มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส /อาคารฟาซาล

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

อาคารฟาซาล

 

ฉบับที่แล้ว มองบ้านมองเมือง พาไปมองย่านอารีย์ พหลโยธิน เลยมีคนสงสัย ถามถึงนายฟาซาล อารี กาติ้บ ที่มาของชื่อซอย

จึงขอขยายความเรื่องราวของนายฟาซาล อารี กาติ้บ คหบดีเชื้อสายอินเดีย ที่เล่าขานกันว่า ช่วงเวลาประมาณหลังปี พ.ศ.2479 นายฟาซาล อารี กาติ้บ และครอบครัว ได้ย้ายมาพำนักบนถนนที่เพิ่งตัดใหม่ ตรงสนามเป้า ใกล้กับบ้านราชครูพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นพระมหาราชครูวามเทพมุนี (หว่าง รังสิพราหมณกุล)

ถนนใหม่สายนี้ เริ่มจากจุดตัดของถนนพญาไท และถนนราชวิถี ปัจจุบันคือ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปถึงดอนเมือง ที่ตั้งสนามบินใหม่

ในตอนแรกถนนสายนี้ชื่อ ถนนประชาธิปัตย์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธิน ตามชื่อของ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

นายฟาซาล อารี กาติ้บ เป็นทายาทรุ่นที่สาม ตระกูลกาติ้บ ที่เริ่มจากนายอี แอม กาติ้บ พ่อค้าชาวอินเดียจากเมืองสุรัต รัฐคุชราต ที่อยู่ทางตะวันตกของอินเดีย อยู่เหนือเมืองมุมไบ

นายอีแอม กาติ้บ เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดร้านขายสินค้าจากต่างประเทศ บนถนนเจริญกรุง ตรงสี่แยกสะพานถ่าน เมื่อปี พ.ศ.2439

นายอี เเอม กาติ้บ สมรสกับ นางชม ซับยาบู ผู้มีเชื้อสายอินเดียเหมือนกัน จึงมีศักดิ์เป็นเขยผู้น้อง ของนายเอช อับดุลราฮิม เจ้าของเรือนไม้หลังใหญ่ ริมถนนพระรามสี่ ตรงข้ามสวนลุมพินี ที่ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์อย่างสวยงาม

ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารอับดุลราฮิม ของ กบข.

 

นายอี แอม กาติ้บ มีบุตรชายชื่อ นายเอ จี กาติ้บ ผู้เป็นกำลังช่วยดูแลธุรกิจให้ห้างกาติ้บเจริญก้าวหน้า และย้ายมาเปิดกิจการใหญ่โต เทียบได้กับห้างสรรพสินค้าในปัจจุบัน ในอาคารชื่อ ฟาซาล ที่มาจากนายฟาซาล อารี กาติ้บ ผู้เป็นหลานชาย

อาคารฟาซาล ตั้งอยู่เชิงสะพานช้างโรงสี ตรงหัวมุมถนนบำรุงเมือง และถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม ตรงข้ามกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นทำเลไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง เพื่อรองรับลูกค้า คือบรรดาเจ้านายฝ่ายใน ที่นิยมมาเลือกซื้อสินค้าประเภทน้ำหอม เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง จากยุโรป

ตัวอาคารสูงสามชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูน พื้นไม้ และหลังคาดาดฟ้า ผังพื้นอาคารด้านหน้าจะโค้งไปตามแนวถนน แบ่งเป็นห้าคูหาเท่ากัน และอีกหนึ่งคูหาที่เล็กกว่าที่ใช้เป็นทางเข้าอาคาร

รูปแบบอาคารเป็นแบบคลาสสิค ตกแต่งอย่างสวยงาม ด้วยปูนปั้นตรงเสาและหัวเสา กรอบหน้าต่างและประตู ระเบียง และกันสาด ราวระเบียงและช่องระบายอากาศเหนือประตู เป็นงานปูนเช่นกัน

ส่วนบานหน้าต่าง ทั้งกรอบและลูกฟักเกล็ดเป็นไม้ แบบโบราณ

 

อาคารหลังนี้ น่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2474 ตามที่ระบุไว้บนป้ายปูนปั้น 19 FAZAL BUILDING 31 ที่อยู่เหนือคูหากลาง ตรงราวระเบียงชั้นดาดฟ้า ส่วนใต้หน้าต่างชั้นสอง ของสามคูหากลาง มีป้ายปูนปั้น 18 E.M.KATIB 96 ๒๔ อี แอม กาติ้บ ๓๙ และอักษรฮินดู ที่น่าจะมีความหมายเดียวกัน

แม้ว่าขณะนี้ อาคารร้างการใช้สอย และอยู่ระหว่างการบูรณะ

แต่ด้วยทำเลที่ตั้ง ทำให้อาคารนี้โดดเด่น เห็นชัด โดยเฉพาะในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ที่ผ่านมา

จึงเชื่อว่า เมื่อการอนุรักษ์แล้วเสร็จ อาคารงดงามหลังนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายตาของกรุงเทพฯ ต่อไป