จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 9-15 ตุลาคม 2563

จดหมาย

 

0 อเมริกัน

2 ตุลาคม 2563

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี

เดินทางเยือนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย

และเยี่ยมชมบริษัทเรือธงสัญชาติอเมริกันในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3 แห่งในจังหวัดระยอง

โดยเน้นย้ำถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างสหรัฐและไทย

รวมถึงความมุ่งมั่นของอเมริกาในการขยายการค้าและการลงทุนในไทย

เอกอัครราชทูตดีซอมบรีและนางไฮดี้ กัลแลนท์ ผู้อำนวยการหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) เยี่ยมชมแบ็กซ์เตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง หนึ่งในบริษัทบริการด้านสุขภาพของสหรัฐ แห่งแรกๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย

รวมถึงการ์เดียน กลาส ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก

และฟอร์ด แมนูแฟคเจอริ่ง หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในไทย

ซึ่งทั้งสามธุรกิจล้วนเป็นบริษัทอเมริกันที่ดำเนินการอยู่ใน EEC

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตดีซอมบรีได้เน้นย้ำถึงบทบาทของบริษัทอเมริกันในการนำมาซึ่งกระบวนการการผลิตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ด้วยประสบการณ์ด้านธุรกิจในเอเชียกว่า 20 ปี เอกอัครราชทูตดีซอมบรีมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“หนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับผมคือการร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อดึงบริษัทและการลงทุนของสหรัฐเข้ามาในไทย ในขณะที่ทั่วโลกกำลังฟื้นตัวจากโรคระบาดใหญ่และบริษัททั้งหลายปรับตัวรับภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เราหวังว่านักลงทุนอเมริกันจะยกระดับการดำเนินงานที่มีอยู่ในไทย และบริษัทใหม่ๆ จะคว้าโอกาสนี้ย้ายฐานการลงทุนและห่วงโซ่อุปทานมาที่นี่”

บริษัทอเมริกันได้ลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐในไทย

และสหรัฐก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย

แม้การค้าระหว่างสหรัฐและไทยจะมีมูลค่ารวมถึง 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 แต่ยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก

“เรากำลังเดินหน้ายกระดับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญกับรัฐบาลไทย ทั้งภาคการเกษตร การสาธารณสุข พลังงาน เศรษฐกิจดิจิตอล ตลอดจนการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และเรายังทำงานกับรัฐบาลไทยเพื่อดึงดูดการลงทุนมายังอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-Curve) ใน EEC อีกด้วย” เอกอัครราชทูตดีซอมบรีกล่าว

ฝ่ายสื่อมวลชน และวัฒนธรรม

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

ตั้งใจลง “ข่าวแจก” จากสถานทูตสหรัฐชิ้นนี้

ด้วยเห็นใจ ที่ตอนนี้ “มะกัน”

ดูจะกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาของคนไทยจำนวนหนึ่ง

ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด

ว่า มะกันเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้คนรุ่นใหม่

มาเคลื่อนไหว “ปลดแอก”

สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยอยู่ขณะนี้

อ่านข่าว “แจก” ชิ้นนี้แล้ว

ไม่รู้ว่ามอง “มะกัน” ในทางที่ดีขึ้นหรือไม่

คือไม่ได้แค่เป็นท่อน้ำเลี้ยง ทำให้เด็กกระด้างกระเดื่องเท่านั้น

ยังสนับสนุนอีอีซีของลุงตู่ เต็มที่อีกด้วย–แฮ่ม

 

0 แอร์บูล

เรียน บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์ ที่รักและนับถือ

จดหมายฉบับนี้ ผมขอความกรุณาสื่อถึง ผบ.ทอ. ที่เพิ่งแกะห่อป้ายแดง ให้ผมด้วยว่า

อดีตช่างอาวุธประจำ บ.ขับไล่ ฝูงบิน ขับไล่ทิ้งระเบิด ที่ 13 กองบิน 1 ดอนเมือง ขอแสดงความยินดีกับท่านด้วย

ผมต้องเสียเวลาค้นหาพจนานุกรม หาคำว่า “แอร์บูล” แต่ไม่เจอ เพราะไม่มี

จึงจำหน่ายว่าเป็นต่างด้าว

และสงสัยต่อไปว่า ทำไมเตรียมทหาร พ.ศ.นั้น

จึงรับสมัคร ชาติไทย เชื้อชาติต่างด้าว และเข้ามาเรียน เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้บังคับบัญชา ตำรวจ ทหาร ของประเทศชาติ

ร.ต.ฉลวย ราหุล

 

สรุปรวดรัดไปนิดไหม

ที่ว่า ผบ.ทอ.ป้ายแดงเป็นต่างด้าว

ขออนุญาตอ้างข้อมูล “วาสนา นาน่วม” ผู้สื่อข่าวสายทหาร คนดัง

ถึงที่มาของชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ

แอร์บูล มาจากภาษาอังกฤษว่า AirBull

แปลว่า กระทิงอากาศ

คุณพ่อของ พล.อ.อ.แอร์บูล ที่เป็นทหารอากาศ ตั้งให้

โดยนำมาจากชื่อการฝึกร่วมทางอากาศของกองทัพอากาศไทยและสหรัฐอเมริกา ที่มีขึ้นเมื่อปี 2504

ซึ่งเป็นปีที่ พล.อ.อ.แอร์บูลเกิดพอดี

คุณพ่อประทับใจ

จึงนำมาตั้งชื่อลูกชาย เพื่อเป็นที่ระลึกในการฝึกนั้น

มิได้เป็นลูกครึ่ง หรือคนต่างด้าว อย่างที่ ร.ต.ฉลวย ราหุล ตั้งข้อสงสัย

ทราบแล้วเปลี่ยน!