่างแบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา คือการปลูกกล้าสัก ตะเคียน พะยูง และยางนา จำนวน 300 ต้น ของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสดที่เริ่มมาหลายปีแล้ว ปีนี้เป็นครั้งแรกจัดที่วัดเพลง อุโบสถสีชมพู ตำบลไทรม้า เช้าวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2563 เป็นวัดที่ 7 ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ข่าวสด จำกัด แจ้งมา

 

เช่นเดียวกับโครงการ “แบ่งปันความรู้” ของหนังสือพิมพ์มติชน นฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหารมติชน เจ้าของคอลัมน์ “แท็งก์ความคิด” หน้า 13 ทุกวันอาทิตย์ ผู้รับผิดชอบโครงการ “แบ่งปันความรู้” ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2560 สรุปโครการที่ดำเนินมาว่า

ปี 2560 เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนก้าวขึ้นสู่ปีที่ 40 ได้หยิบยก “ธีม” เศรษฐกิจและเทคโนโลยีขึ้นมาเผยแพร่ ด้วยเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงโลกและเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ทำให้ทุกองคาพยพต้องปรับตัวตาม

เริ่มต้นด้วยงานสัมมนา “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0” เพื่ออธิบายขยายความนโยบายของรัฐบาลที่ต้องปรับประเทศไทยเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศ “โรดแม็ป” ปักหมุดเทคโนโลยีระยะที่ 5 หรือ 5 G ปี 2561 หลังจากนั้นข่าวสารและเนื้อหาสาระของมติชนได้เกาะติดสถานการณ์และพัฒนาการเตรียมต้อนรับ 5 G ของประเทศไทยมาตลอด

เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มติชนจัดสัมมนาแนะนำเทคโนโลยี 5 G หัวข้อ “5 G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” นำข้อมูลข่าวสาร 5 G ซึ่งขณะนั้นนับว่าเป็นของใหม่มาเปรียบเทียบระหว่างเทคโนโลยียุค 4 G กับยุค 4 G ซึ่ง–

สั่งงานได้เร็วกว่า 4 G 10 เท่า / รับ-ส่งข้อมูลได้มากกว่า เพิ่มขึ้น 7 เท่าของ 4 G / รับรองการใช้งานในแต่ละพื้นที่มากกว่า คือ รับคนได้มากกว่า 4 G 10 เท่า หมายถึง หาก 4 G รับคนได้ 1 แสนคนต่อพื้นที่ 1 ตร.ก.ม. 5 G จะรับคนได้ 1 ล้านคน ต่อพื้นที่ 1 ตร.ก.ม. / ถ่ายโอนข้อมูลต่อวินาทีได้มากกว่า โดยถ่ายทอดข้อมูลเข้าเครื่องได้ 20 เท่าของ 4 G

ผลจากการมี 5 G ทำให้ประเทศพัฒนา และประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก ดังปรากฏ ณ วันนี้

 

จากนั้นมติชนจัดสัมมนาเรื่อง “ทำอย่างไรให้ 5 G เทคโนโลยีพลิกโลก เกิดขึ้นจริงในไทย” โจทย์ปัญหาว่า ไทยยังมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ 5 G เกิดขึ้นตามกำหนดเวลาให้ได้

ผลจากการสัมมนาทำให้ทราบว่า ภาครัฐและภาคประชาชนมีการบ้านต้องทำเพื่อให้ 5 G เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ

ภาครัฐ ต้องจัดการเกี่ยวกับคลื่นและขจัดกฎระเบียบที่เป็นปัญหา

ภาคเอกชน ต้องรับภาระในการลงทุนทั้งเรื่องคลื่น และสร้างโครงข่าย

ณ จุดนี้เอง ทำให้ทราบว่าภาคเอกชนเริ่มมีข้อจำกัดในการลงทุน เพราะเพิ่งทุ่มทุนสัมปทานคลื่น 4 G ยังผ่อนชำระไม่หมด ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง นานาชาติเริ่มประกาศแผนการใช้ 5 G และอีกหลายประเทศเริ่มใช้เทคโนโลยี 5 G หากไทยยังไม่ตื่นตัว หรือไม่มีความพร้อม อาจทำให้เสียโอกาส

ระหว่างนั้นการพัฒนา “ยูสเคส” เพื่อรองรับเทคโนโลยีเริ่มปรากฏให้เห็นในประเทศไทย ภาคเอกชนร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง สถาบันพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมา

 

เมื่อ “มติชน” ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 42 วันที่ 3 เมษายน 2562 ยังต่อเนื่องการสัมมนา 5 G มีการสาธิต “ยูสเคส” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับ 5 G ในชื่อ “5 G ปลุกไทยที่ 1 อาซียน”

มียูสเคสนำมาจัดแสดงจำนวนมาก อาทิ มิเตอร์อัจฉริยะ NB- IoT / Autonomous รถบังคับระยะไกล / อากาศยานไร้นักบินสำหรับการเกษตร / การส่งสัญญาณชีพแบบหลายพารามิเตอร์สำหรับการแพทย์แบบทางไกล / หุ่นยนต์ทำงานทางการแพทย์ / เทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือ VR / ระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียมราคาถูก สำหรับกระบวนการเพาะปลูกอ้อย / เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วย Cell Site + มือถือ / เครื่องวัด PM 2.5 / CU Smart POP Bus

หุ่นเจาะกระดูก เป็นต้น